ฟิทช์ปรับแนวโน้มอันดับเครดิต บมจ. ไออาร์พีซี เป็นลบ; คงอันดับเครดิตที่ 'A-(tha)'

พฤหัส ๑๖ มีนาคม ๒๐๒๓ ๑๖:๓๒
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC เป็นแนวโน้มเครดิตเป็นลบ จากแนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ ในขณะเดียวกัน ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาวของบริษัทฯ ที่ 'A-(tha)' และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ 'F2(tha)' นอกจากนี้ ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิ และอันดับเครดิตภายใน ประเทศระยะยาวของโครงการออกหุ้นกู้ (Medium-Term Debenture Program) มูลค่าหุ้นกู้รวมไม่เกินสี่หมื่นล้านบาท ที่ 'A-(tha)'

ในขณะเดียวกัน ฟิทช์ประกาศจัดอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวโครงการออกหุ้นกู้ (Medium-Term Debenture Program) ชุดใหม่ของ IRPC มูลค่าหุ้นกู้รวมไม่เกินสี่หมื่นสองพันล้านบาท ที่ระดับ 'A-(tha)' หุ้นกู้ที่ออกภายใต้โครงการดังกล่าวจะเป็นหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิ และจะได้รับการจัดอันดับเครดิตในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของบริษัทฯ เนื่องจากหุ้นกู้ดังกล่าวมีสถานะเท่าเทียมกับหนี้ไม่มีหลักประกัน และไม่ด้อยสิทธิของบริษัทฯ

แนวโน้มเครดิตเป็นลบ สะท้อนถึงความไม่แน่นอนที่อัตราส่วนหนี้สิน (ที่วัดจากอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA net leverage)) ของ IRPC ที่อาจยังคงอยู่ในระดับสูงกว่า 5.5 เท่า ในปี 2566 และหลังจากนั้น ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินดังกล่าวจะลดลงมาอยู่ที่ระดับประมาณ 5.5 เท่าในปี 2566 และลดลงต่อเนื่องในปี 2567 จาก 13.2 เท่าในปี 2565 เนื่องจากกระแสเงินสดที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนหนี้สินของ IRPC อาจยังคงอยู่ในระดับสูงกว่า 5.5 เท่าอย่างต่อเนื่อง หากอุปสงค์และส่วนต่างของราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีและผลิตภัณฑ์น้ำมัน ปรับตัวลดลงจากสภาวะเศรษกิจที่ชะลอตัวในปี 2566 และหลังจากนั้น ซึ่งอาจจำกัดการฟื้นตัวของรายได้อย่างมีนัยสำคัญและทำให้การลดลงของอัตราส่วนหนี้ของบริษัทฯ ล่าช้าลง

อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ IRPC ยังคงได้รับการปรับเพิ่มอันดับเครดิตขึ้นสองอันดับ จากสถานะเครดิตโดยลำพัง (Standalone Credit Profile) ของ IRPC ซึ่งสะท้อนถึงแนวโน้มที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. (มีอันดับเครดิตที่ AAA(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทฯ ที่มีอันดับเครดิตที่แข็งแกร่งกว่า จะให้การสนับสนุนแก่ IRPC

ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต
การลดลงของอัตราส่วนหนี้สินที่ยังคงมีความเสี่ยง: อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทฯ เพิ่มขึ้นมาอย่างมาก มาอยู่ที่ระดับ 13.2 เท่าในปี 2565 จาก 1.9 เท่าในปี 2564 เนื่องจากกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายที่ลดลงอย่างมาก จากขาดทุนจากการบริหารความเสี่ยงน้ำมันที่เกิดขึ้นจริง (Oil hedging losses) ที่สูง และหนี้ที่เพิ่มขึ้นจากความต้องการใช้เงินทุนหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทฯ จะลดลงไปอยู่ที่ประมาณ 5.5 เท่าในปี 2656 และ 4.4 เท่าในปี 2567 ซึ่งเป็นผลมาจากการกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ปรับตัวดีขึ้น แต่บริษัทฯ ยังคงเผชิญกับความเสี่ยงท่ามกลางความไม่แน่นอนของสภาพเศรษฐกิจ

