นอกจากนี้ยังเห็นชอบแนวทางปรับการจัดสรรงบประมาณของหน่วยงานในระบบ ววน. โดยพิจารณาจากประสิทธิภาพและศักยภาพของบริหารและจัดการทุน และความชัดเจนและคุณภาพคำของบประมาณ โดยให้ความสำคัญกับโครงการต่อเนื่องที่มีข้อผูกพันสัญญา แผนงานสำคัญตามจุดมุ่งเน้นของนโยบายของแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) แผนงาน/โครงการเพื่อขับเคลื่อนงานตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 โครงการเพื่อขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตลอดจนความชัดเจนและคุณภาพคำของบประมาณที่พิจารณาการนำเสนอเส้นทางสู่ผลกระทบของงานวิจัย หรือการออกแบบแนวทางการสนับสนุนทุนและการขับเคลื่อนเที่เชื่อมโยงกับผลลัพธ์ผลกระทบตามเป้าประสงค์และผลสัมฤทธิ์ที่สำคัญของแผนงาน
ที่ประชุมยังรับทราบกลไกการดำเนินงานในการสนับสนุนเงินทุนจำนวน 50 ล้านบาท ให้กับวิสาหกิจเริ่มต้นหรือสตาร์ทอัพที่รับการลงทุนจากนักลงทุนสถาบัน ร่วมกับกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED Fund) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รวมถึงอนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมระหว่างปีงบประมาณ ประจำปี พ.ศ. 2566 สนับสนุนการผลิตนักวิจัยหลังปริญญาเอกจำนวน 79 ล้านบาท และอนุมัติการสนับสนุนงบประมาณผูกพันตามสัญญาทุนโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) จำนวน 56.12 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมผู้มีศักยภาพสูงให้เข้าสู่เส้นทางอาชีพและมีความก้าวหน้าในสายอาชีพนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์และนวัตกร
รศ. ดร.คมกฤต เล็กสกุล ผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจการพัฒนา ววน. ด้านกำลังคน และสถาบันความรู้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เผยว่า การผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศในปัจจุบันยังไม่ตอบโจทย์และตรงตามความต้องการของประเทศ แต่ด้วยงบประมาณที่จำกัดจึงเสนอจำนวนเป้าหมายการพัฒนาบุคลากรวิจัยและนวัตกรรมของประเทศไทย พ.ศ. 2566-2570 ดังนี้ สนับสนุนนักวิจัยเชิงวิชาการในเส้นอาชีพด้วยการผลิตบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม พร้อมกับพัฒนากำลังคนในระบบเดิม และพัฒนานักวิจัยขั้นแนวหน้า รวมทั้งนักวิจัยที่มีทักษะสูงตามความต้องการของประเทศทั้งในภาคอุดมศึกษา และภาคเอกชน
"จากการประเมินสถานการณ์แรงงานในปัจจุบัน พบว่ายังมีความต้องการบุคลากรวิจัยและพัฒนาในภาคเอกชนที่มีความสามารถพิเศษจำนวน 2,250 คน ภายในระยะเวลา 5 ปี จึงจำเป็นต้องเร่งพัฒนากำลังคนในภาคเอกชนให้มีทักษะหรือสมรรถนะสูงขึ้น เพราะอยู่ในสถานประกอบการโดยตรง และหากดึงนักวิจัยกลุ่มนี้เข้ามาเชื่อมโยงกับการระบบการพัฒนานักวิจัยในระบบ ววน. จะสามารถสร้างความเชื่อมโยงของหน่วยงานในระบบ ววน. กับภาคเอกชนได้" รศ. ดร.คมกฤตกล่าว
นอกจากนี้ที่ประชุมยังรับทราบแนวทางความร่วมมือกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เพื่อสนับสนุนและขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมเชิงระบบด้านความเสมอภาคทางการศึกษา ซึ่งจะทำให้เกิดการบูรณาการและเสริมศักยภาพด้านการวิจัยเพื่อตอบโจทย์สำคัญของการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ที่ระบุอย่างชัดเจนในการมุ่งเน้นการยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษา สร้างโอกาสเพื่อลดควาเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และปฏิรูประบบการศึกษาให้มีประสิทธิภาพ สามารถรองรับความหลากหลายของการจัดการศึกษาการพัฒนาของโลกอนาคต เรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต
ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม