PwC แนะผู้ประกอบการธนาคารปรับโครงสร้างพื้นฐานองค์กรเพื่อรองรับระบบนิเวศการชำระเงินแบบไร้เงินสด-ศึกษาเกณฑ์ virtual bank

อังคาร ๑๔ มีนาคม ๒๐๒๓ ๑๖:๑๕
บริการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ จะเป็นศูนย์กลางในการเปลี่ยนสู่ดิจิทัลของอุตสาหกรรมบริการทางการเงิน

PwC ชี้การอนุญาตให้จัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา จะเปิดให้มีการแข่งขันจากผู้เล่นหน้าใหม่ที่นำไปสู่การพัฒนาบริการทางการเงินของกลุ่มสถาบันการเงินไทย แนะผู้ประกอบการธนาคารปรับโครงสร้างพื้นฐานองค์กรเพื่อรองรับระบบนิเวศการชำระเงินแบบไร้เงินสด-ศึกษาเกณฑ์ virtual bank เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคดิจิทัล พร้อมคาดปริมาณการทำธุรกรรมแบบไร้เงินสดในเอเชียแปซิฟิกจะเติบโตรวดเร็วที่สุดในโลก โดยเพิ่มขึ้นถึง 109% ในช่วงปี 2563 ถึงปี 2568

นางสาว วิไลพร ทวีลาภพันทอง หัวหน้าสายงานธุรกิจที่ปรึกษา PwC ประเทศไทย และหัวหน้ากลุ่มธุรกิจบริการทางการเงินเชิงกลยุทธ์และการดำเนินงาน PwC South East Asia Consulting กล่าวว่า การมุ่งเน้นให้ผู้ใช้บริการเป็นศูนย์กลาง (Customer centricity) โดยไม่ต้องเสียเวลากับงานเอกสารและติดต่อพูดคุยกับเจ้าหน้าที่เป็นเวลานาน ๆ จะช่วยการใช้บริการธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual bank) ได้รับความนิยมอย่างมากเมื่อมีการออกใบอนุญาตให้จัดตั้งในประเทศไทย

"วันนี้ผู้บริโภคหันมายอมรับและปรับตัวกับการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ และใช้บริการหลายอย่างผ่านแอปพลิเคชันกันอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการโอนเงินด้วยมือถือ การสแกน QR code หรือจ่ายเงินผ่านระบบพร้อมเพย์ ฉะนั้น การมี virtual bank จะสามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ายุคดิจิทัลได้ตรงจุดและครบวงจรมากขึ้น ในขณะเดียวกัน ก็เป็นตัวกระตุ้นให้แบงก์พาณิชย์แบบดั้งเดิมต้องปรับตัวให้ทันด้วย" เธอ กล่าว

เมื่อเดือนมกราคม ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกประกาศเปิดรับฟังความเห็นต่อแนวทางการอนุญาตให้จัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาโดยคาดว่า จะสามารถออกหลักเกณฑ์ฯ เพื่อเปิดรับสมัครคำขอจัดตั้งได้ในปีนี้ และประกาศผลผู้ที่ได้รับความเห็นชอบจาก รมว. คลังได้ในปี 2567[1] ซึ่งในปัจจุบันมีผู้ประกอบการธนาคารและกลุ่มผู้ให้บริการที่มิใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) หลายรายแสดงความสนใจเป็นอย่างมาก

นางสาว วิไลพร กล่าวว่า ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา ถือเป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นแล้วโดยธนาคารกลางของหลาย ๆ ประเทศและอาณาเขตในทวีปเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นเกาหลีใต้ เขตบริหารพิเศษฮ่องกง สิงคโปร์ และมาเลเซีย มีการออกใบอนุญาตธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาแทบทั้งสิ้น นอกจากนี้ นวัตกรรรมทางการเงินใหม่ ๆ ผ่านช่องทางออนไลน์เพียงอย่างเดียว (Internet-only) โดยไม่ต้องมีสาขาของธนาคาร ตู้เอทีเอ็ม และเครื่องรับฝากและถอนเงินอัตโนมัติ (ซีดีเอ็ม) จะช่วยตอบโจทย์ภูมิทัศน์ใหม่ของไทยที่มีเป้าหมายในการสร้างนวัตกรรมด้วยเทคโนโลยีและข้อมูลเชิงลึกมากขึ้น 