กำไรที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น: ฟิทช์คาดว่ากำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของ IRPC น่าจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 1.1-1.2 หมื่นล้านบาทในปี 2566 จาก 5.1 พันล้านบาทในปี 2565 เนื่องจากไม่มีขาดทุนจากการบริหารความเสี่ยงน้ำมัน IRPC มีขาดทุนจากการบริหารความเสี่ยงน้ำมันที่เกิดขึ้นจริง สูงถึง 8.4 พันล้านบาทในปี 2565 เนื่องจากส่วนต่างระหว่างราคาน้ำมันดิบและราคาผลิตภัณฑ์น้ำมันที่เกิดขึ้นจริง อยู่สูงกว่าราคาที่ได้ทำประกันเอาไว้ บริษัทฯ ไม่มีการทำการบริหารความเสี่ยงน้ำมัน (Hedging exposure) เหลืออยู่ ณ สิ้นปี 2565 IRPC จะยังคงมีการทำการบริหารความเสี่ยงน้ำมัน ตามนโยบายของบริษัทฯ ในปี 2566 แต่ส่วนต่างระหว่างราคาน้ำมันดิบและราคาผลิตภัณฑ์น้ำมันที่ทำประกัน น่าจะอยู่ในระดับเดียวกันกับราคาตลาด ซึ่งน่าจะจำกัดไม่ให้เกิดการขาดทุนจากการบริหารความเสี่ยงน้ำมันที่เกิดขึ้นจริงที่สูง

นอกจากนี้ การใช้กำลังการกลั่นน้ำมันน่าจะเพิ่มในปี 2566 หลังจากการหยุดซ่อมบำรุงตามแผนของโรงกลั่นในปี 2565 ฟิทช์คาดว่าค่าการกลั่นน้ำมัน (ที่ใม่รวมกำไร/ขาดทุนจากมูลค่าสต๊อกน้ำมัน) น่าจะอ่อนตัวในปี 2566 แต่ยังคงอยู่ในระดับที่สูง และสูงกว่าระดับเฉลี่ยตลอดวัฏจักรของอุตสาหกรรม

ส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์เคมีที่ต่ำ: ฟิทช์คาดว่า ส่วนต่างระหว่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ ปิโตรเคมี จะยังคงมีความผันผวนในปี 2566 โดยส่วนต่างระหว่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี จะยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำและมีการฟื้นตัวเพียงเล็กน้อยจากในปี 2565 ฟิทช์คาดว่า สภาพเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวในปี 2566 น่าจะส่งผลกระทบต่อความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี แม้ว่าการเติบโตของเศรษฐกิจจีน หลังจากการผ่อนคลายความเข้มงวดของมาตรการโควิดเป็นศูนย์จะช่วยลดทอนความเสี่ยงลงได้บ้าง นอกจากนี้ กำลังการผลิตใหม่ในอุตสาหกรรมซึ่งจะมาจากประเทศในเอเชียเป็นส่วนใหญ่ น่าจะกดดันส่วนต่างระหว่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี ในขณะที่ ต้นทุนพลังงานมีแนวโน้มที่จะยังคงอยู่ในระดับสูง แม้ว่าจะอ่อนตัวลงบ้างจากปี 2565

การลงทุนที่มีความคล่องตัว: ฟิทช์คิดว่า IRPC มีความคล่องตัวในการบริหารค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุน (Capex) เนื่องจากการลงทุนในโครงการที่จำเป็นและได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างไปแล้ว (Committed project) เหลือเพียงโครงการปรับปรุงการผลิตเพื่อที่จะรองรับมาตรฐานน้ำมัน EURO5 หรือ UCF project โดยบริษัทฯ คาดว่าจะต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 6.7 พันล้านบาทในโครงการ UCF ในช่วงปี 2566-2567 IRPC มีค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุน 8.9 พันล้านบาทในปี 2565 ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ในช่วงต้นปีที่ประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท ฟิทช์คาดว่า IRPC น่าจะกลับมาลงทุนเพิ่มขึ้น หลังจากสถานะทางการเงินได้ปรับตัวดีขึ้นในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า เพื่อเพิ่มผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีประเภท Specialty ให้มากขึ้นในช่วง 5 ปีข้างหน้า ซึ่งบริษัทฯ อาจจะพิจารณาการร่วมทุน (Joint venture) และ/หรือ การเข้าซื้อกิจการ (Acquisition) เพื่อการนี้

