ดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส ตอกย้ำผู้นำอุตสาหกรรมลอจิสติกส์ยั่งยืน ด้วยรถขนส่งพลังงานไฟฟ้า

จันทร์ ๒๐ มีนาคม ๒๐๒๓ ๐๙:๒๗
ดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส ผู้ให้บริการขนส่งด่วนระหว่างประเทศชั้นนำของโลก ขยายจำนวนยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ใช้ในการขนส่งในประเทศไทย โดยเพิ่มรถขนส่งพลังงานไฟฟ้าอีก 16 คัน ในการจัดส่งแบบลาสไมล์ นอกเหนือจากรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า 50 คันที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบัน การขยายจำนวนการใช้งานรถ EV ในครั้งนี้ทำให้ดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส เป็นผู้ให้บริการลอจิสติกส์รายแรกในประเทศไทยที่เปลี่ยนไปใช้รถ EV ในเชิงพาณิชย์อย่างเต็มรูปแบบ

รถขนส่งพลังงานไฟฟ้านี้เริ่มทำการขนส่งสินค้าในช่วงต้นเดือนมีนาคม 2566 โดยให้บริการในกรุงเทพฯ เขตพื้นที่ต่างๆ ได้แก่ สาทร, สีลม, ปทุมวัน, พระราม 3, ถนนสุขุมวิท, และถนนเพชรบุรีตัดใหม่ โดยดีเอชแอลมีแผนที่จะเพิ่มรถขนส่งพลังงานไฟฟ้าอีก 5 คันในเฟสถัดไป เพื่อใช้งานในเส้นทางภาคตะวันออก ซึ่งจะทำให้ดีเอชแอลมีรถ EV ที่ให้บริการทั้งหมดในประเทศไทยรวมจำนวน 71 คัน ภายในปี 2566 ทั้งนี้บริษัทฯ ตั้งเป้าที่จะเปลี่ยนมาใช้รถ EV เป็นจำนวน 60% ของยานพาหนะทั้งหมดในประเทศไทย ภายในปี 2573

เฮอร์เบิร์ต วงศ์ภูษณชัย กรรมการผู้จัดการ ดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส ประเทศไทย และหัวหน้าภาคพื้นอินโดจีน กล่าวว่า "ความยั่งยืนไม่ใช่เทรนด์ แต่เป็นภารกิจที่เราให้ความสำคัญมาเป็นอันดับหนึ่ง และดีเอชแอลมีแผนการดำเนินงานที่ชัดเจนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ในฐานะผู้นำอุตสาหกรรมลอจิสติกส์ระดับโลก เราจำเป็นต้องผลักดันให้ทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมร่วมมือกันเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในการดำเนินงานด้านลอจิสติกส์ และเรากำลังเดินหน้าสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิให้เหลือศูนย์ ภายในปี 2593 โดยให้ความสำคัญกับการเป็นกรีนลอจิสติกส์ ด้วยการเปลี่ยนไปใช้รถขนส่งพลังงานไฟฟ้า ดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส ประเทศไทย ตั้งเป้าที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งสิ้น 436 ตันต่อปี โดยรถขนส่งพลังงานไฟฟ้าชุดนี้นับเป็นก้าวสำคัญในการนำเราไปสู่ลอจิสติกส์ที่ยั่งยืน และการสร้างอนาคตที่เอื้อประโยชน์ให้แก่ทุกคน"

รถขนส่งพลังงานไฟฟ้ารุ่นใหม่นี้ใช้เวลา 8 ชั่วโมงในการชาร์จไฟจนเต็ม โดยจะรองรับการเดินทางได้ 260 กิโลเมตร บรรทุกของได้ถึง 3.9 ลูกบาศก์เมตร หรือ 1.6 ตัน รถแต่ละคันจะวิ่งขนส่งรวมระยะทาง 3,000 กิโลเมตรต่อเดือน โดยมีระบบเบรก ABS, ระบบล็อคอัตโนมัติ, สัญญาณเตือนโดยใช้เซ็นเซอร์, และระบบควบคุมการกระจายแรงเบรก (EBD) ซึ่งเป็นคุณสมบัติมาตรฐานที่สร้างความปลอดภัยในการขับขี่ให้กับพนักงานขนส่ง

สแลมล็อค (Slam Lock) เป็นระบบรักษาความปลอดภัยเสริม โดยจะล็อคประตูรถทุกบานโดยอัตโนมัติเมื่อผู้ขับรถปิดเพียงประตูเดียว ซึ่งจะช่วยเพิ่มความปลอดภัยเมื่อผู้ขับไม่ได้อยู่กับตัวรถ ระบบเทเลเมติกส์ที่ติดตั้งอยู่ในรถยนต์ไฟฟ้าทุกคันจะบันทึกข้อมูลจากกล้องด้านหน้า ด้านใน และด้านหลัง ทำให้สามารถตรวจสอบและแจ้งเตือนความปลอดภัยแบบเรียลไทม์เมื่อเกิดเหตุเกี่ยวกับรถและผู้ขับรถได้ทันที