"ในระยะต่อไป เราจะยิ่งเห็นความคึกคักของการเข้ามาของธุรกิจที่มิใช่สถาบันการเงิน การจับมือกับพาร์ทเนอร์ที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี และการให้บริการทางการเงินผ่านช่องทางดิจิทัลของแบงก์พาณิชย์เพื่อขอใบอนุญาต virtual bank โดยตัวอย่างของแบงก์ไร้สาขาในเอเชียที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก คือ KakaoBank ของประเทศเกาหลีใต้ ที่นำ virtual bank มาต่อยอดธุรกิจ chat platform ของตนโดยให้บริการทางการเงินผ่านมือถือตลอด 24 ชั่วโมงไม่ว่าจะเป็นการเปิดบัญชี เปิดบัตรเดบิต

ฝาก-ถอนเงิน โอนเงินไปต่างประเทศ ขอสินเชื่อ ออมเงิน และบริการอื่น ๆ ซึ่งดึงดูดผู้ใช้งานจำนวนมาก" เธอ กล่าว  

แนะผู้ประกอบการธนาคารปรับโครงสร้างพื้นฐานองค์กรเพื่อรองรับระบบนิเวศการชำระเงินแบบไร้เงินสดนางสาว วิไลพร กล่าวต่อว่า อุตสาหกรรมบริการทางการเงินของโลกกำลังอยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญหลังได้รับผลกระทบจากดิจิทัลดิสรัปชัน และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคสู่ดิจิทัลให้รวดเร็วขึ้นสามถึงห้าปี นำไปสู่การเติบโตอย่างรวดเร็วของบริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) และกลายเป็นหัวใจสำคัญที่ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมในครั้งนี้ 

สอดคล้องกับรายงาน 'Payments 2025 & beyond' ของ PwC และ Strategy& ที่คาดการณ์ว่า ปริมาณการชำระเงินแบบไร้เงินสดทั่วโลก (Global cashless transaction) จะเพิ่มขึ้นมากกว่า 80% จากปี 2563 ถึงปี 2568 หรือจาก 1 ล้านล้านธุรกรรมเป็นเกือบ 1.9 ล้านล้านธุรกรรม และจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเกือบสามเท่าภายในปี 2573 

"วันนี้ผู้บริโภคทั่วโลกหันมาใช้บริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์อย่างแพร่หลายจนเรียกได้ว่า หลาย ๆ ประเทศได้ก้าวเข้าสู่สังคมไร้เงินสดแทบจะเต็มรูปแบบไปเสียแล้ว ซึ่งแนวโน้มนี้ ก็จะยิ่งมีบทบาทสำคัญต่อการแปลงไปสู่ดิจิทัลของอุตสาหกรรมบริการทางการเงินของไทย ดังนั้น ถึงเวลาที่ธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมจะต้องพิจารณาว่า โครงสร้างพื้นฐานทั้งหมดขององค์กรนั้นได้ถูกปรับให้รองรับรูปแบบบริการชำระเงินที่จะถูกพลิกโฉม รวมถึงโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นตามมาแล้วหรือยัง" เธอ กล่าว

ปริมาณการชำระเงินแบบไร้เงินสดในเอเชียแปซิฟิกพุ่ง

ทั้งนี้ รายงานฉบับดังกล่าวยังคาดว่า ปริมาณการทำธุรกรรมแบบไร้เงินสดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะเติบโตรวดเร็วที่สุดในโลก โดยเพิ่มขึ้นถึง 109% ระหว่างช่วงปี 2563 ถึงปี 2568 และเพิ่มขึ้นอีก 76% จากปี 2568 ถึงปี 2573 ตามมาด้วยแอฟริกา (78%, 64%) ยุโรป (64%, 39%) ละตินอเมริกา (52%, 48%) และอเมริกาเหนือ (43%, 35%) ตามลำดับ

รายงานระบุว่า การเติบโตอย่างก้าวกระโดดนี้ ได้รับแรงสนับสนุนจากการขับเคลื่อนรูปแบบทางธุรกิจและนวัตกรรมรูปแบบใหม่ของหลาย ๆ ประเทศ เช่น ในสาธารณรัฐประชาชนจีนที่ได้พัฒนาซูเปอร์แอปอย่าง Alipay และ WeChat Pay ให้เป็นแพลตฟอร์มการชำระเงินออนไลน์ที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย เป็นต้น