การขยายเทอมการชำระเงินช่วยเสริมความคล่องตัวทางการเงิน: ฟิทช์มองว่าการขยายเทอมการค้าในการซื้อน้ำมันดิบกับ ปตท. ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทฯ นั้น จะช่วยเพิ่มความคล่องตัวทางการเงิน และเสริมสภาพคล่องให้กับ IRPC ในการบริหารจัดการอัตราส่วนหนี้สิน บริษัทฯ ได้มีการทยอยปรับลดเทอมการค้าฯ ลงเหลือประมาณ 60 วันโดยเฉลี่ยในปี 2565 จากประมาณ 90 วันในปี 2563 อย่างไรก็ตาม เทอมการค้าฯ 90 วันจากปตท. ได้มีต่ออายุไปอีกหนึ่งปีจนถึงสิ้นปี 2566 IRPC คาดว่าจะคงเทอมดังกล่าวไว้ที่ประมาณ 60 วันในปี 2566 แต่อาจจะเพิ่มขึ้นได้ถ้าจำเป็น เพื่อช่วยสนับสนุนการลดอัตราส่วนหนี้สินของบริษัทฯ

สถานะทางธุรกิจที่ดีขึ้น: ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนกำไรของ IRPC จะปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า เนื่องจากบริษัทฯ มีเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่มีมูลค่าเพิ่ม (High-value-added products) เป็นร้อยละ 52 ของปริมาณผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่ขายในปี 2568 (ปี 2565 อยู่ที่ร้อยละ 22) การเริ่มดำเนินการโครงการ polypropylene (PP) expansion และ PP inline compound รวมถึงโครงการเพิ่มกำลังการผลิต acrylonitrile butadiene styrene powder ตั้งแต่ปี 2564 น่าจะช่วยเพิ่มอัตราส่วนกำไรของบริษัทฯ เนื่องจากผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีส่วนต่างกำไรที่สูงกว่าผลิตภัณฑ์เกรดสินค้าโภคภัณฑ์ นอกจากนี้ IRPC ยังคาดว่าโครงการ UCF จะช่วยทำให้หน่วยการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ของโรงกลั่น (Upgrading units) เพิ่มขึ้น และกำไรของบริษัทฯ จะปรับตัวดีขึ้น หลังจากโครงการเริ่มดำเนินการในปี 2567

โรงกลั่นน้ำมันแบบครบวงจร: IRPC มีความได้เปรียบในการแข่งขันในฐานะบริษัทที่ดำเนินธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันและธุรกิจผลิตปิโตรเคมีแบบครบวงจรที่มีความชำนาญและมีประวัติอันยาวนานในประเทศไทย นอกจากนี้การลงทุนในช่วงที่ผ่านมาและแผนการลงทุนในอนาคตของ IRPC ยังนำไปสู่การผลิตปิโตรเคมีที่มากขึ้น ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีแบบครบวงจรจากต้นน้ำไปยังปลายน้ำมีข้อได้เปรียบด้านค่าใช้จ่าย ความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ และความผันผวนของรายได้ที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับผู้ผลิตที่ไม่ได้ผลิตแบบครบวงจร

ความผันผวนของธุรกิจและการมีฐานการผลิตเพียงแห่งเดียว: อันดับเครดิตของ IRPC ยังพิจารณารวมถึงปัจจัยเสี่ยงจากการที่บริษัทฯ ต้องเผชิญกับความผันผวนที่สูงของวัฏจักรของธุรกิจ และความเสี่ยงจากการมีฐานการผลิตเพียงแห่งเดียว ความผันผวนของราคาน้ำมัน ค่าการกลั่น ส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีกับต้นทุน และความต้องการเงินทุนหมุนเวียนที่สูง อาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อกำไร และกระแสเงินสดของบริษัทฯ

