กรมวิชาการเกษตร ขยายผลปุ๋ยชีวภาพและสารชีวภัณฑ์ สู่กลุ่มเกษตรกรปลูกผักอินทรีย์สร้างรายได้กว่า 6 แสนบาท/ปี

ศุกร์ ๑๐ มีนาคม ๒๐๒๓ ๑๔:๑๔
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า จากนโยบายนางสาว มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขับเคลื่อนการดำเนินการตามนโยบาย 3S (Standard - Safety - Sustainability) เพื่อความปลอดภัยทางอาหาร ความมั่นคงและมั่งคั่งของภาคเกษตรและอาหาร และ ความยั่งยืนของภาคการเกษตร โดยใช้นวัตกรรมปุ๋ยชีวภาพและชีวภัณฑ์ สนับสนุนส่งเสริมการผลิตระบบเกษตรอินทรีย์และเกษตรปลอดภัย (GAP) ตามนโยบายรัฐบาล กรมวิชาการเกษตรจึงเร่งขยายผลเทคโนโลยีปุ๋ยชีวภาพและชีวภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมของกรมวิชาการเกษตร ซึ่งเกษตรกรสามารถผลิตเลี้ยงขยายเพิ่มปริมาณเองได้ ช่วยทำให้เกษตรกรลดต้นทุนในการผลิตพืชอินทรีย์ เพิ่มรายได้ อีกทั้งยังไม่มีผลตกค้างทั้งในคน พืช ดิน จึงเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

นายชัยพิสิษฐ์ สอนศรี ประธานกลุ่มเกษตรอินทรีย์หมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า ต.บ้านซ่อง อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นหนึ่งในเกษตรกรที่เข้ารับการอบรมหลักสูตร "การผลิตและการใช้ปุ๋ยชีวภาพและชีวภัณฑ์ในการผลิตผักอินทรีย์" จาก ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ฉะเชิงเทรา ดำเนินการโดย ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรฉะเชิงเทรา กรมวิชาการเกษตร โดยอาชีพเดิมปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่น ผักบุ้ง ต้นหอม เมื่อประสบปัญหาการระบาดของศัตรูพืช ได้ซื้อสารชีวภัณฑ์ที่จำหน่ายเป็นการค้าเพื่อมาป้องกันกำจัด ทำให้ต้นทุนการผลิตสูง มีรายได้เฉลี่ย 390,000 บาทต่อปี ภายหลังจากเข้ารับการอบรมจึงได้หันมาปลูกผักแบบผสมผสานโดยใช้ปุ๋ยชีวภาพและชีวภัณฑ์ ของกรมวิชาการเกษตร ได้แก่ ปุ๋ยหมักเติมอากาศ พีจีพีอาร์ แหนแดง ไส้เดือนฝอยสายพันธุ์ไทย แมลงหางหนีบ และเห็ดเรืองแสงสิรินรัศมี แล้วนำไปถ่ายทอดต่อให้สมาชิกในกลุ่มจำนวน 11 ราย ปัจจุบันได้รับรองมาตรฐาน Organic Thailand และรวมกลุ่มกับสมาชิกส่งผลผลิตให้กับร้านโกลเด้นเพลส และห้างสรรพสินค้าต่างๆ มีรายได้เฉลี่ย 650,000 บาทต่อปี

ปุ๋ยหมักเติมอากาศ เป็นกระบวนการผลิตปุ๋ยหมักรูปแบบหนึ่งที่เน้นการผสมรวมกันระหว่างวัสดุอินทรีย์ที่ให้คาร์บอนและไนโตรเจน จากซากพืช ซากสัตว์ และวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ใช้วิธีเติมอากาศแทนการกลับกองปุ๋ย เพื่อเร่งกระบวนการย่อยสลายวัสดุอินทรีย์ โดยจุลินทรีย์ธรรมชาติในกองปุ๋ย โรงปุ๋ยหมักเติมอากาศสามารถควบคุมปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพปุ๋ยในกระบวนการหมักได้ จึงทำให้ได้ปุ๋ยหมักที่สมบูรณ์ เมื่อย่อยสลายสมบูรณ์แล้ว ธาตุอาหารจะอยู่ในรูปที่พร้อมปลดปล่อยให้ต้นพืชได้ทันทีเช่นเดียวกับกับปุ๋ยเคมี เกษตรกรใช้ผสมดินปลูกอัตรา 1,000-2,000 กิโลกรัมต่อไร่ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์ เป็นปุ๋ยชีวภาพประกอบด้วยแบคทีเรีย ช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช เกษตรกรใช้ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์-1 ผสมดินก่อนปลูกอัตรา 1 กิโลกรัมต่อไร่ ช่วยทำให้เพิ่มปริมาณรากร้อยละ 20 ลดการใช้ปุ๋ยเคมีร้อยละ 25 และเพิ่มผลผลิตร้อยละ 20

แหนแดง เป็นเฟิร์นชนิดหนึ่งที่มีขนาดเล็ก เปรียบเสมือนโรงงานผลิตปุ๋ยไนโตรเจนทางชีวภาพ โดยผ่านกระบวนการ ตรึงไนโตรเจนจากอากาศของสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน ทำให้แหนแดงมีไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบสูง 3-5 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักแห้ง และสามารถนำมาใช้เป็นปุ๋ยพืชสดได้เป็นอย่างดี เกษตรกรจะใช้แหนแดงสดปริมาณ 800 กิโลกรัมต่อไร่ผสมดินก่อนปลูก