คาดสภาวะการแข่งขันในภาคการเงินไทยเข้มข้น

นางสาว วิไลพร กล่าวว่า ผู้เล่นหลักในตลาดการชำระเงินแบบไร้เงินสดในช่วงสามถึงห้าปีนับจากนี้ จะถูกแบ่งเป็นกลุ่ม ๆ ประกอบไปด้วยกลุ่มธนาคาร กลุ่มแพลตฟอร์มการชำระเงินซึ่งให้บริการเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์สำหรับธุรกรรมระหว่างบุคคลกับบุคคล (P2P platform) (เช่น PayPal, PromptPay, Venmo และอื่น ๆ) กลุ่มผู้ให้บริการบัตรเครดิต กลุ่มผู้ให้บริการชำระเงินผ่านมือถือ (เช่น Apple Pay, Ali Pay และ Amazon Pay) และกลุ่มอื่น ๆ ในขณะเดียวกัน ก็จะเห็นการเติบโตของกลุ่มผู้ให้บริการที่เป็นนอนแบงก์ และกลุ่มผู้ให้บริการ P2P

สำหรับแนวโน้มการแข่งขันจากผู้เล่นรายใหม่ในตลาดบริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ จะทวีความรุนแรงตามการขยายตัวของตลาด หลังผู้เล่นที่เป็นนอนแบงก์เข้ามานำเสนอนวัตกรรรมทางการเงินแบบไร้สาขาเพิ่มมากขึ้น และจะขึ้นอยู่กับตัวเลือกในการชำระเงิน ซึ่งประกอบไปด้วย การจ่ายเงินสด การจ่ายผ่านบัตรเครดิตและบัตรเดบิต การจ่ายผ่านแพลตฟอร์ม P2P หรือการจ่ายผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล (Digital wallet) เป็นต้นนางสาว วิไลพร กล่าวเสริมว่า รูปแบบทางธุรกิจและขอบเขตการให้บริการในการจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาในอนาคตจะมีหลากหลายลักษณะ (เช่น เงินฝาก เงินกู้ ลงทุน และการชำระเงิน) ขึ้นอยู่กับผู้ให้บริการว่า ต้องการออกแบบบริการให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคอย่างไร ทั้งนี้ ผู้ประกอบการธนาคารและกลุ่มผู้ให้บริการที่เป็นนอนแบงก์ ควรนำแนวปฏิบัติห้าข้อที่สำคัญไปพิจารณาควบคู่กับการให้บริการ ดังต่อไปนี้ 

  1. ปรับปรุงเทคโนโลยีให้ทันสมัยและเพิ่มขีดความสามารถด้านเทคโนโลยี
  2. ส่งเสริมศักยภาพของนวัตกรรม
  3. นำเสนอบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ให้กับลูกค้า
  4. ลดต้นทุนในการดำเนินงาน
  5. ใช้ข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ

"อย่างที่กล่าวไปว่า การมีธนาคารไร้สาขา จะยิ่งช่วยตอบสนองความต้องการบริการทางการเงินที่ครอบคลุมและทั่วถึงขึ้น นอกเหนือไปจากนวัตกรรมและความร่วมมืออื่น ๆ ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและแพลตฟอร์มทางการเงินอย่างกระเป๋าเงินและสกุลเงินดิจิทัล แต่สิ่งสำคัญที่ผู้ให้บริการจะมองข้ามไม่ได้ คือ การบริหารความเสี่ยงอย่างเหมาะสม ปัญหาระบบล่ม และต้องมีระบบรักษาความปลอดภัยของข้อมูลเพื่ออุดช่วงโหว่อาชญากรรมทางไซเบอร์รูปแบบใหม่ ๆ ที่ย่อมจะเกิดมากขึ้นเป็นเงาตามตัวตามปริมาณธุรกรรมออนไลน์ที่เพิ่มขึ้น" นางสาว วิไลพร กล่าว

[1] ข่าว ธปท. ฉบับที่ 1/2566 เรื่อง ธปท. เปิดรับฟังความเห็นต่อแนวทางการอนุญาตให้จัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank)

ที่มา: PwC ประเทศไทย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version