ศิวเวศม์ หงษ์นคร รองประธานฝ่ายปฏิบัติการ ดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส ประเทศไทย กล่าวเสริมว่า "นับเป็นอีกก้าวที่สำคัญของเราในการเดินหน้าลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ทำให้กรีนลอจิสติกส์และอนาคตที่ยั่งยืนมีความหมายมากขึ้น ภายในปีนี้ รถขนส่งพลังงานไฟฟ้าสำหรับการขนส่งลาสไมล์ของดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส จะเพิ่มเป็น 29 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนยานพาหนะทั้งหมด และเราจะยังคงมุ่งมั่นดำเนินการอย่างต่อเนื่องในฐานะผู้บุกเบิกตลาดในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อสภาพภูมิอากาศที่ดีขึ้น"

ด้วยการใช้รถขนส่งพลังงานไฟฟ้า ดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส ประเทศไทย จะสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 436 ตันต่อปี ดีเอชแอลได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการใช้รถ EV รวมถึงการเพิ่มจุดชาร์จอัจฉริยะที่ศูนย์บริการเพื่อรองรับปริมาณรถ EV ที่จะเพิ่มขึ้นในปีนี้

ความริเริ่มนี้เป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายระดับโลกของกลุ่มบริษัทด๊อยช์โพสต์ ดีเอชแอลที่จะใช้ยานยนต์ไฟฟ้า 60% เพื่อการขนส่งลาสไมล์ภายในปี 2573 นอกจากการเปลี่ยนผ่านในการใช้รถ EV แล้ว บริษัทยังสร้างการขนส่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงการตั้งเป้าผสมผสานการใช้เชื้อเพลิงยั่งยืนในการขนส่งด้วยเครื่องบิน (Sustainable Aviation Fuels) ให้ได้มากกว่า 30 เปอร์เซนต์ ภายในปี 2573, การออกแบบอาคารที่ลดคาร์บอน และนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น บริการ GoGreen Plus ที่ดีเอชแอลเพิ่งเปิดตัวไปเมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อช่วยลูกค้าในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

เพื่อให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ด้านความยั่งยืน กลุ่มบริษัทด๊อยช์โพสต์ ดีเอชแอลจะลงทุนเป็นจำนวน 7 พันล้านยูโร ในด้านมาตรการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จนถึงปี 2566 ซึ่งรวมถึงการเพิ่มจำนวนรถ EV ทั้งนี้ ดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส วางแผนที่จะใช้รถ EV มากกว่า 1,000 คันในเอเชียแปซิฟิกภายในปี 2567

การขยายไปสู่การใช้รถขนส่งพลังงานไฟฟ้าในครั้งนี้ของดีเอชแอล ได้สอดคล้องกับนโยบาย 30@30 ของประเทศไทย ซึ่งมีเป้าหมายในการทำให้รถยนต์ 30% ในประเทศเป็นรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (ZEV) ภายในปี 2573 โดยประเทศไทยมุ่งมั่นที่จะพัฒนาไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนยานยนต์ในภูมิภาคอาเซียน

ที่มา: ดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส ประเทศไทย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐ ธ.ค. ASMT ผนึก TFT ร่วมลงนามด้านวิชาการด้านอุตสาหกรรมการบิน
๒๐ ธ.ค. กรมวิชาการเกษตร เดินหน้า ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตอะโวคาโดคุณภาพ สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรกว่า 2 แสนบาท/ไร่
๒๐ ธ.ค. Dow มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ Personal Care ควบคู่ความยั่งยืน ตอบโจทย์ผู้บริโภคตลาดเครื่องสำอางในภูมิภาคเอเชีย
๒๐ ธ.ค. โอซีซี มอบความรู้ พัฒนาอาชีพให้ผู้ต้องขังหญิง
๒๐ ธ.ค. ดร.นุชนารถ ชลคงคา นำทีมสถาบัน ESTC จัดอบรมให้ Karmakamet
๒๐ ธ.ค. กนภ. เห็นชอบร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลไกสำคัญสู่เส้นทางเศรษกิจคาร์บอนต่ำ และมีภูมิคุ้มกันฯ
๒๐ ธ.ค. WePlay x คอลแลบตัวละครสุดปัง! พบกับมินิเกมใหม่ และการ์ตูนสุดน่ารักที่คุณจะต้องหลงรัก
๒๐ ธ.ค. เดลต้า ประเทศไทย และ WEnergy Global ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อขับเคลื่อนอนาคตพลังงานสีเขียว
๒๐ ธ.ค. ความภาคภูมิใจของ ไลอ้อน กับ 3 รางวัลแห่งเกียรติยศ เผยผลงานโดดเด่นกับหลายรางวัลที่ได้รับในปี 2567
๒๐ ธ.ค. NOBLE คว้าเรทติ้งสูงสุด ระดับ AAA SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ยกระดับองค์กรสู่ความยั่งยืนภายในแนวคิด Live Different ตามกรอบ