ไส้เดือนฝอยสายพันธุ์ไทย เป็นชีวภัณฑ์ที่มีศักยภาพในการกำจัดแมลงศัตรูพืชได้หลายชนิด มีความปลอดภัยต่อมนุษย์ พืช สัตว์ และสิ่งแวดล้อม มีคุณสมบัติทนร้อน โดยทนต่ออุณหภูมิได้ 35 องศาเซลเซียส ไส้เดือนฝอยทำให้แมลงตายโดยไส้เดือนฝอยจะมีเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เลือดแมลงเป็นพิษ หนอนที่ตายจะมีลำตัวสีดำไม่เละ เกษตรกรสามารถเลี้ยงเพิ่มปริมาณเองได้ ต้นทุนอาหาร 150-180 บาทต่อชุด 1 ชุดสามารถใช้ได้ในพื้นที่ 1 ไร่ เกษตรกรจะใช้เมื่อสำรวจพบศัตรูพืช เช่น หนอนใยผัก หนอนกระทู้ผัก

แมลงหางหนีบ แมลงหางหนีบเป็นตัวห้ำที่ใช้ควบคุมแมลงศัตรูพืชได้หลายชนิด เช่น หนอนกระทู้ผัก หนอนใยผัก และเพลี้ยอ่อน เป็นต้น เกษตรกรปล่อยอัตรา 1,000 ตัวต่อไร่เมื่อสำรวจพบเพลี้ยอ่อน หนอนใยผัก หรือหนอนกระทู้ผัก

เห็ดเรืองแสงสิรินรัศมี เกษตรกรใช้รองก้นหลุมก่อนปลูก อัตรา 10 กรัมต่อต้น เพื่อป้องกันกำจัดไส้เดือนฝอยที่ทำให้เกิดรากปม เห็ดเรืองแสงสามารถเจริญและสร้างสารในดินได้เป็นเวลานาน มีประสิทธิภาพสูง ทดแทนการใช้สารเคมีได้

"ปัจจุบันศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรฉะเชิงเทราได้จัดทำแปลงต้นแบบการผลิตพืชอินทรีย์ในพื้นที่เกษตรกรจำนวน 3 ราย โดยปลูกผักสลัดอินทรีย์ เปรียบเทียบ 2 กรรมวิธี คือ วิธีของกรมวิชาการเกษตรโดยใช้ปุ๋ยชีวภาพและชีวภัณฑ์ทั้ง 6 เทคโนโลยีดังกล่าวเปรียบเทียบกับวิธีเกษตรกร พบว่า วิธีของกรมวิชาการเกษตรให้ผลผลิตสูงกว่าวิธีเกษตรกรเฉลี่ย 232 กิโลกรัมต่อไร่ และมีต้นทุนน้อยกว่าเฉลี่ย 18,838 บาทต่อไร่ สามารถลดต้นทุนได้ร้อยละ 35.77 ทำให้มีรายได้สุทธิมากกว่าเฉลี่ย 37,398 บาทต่อไร่" เกษตรกรที่สนใจเทคโนโลยีดังกล่าวของกรมวิชาการเกษตร สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรฉะเชิงเทรา โทรศัพท์ 038 136 259" อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว

ที่มา: กรมวิชาการเกษตร

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐ ธ.ค. ASMT ผนึก TFT ร่วมลงนามด้านวิชาการด้านอุตสาหกรรมการบิน
๒๐ ธ.ค. กรมวิชาการเกษตร เดินหน้า ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตอะโวคาโดคุณภาพ สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรกว่า 2 แสนบาท/ไร่
๒๐ ธ.ค. Dow มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ Personal Care ควบคู่ความยั่งยืน ตอบโจทย์ผู้บริโภคตลาดเครื่องสำอางในภูมิภาคเอเชีย
๒๐ ธ.ค. โอซีซี มอบความรู้ พัฒนาอาชีพให้ผู้ต้องขังหญิง
๒๐ ธ.ค. ดร.นุชนารถ ชลคงคา นำทีมสถาบัน ESTC จัดอบรมให้ Karmakamet
๒๐ ธ.ค. กนภ. เห็นชอบร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลไกสำคัญสู่เส้นทางเศรษกิจคาร์บอนต่ำ และมีภูมิคุ้มกันฯ
๒๐ ธ.ค. WePlay x คอลแลบตัวละครสุดปัง! พบกับมินิเกมใหม่ และการ์ตูนสุดน่ารักที่คุณจะต้องหลงรัก
๒๐ ธ.ค. เดลต้า ประเทศไทย และ WEnergy Global ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อขับเคลื่อนอนาคตพลังงานสีเขียว
๒๐ ธ.ค. ความภาคภูมิใจของ ไลอ้อน กับ 3 รางวัลแห่งเกียรติยศ เผยผลงานโดดเด่นกับหลายรางวัลที่ได้รับในปี 2567
๒๐ ธ.ค. NOBLE คว้าเรทติ้งสูงสุด ระดับ AAA SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ยกระดับองค์กรสู่ความยั่งยืนภายในแนวคิด Live Different ตามกรอบ