ม.มหิดล คิดค้นกระบวนการดัดแปลงพื้นผิวโลหะเสริม "ซิลเวอร์นาโน" ยับยั้งเชื้อโรค

จันทร์ ๑๓ มีนาคม ๒๐๒๓ ๐๙:๒๗
ปัญหาการติดเชื้อในโรงพยาบาลของผู้ป่วยเป็นสาเหตุสำคัญลำดับต้นๆ ของการครองเตียงในโรงพยาบาลนานขึ้นและส่งผลให้มีการเพิ่มอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยจำนวนไม่น้อย ทั้งโรงพยาบาลในประเทศไทย และหลายประเทศทั่วโลก

โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรีย ปัจจัยหนึ่งที่เป็นสาเหตุของการแพร่กระจายเชื้อโรคต่อมาสู่ผู้ป่วย คือ การสะสมของเชื้อโรคบนอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ ที่อยู่รอบตัวผู้ป่วย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มัณฑนา จริยาบูรณ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เจ้าของผลงานนวัตกรรมกระบวนการดัดแปลงพื้นผิวโลหะเสริม"ซิลเวอร์นาโน" ยับยั้งเชื้อ "อีโคไล" และ "สแตปฟิโลคอคคัสออเรียส" ได้ด้วยตนเอง มีผลวิจัยเป็นที่ยอมรับจนได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติ และอนุสิทธิบัตร ดำเนินการโดย สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม(iNT) มหาวิทยาลัยมหิดล

จากการค้นคว้าร่วมกับนักวิจัยในห้องปฏิบัติการหน่วยวิจัยวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมพื้นผิว (Center for Surface Science and Engineering - SSE) คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล จนค้นพบนวัตกรรมใหม่ซึ่งสามารถเพิ่มคุณสมบัติการยับยั้งเชื้อ "อีโคไล" และ "สแตปฟิโลคอคคัสออเรียส" ในกระบวนการทำอโนไดซ์ (anodizing) ดัดแปลงพื้นผิวโลหะอลูมิเนียมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งาน โดยใส่อนุภาคซิลเวอร์นาโนซึ่งมีคุณสมบัติยับยั้งเชื้อโรคลงไปในขั้นตอนก่อนการปิดรูพรุนในชั้นฟิล์ม

จากการทดสอบประสิทธิภาพตามมาตรฐาน JIS Z 2801 พบว่า นวัตกรรมกระบวนการดัดแปลงพื้นผิวโลหะเสริม"ซิลเวอร์นาโน" ยับยั้งเชื้อโรคที่คิดค้นขึ้นดังกล่าว สามารถยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย "อีโคไล" และ "สแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส" ได้ถึง 100%

รวมทั้งสามารถขัดถูและทนต่อสารเคมีได้ดีเยี่ยม โดยที่ยังคงไว้ซึ่งประสิทธิภาพในการยับยั้งเชื้อ นวัตกรรมนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ที่ "จุดสัมผัสร่วม" ซึ่งเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคและบ่อยครั้งที่การทำความสะอาดอาจไม่ทั่วถึง อาทิ บริเวณแผ่นโลหะที่ติดอยู่บนบานประตูของโรงพยาบาล ลูกบิดกรอบประตู ฯลฯ

นอกจากนี้ ทางผู้วิจัยเตรียมผลิตเป็น "ถาดวางเครื่องมือแพทย์ยับยั้งเชื้อโรค" และต่อยอดให้มีคุณสมบัติที่สามารถยับยั้งเชื้อโรคที่พบบ่อยชนิดอื่นๆ อาทิ โรคไข้หวัดใหญ่ โรคมือเท้าปาก รวมทั้งโรค COVID-19 ได้ต่อไปในอนาคต

ทั้งนี้ ผลงานดังกล่าวเป็นเพียงจากการทดสอบในห้องปฏิบัติการ หากนำไปใช้จริงจะต้องมีการทดสอบการแพ้ และยื่นขออนุญาต สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก่อน

ซึ่งนอกจากสามารถใช้กับอุปกรณ์ทางการแพทย์ และสิ่งของต่างๆ ที่จำเป็นภายในโรงพยาบาลแล้ว ยังสามารถประยุกต์ใช้กับสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ซึ่งรวมถึง"เคสโทรศัพท์มือถือ" ตลอดจนในอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร และฟาร์มปศุสัตว์ เป็นต้น เพื่อลดการสะสมของเชื้อโรคได้ต่อไปอีกด้วย

อย่างไรก็ดี แม้ซิลเวอร์นาโนจะมีคุณสมบัติที่ดีในการยับยั้งเชื้อโรค และมีการนำไปประยุกต์ใช้กันอย่างแพร่หลายเช่นปัจจุบัน แต่ยังพบข้อกังวลในเรื่องผลกระทบจากการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม

ที่ผ่านมาแม้จะมีการใช้วัสดุจากธรรมชาติมาช่วยลดข้อจำกัดดังกล่าว แต่ยังพบให้ผลลัพธ์ได้ไม่เทียบเท่า จึงเป็นโจทย์ท้าทายที่รอคอยนักวิทยาศาสตร์มาทำให้เกิดความยั่งยืนต่อไป

ที่มา: มหาวิทยาลัยมหิดล

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๓๑ ม.ค. รู้จักโรคอ้วนดีแล้ว.จริงหรือ?
๓๑ ม.ค. บมจ.ไทยเซ็นทรัลเคมี ร่วมกับ MBK ส่งมอบปฏิทินในกิจกรรม ปฏิทินเก่ามีค่า เราขอ
๓๑ ม.ค. BSRC ออกหุ้นกู้รอบใหม่ 8,000 ล้านบาท ยอดจองเกินเป้า ตอกย้ำความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน
๓๑ ม.ค. คปภ. ร่วมสัมมนาประกันภัย ครั้งที่ 29 เตรียมรับมือความเสี่ยงอุบัติใหม่ พลิกโฉมธุรกิจประกันภัยสู่ความท้าทายในอนาคต
๓๑ ม.ค. มอบของขวัญให้กับครอบครัวของคุณช่วงวันหยุดพิเศษที่ สเตย์บริดจ์ สวีท แบงค็อก สุขุมวิท
๓๑ ม.ค. OR เปิดตัว CEO คนใหม่ หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ มุ่งผลักดันไทยสู่ Oil Hub แห่งภูมิภาค พร้อมขับเคลื่อนองค์กรด้วยดิจิทัล-นวัตกรรม
๓๑ ม.ค. เดลต้า ประเทศไทย คว้ารางวัล ASEAN's Top Corporate Brand ประจำปี 2567
๓๑ ม.ค. โรงแรมอลอฟท์ กรุงเทพ สุขุมวิท 11 พลิกโฉมใหม่ สุดโมเดิร์น! พร้อมเปิดตัว w xyz bar ตอกย้ำความสนุกในแบบฉบับ
๓๑ ม.ค. PAUL JOE เปิดตัว GLOSSY ROUGE ต้อนรับฤดูใบไม้ผลิ 2025
๓๑ ม.ค. บริษัท โกซอฟท์ (ประเทศไทย) ได้รับเกียรติบัตรศูนย์ รับเรื่องและแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคระดับดีเด่น จาก สคบ. และการรับรองมาตรฐาน ISO