ความสัมพันธ์กับปตท.: อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ IRPC ได้มีการพิจารณารวมถึงการปรับเพิ่มอันดับเครดิตขึ้นสองอันดับจากสถานะเครดิตโดยลำพัง (Standalone Credit Profile) ของ IRPC ซึ่งอยู่ที่ 'bbb(tha)' ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงแรงจูงใจในการให้การสนับสนุนจากปตท. แก่ IRPC ในด้านความสำคัญทางกลยุทธ์ (Strategic incentive) และความสำคัญทางด้านดำเนินงาน (Operational incentive) ในระดับปานกลาง ตามหลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตของฟิทช์ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทแม่กับบริษัทลูก (Parent and Subsidiary Rating Linkage Methodology) เนื่องจากฟิทช์เชื่อว่าธุรกิจปิโตรเคมีและโรงกลั่น ซึ่ง IRPC เป็นหนึ่งในบริษัทหลักของธุรกิจนี้ มีความสำคัญต่อ ปตท.

IRPC เป็นผู้ดำเนินธุรกิจปิโตรเคมีหลักของ ปตท. ที่มุ่งเน้นทางด้านผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นปลาย (Downstream products) และใช้แนฟทาเป็นวัตถุดิบ นอกจากนี้ ความสำคัญยังเห็นได้จากการที่ ปตท. ได้ขยายเทอมการชำระเงินสำหรับการซื้อน้ำมันดิบให้กับ IRPC เพื่อช่วยรักษากระแสเงินสดและลดความต้องการใช้เงินกู้ในช่วงที่มีการลงทุนสูง ในขณะที่แรงจูงใจทางกฎหมาย (Legal incentive) อยู่ในระดับต่ำ

การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป
สถานะทางเครดิตโดยลำพังของ IRPC สะท้อนถึงการดำเนินธุรกิจที่ต่อเนื่องครบวงจรตั้งแต่การกลั่นน้ำมันไปจนถึงการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นปลาย อย่างไรก็ตามสถานะทางธุรกิจของ IRPC อยู่ในระดับปานกลางเมื่อเทียบกับบริษัทในธุรกิจการกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมีในประเทศไทยที่ฟิทช์จัดอันดับเครดิต ในขณะที่ IRPC มีอัตราส่วนหนี้สินที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับคู่แข่งดังกล่าว IRPC มีขนาดธุรกิจที่ใหญ่กว่าบริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ ESSO (ตั๋วแลกเงินอันดับเครดิตที่ F2(tha)/เครดิตพินิจภายใต้การพิจารณา (Rating Watch Evolving (RWE)) ในด้านกำลังการกลั่น รายได้ และกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย นอกจากนี้ IRPC ยังมีกำลังการผลิตปิโตรเคมีที่ใหญ่กว่า แต่ ESSO ประกอบธุรกิจสถานีบริการน้ำมัน IRPC มีอัตราส่วนกำไรที่ดีกว่า และมีอัตราส่วนหนี้สินที่ต่ำกว่า อย่างไรก็ตาม ฟิทช์มองว่าก่อนหน้านี้ ESSO มีความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทกับบริษัทแม่ที่มากกว่า IRPC แต่การประกาศการขายหุ้นของ Esso ทั้งหมดให้แก่บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งทำให้ฟิทช์นำอันดับเครดิตของ ESSO เข้าเครดิตพินิจภายใต้การพิจารณา ซึ่งสะท้อนความไม่แน่นอนจากการเปลี่ยนแปลงการถือหุ้น ที่อาจส่งผลกระทบต่อสถานะเครดิตของ ESSO

IRPC มีขนาดธุรกิจที่ใหญ่กว่า และมีธุรกิจปิโตรเคมีขั้นต้นและความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ ที่มากกว่าเมื่อเทียบกับบริษัท เอ็ชเอ็มซี โปลีเมอส์ จำกัด หรือ HMC (มีอันดับเครดิตที่ 'A-(tha)' แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ; สถานะทางเครดิตโดยลำพังที่ 'bbb+(tha)') อย่างไรก็ตาม HMC มีเทคโนโลยีด้านการผลิต และผลิตภัณฑ์ที่ก้าวหน้ากว่า IRPC และมีอัตราส่วนกำไรต่อรายได้ที่สูงกว่า IRPC แม้ว่าจะไม่พิจารณารวมธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน เนื่องจาก HMC มุ่งเน้นในผลิตภัณฑ์ที่มีความแตกต่างและมีลักษณะเฉพาะตัว HMC มีการใช้วัตถุดิบที่หลากหลายกว่า ทั้งจากก๊าซและแนฟทา ฟิทช์มองว่าบริษัททั้งสองมีสถานะทางธุรกิจที่ใกล้เคียงกัน แต่ HMC มีสถานะทางการเงินที่ที่แข็งแกร่งกว่า ดังนั้น HMC จึงมีอันดับเครดิตโดยลำพังสูงกว่าอันดับเครดิตโดยลำพังของ IRPC อยู่หนึ่งอันดับ

เมื่อเทียบกับบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP (มีอันดับเครดิตที่ A+(tha) แนวโน้มเครดิตเป็นลบ โดยมีสถานะทางเครดิตโดยลำพังที่ a-(tha)) IRPC มีโรงกลั่นน้ำมันที่คอมเพล็กซ์น้อยกว่าและมีขนาดธุรกิจที่เล็กกว่า แต่มีการผลิตปิโตรเคมีที่มากกว่า TOP มีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งกว่าและมีอัตราส่วนกำไรที่สูงกว่าในระยะยาว เนื่องจาก TOP สามารถดำเนินการกลั่นน้ำมันโดยใช้กำลังการผลิตที่เต็มที่มากกว่า ดังนั้นอันดับเครดิตของ IRPC จึงต่ำกว่าของ TOP แม้ว่าจะมีความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทกับบริษัทแม่ที่เหมือนกัน

IRPC มีขนาดธุรกิจและธุรกิจปิโตรเคมีที่เล็กกว่าบริษัท พีทีทีโกลบอลเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC (มีอันดับเครดิตที่ AA(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ โดยมีสถานะทางเครดิตโดยลำพังที่ a+ (tha)) มาก และยังมีอัตราส่วนหนี้สินที่สูงกว่าและมีอัตราส่วนกำไรที่ต่ำกว่า PTTGC

สมมติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ:

  • ราคาน้ำมันดิบ (เบรนท์) ที่ราคา 85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2566 , 65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2567, และ 53 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2568 เป็นต้นไป โดยมีการปรับปรุงด้วยส่วนต่างราคาน้ำมันตามการซื้อน้ำมันดิบของ IRPC
  • Gross integrated margins ที่ไม่รวมกำไร/ขาดทุนจากมูลค่าสต๊อกน้ำมัน ลดลงในปี 2566 และค่อยเพิ่มขึ้นในปี 2567
  • การใช้กำลังการกลั่นเพิ่มขึ้นในปี 2566 เนื่องจากไม่มีแผนการซ่อมบำรุง
  • ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนปีละ 7-8 พันล้านบาทในช่วง 2566-2567
  • เทอมการชำระเงินสำหรับการซื้อน้ำมันดิบจากปตท. 60 วัน ต่อเนื่องในปี 2566-2567 และค่อยๆ ลดลงเหลือ 30 วันภายในปี 2568

ปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยบวก:

  • แนวโน้มอันดับเครดิตอาจปรับกลับมาเป็นมีเสถียรภาพได้ หากบริษัทฯ สามารถลด EBITDA net leverage ลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่า 5.5 เท่าได้ภายในปี 2566 และต่อเนื่องหลังจากนั้น ในขณะที่แรงจูงใจในการให้การสนับสนุนจาก ปตท. ยังเหมือนเดิม

ปัจจัยลบ:

  • กระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ต่ำกว่าที่คาด การเพิ่มขึ้นของเงินลงทุนที่ใช้หนี้เป็นแหล่งเงินทุน หรือการจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นในระดับสูง อันเป็นผลให้อัตราส่วน EBITDA net leverage สูงกว่า 5.5 เท่าอย่างต่อเนื่อง
  • แรงจูงใจในการให้การสนับสนุนจาก ปตท. ที่ลดลง

สภาพคล่อง
สภาพคล่องที่จัดการได้: IRPC มีหนี้สินคงค้าง ณ สิ้นปี 2565 จำนวน 7.2 หมื่นล้านบาท โดยหนี้สินจำนวน 2.0 หมื่นล้านบาทจะครบกำหนดชำระคืนภายใน 12 เดือน ประกอบด้วยเงินกู้ยืมระยะสั้นจากสถาบันการเงินสำหรับใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนจำนวน 9 พันล้านบาท เงินกู้ระยะยาวที่ครบกำหนดชำระจำนวน 8.8 พันล้านบาท และหุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอนจำนวน 2 พันล้านบาท IRPC มีแผนที่จะออกหุ้นกู้ เพื่อใช้ชำระเงินกู้ระยะยาวที่ครบกำหนดชำระและหุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอนเหล่านี้ สภาพคล่องของ IRPC ได้รับการสนับสนุนจากเงินสดที่มีอยู่จำนวน 3.2 พันล้านบาท และวงเงินกู้ระยะสั้นที่สามารถเบิกกู้ได้จาก ปตท. จำนวนหนึ่งหมื่นล้านบาท IRPC ยังมีวงเงินสินเชื่อหมุนเวียนจากสถาบันการเงินที่ยังไม่ได้เบิกใช้แต่สามารถเพิกถอนได้ (Uncommitted working-capital facilities) จำนวน 8.7 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2565

ข้อมูลของบริษัท
IRPC เป็นผู้ดำเนินธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันและธุรกิจปิโตรเคมีแบบครบวงจรรายแรกของประเทศไทย โดยใหญ่เป็นอันดับที่สามของประเทศ ทั้งในธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันและธุรกิจปิโตรเคมี IRPC เป็นหนึ่งในผู้ดำเนินธุรกิจปิโตรเคมีหลักของ ปตท.

ที่มา: ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย)

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๙:๕๕ ดร.เอ้ สุดยอดผู้นำด้าน AI เชื่อมั่น รพ.พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร จะปฏิวัติการแพทย์ไทย ด้วย AI พร้อมความตั้งใจอันแน่วแน่
๐๙:๐๓ รมว.นฤมล ผลักดันกฎระเบียบว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป (EUDR)
๐๙:๑๖ เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ ร่วมกับ สภากาชาดไทย ชวนร่วมบริจาคโลหิต 26 ธันวาคมนี้ ชั้น 7 โซน A เพิ่มโลหิต เพิ่มชีวิต
๐๙:๔๗ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง จัดเต็ม!! ลงพื้นที่เร่งลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาส สร้างชีวิตแก่ชาวหนองคายอย่างยั่งยืน
๐๙:๕๕ มูลนิธิอายิโนะโมะโต๊ะ ส่งมอบอาคารโรงอาหารอายิโนะโมะโต๊ะ ให้แก่ โรงเรียนบ้านดอนมะกอก จังหวัดสุราษฎร์ธานี
๐๙:๐๕ กทม. เข้มงวดโครงการก่อสร้างคอนโดฯ ในซอยสุขุมวิท 93 ปฏิบัติตามมาตรการ EIA
๐๙:๕๐ การเคหะแห่งชาติตั้งเป้าสร้างที่อยู่อาศัยรองรับสังคมผู้สูงอายุ
๐๙:๒๘ ทำอย่างไรจึงจะทำให้มีการใช้ generative AI มากขึ้น
๐๙:๔๐ NocNoc จับมือ กฟผ. ส่งความสุขปีใหม่ให้คนรักบ้าน มอบส่วนลดสินค้าประหยัดไฟเบอร์ 5 สูงสุด 500 บาท เมื่อช้อปผ่าน NocNoc Chat Shop ทัก-ช้อป-ลด เริ่ม 25 ธ.ค. 67
๐๙:๑๔ Warrior ตั้ม ศุภกิตติ์ หรือ ตั้ม โทมัส ทอม จากทีมมาสเตอร์ ดร.อั้ม อธิชาติ คว้าชัย The Social Warrior คนแรกของประเทศไทย