พช.-ป่อเต็กตึ๊ง ร่วมใจแก้จน คนโคราช หนุนอาชีพครัวเรือนยากจน

พุธ ๒๒ มีนาคม ๒๐๒๓ ๐๙:๒๔
เพื่อมอบวัสดุอุปกรณ์สนับสนุนอาชีพแก่ครัวเรือนยากจน ที่ จ.นครราชสีมา ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาความยากจนเชิงบูรณาการ

21 มีนาคม 2566 เวลา 13.30 น. นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เดินทางไปยังหอประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลจอหอ ตำบลจอหอ อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา เพื่อมอบวัสดุอุปกรณ์สนับสนุนอาชีพแก่ครัวเรือนยากจน ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาความยากจนเชิงบูรณาการ กับมูลนิธิป่อเต็กต๊ง โดยมี นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นายสัก กอแสงเรือง รองประธานกรรมการมูลนิธิป่อเต๊กตึ๊ง นายสุรพงศ์ เตชะหรูวิจิตร กรรมการและรองเลขาธิการมูลนิธิฯ และคณะผู้บริหารจากมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง นางสาวนิภา ทองก้อน ผู้อำนวยการสำนักเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชน ร.ต.อ. เขตรัฐ ชาญศิลป์ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการศูนย์สารสนเทศเพื่อการพัฒนาชุมชน รวมทั้ง นางอรุณรัตน์ ชิงชนะ พัฒนาการจังหวัดนครราชสีมา หัวหน้าส่วนราชการจังหวัดนครราชสีมา ประธานมูลนิธิสว่างเมตตาธรรมสถาน (หลักเสียงเซี่ยงตึ้ง) และผู้แทนครัวเรือน ร่วมกิจกรรม

นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาร่วมเป็นประธานในพิธีมอบวัสดุอุปกรณ์สนับสนุนการประกอบอาชีพ ให้แก่ครัวเรือนที่เป็นเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาความยากจนเชิงบูรณาการ ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ระหว่าง กรมการพัฒนาชุมชน กับ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ที่ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2562 ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งได้ให้การสนับสนุนมาเป็นอย่างดี โดยดำเนินการมาแล้ว 2 ระยะ ใน 2 ภาค คือ ระยะที่ 1 ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคกลาง และระยะที่ 2 ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ และในปี 2566 นี้ เป็นการดำเนินงานระยะที่ 3 ในพื้นที่ 20 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือนี้ สอดคล้องกับปรัชญางานพัฒนาชุมชน กล่าวคือ คนทุกคนมีศักดิ์ศรี มีศักยภาพสามารถพัฒนาได้ ถ้าได้รับโอกาส และมีพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ความว่า "เราไม่ควรให้ปลาแก่เขา แต่ควรจะให้เบ็ดตกปลา และสอนให้รู้จักวิธีตกปลาจะดีกว่า" และเป็นไปตามเนื้อหาในเพลงมาร์ชพัฒนาชุมชน ท่อนที่ว่า "สร้างหลักฐานและมีงานทำ ประกอบกิจกรรมร่ำรวยเพราะช่วยตัวเอง" โดยกรมการพัฒนาชุมชน ได้ดำเนินการคัดเลือกครัวเรือนเป้าหมายที่ไม่ผ่านเกณฑ์มิติด้านรายได้ จากระบบการพัฒนาคนแบบชี้เป้า หรือที่เรียกว่าระบบ TPMAP โดยคัดเลือกครัวเรือนที่มีศักยภาพสามารถพัฒนาได้ รวมถึงพิจารณาจากกิจกรรมของครัวเรือนที่มีโอกาสในการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับครัวเรือน และส่งข้อมูลให้มูลนิธิฯ จำนวนทั้งสิ้น 323 ครัวเรือน จากนั้นเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนร่วมลงพื้นที่กับมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง สัมภาษณ์ครัวเรือนเป้าหมายเพื่อนำไปประกอบการพิจารณาให้การสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์การประกอบอาชีพ และจังหวัดนครราชสีมา มีครัวเรือนได้รับการพิจารณาจากมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง จำนวน 18 ครัวเรือน ในโอกาสนี้ขอให้ผู้แทนครัวเรือนเป้าหมายทุกท่านได้ตั้งใจนำวัสดุอุปกรณ์ที่ได้รับไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในการประกอบอาชีพ และหากมีข้อขัดข้องใดขอให้ปรึกษาพัฒนาการจังหวัด พัฒนาการอำเภอ หรือพัฒนากรในพื้นที่เพื่อนำสู่การพัฒนาอาชีพของตนต่อไป

นายอรรษิษฐ์ กล่าวต่อไปว่า กรมการพัฒนาชุมชน ขอขอบคุณเป็นอย่างสูงที่ทางมูลนิธิฯ ได้ให้ความสำคัญในการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย และผู้ที่ด้อยโอกาสให้ได้มีเครื่องมือในการประกอบอาชีพ ซึ่งจะส่งผลให้ครัวเรือนเป้าหมายได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อยู่ในสังคมอย่างมีความสุข และขอขอบคุณท่านผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ในฐานะเจ้าภาพเชิงพื้นที่ และท้ายที่สุด กรมการพัฒนาชุมชน ขอกราบเรียนว่า มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสร่วมมือทำงานกับมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง จังหวัดนครราชสีมา และพี่น้องครัวเรือนเป้าหมายทุกครัวเรือน อธิบดี พช.กล่าว

นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง และกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ได้เดินทางมามอบวัสดุอุปกรณ์ สนับสนุนการประกอบอาชีพของครัวเรือนยากจน ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาความยากจนเชิงบูรณาการ ระหว่าง กรมการพัฒนาชุมชน กับ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา จำนวน 18 ครัวเรือน จาก 18 อำเภอ ซึ่งเป็นการสร้างขวัญกำลังใจ และเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่ครัวเรือนเป้าหมายให้มีพลังใจในการแก้ไขปัญหาความยากจนต่อไป จังหวัดนครราชสีมา เป็นจังหวัดใหญ่ มีจำนวน 32 อำเภอ จากการจัดเก็บข้อมูล จปฐ. ปี 2565 จำนวน 637,971 ครัวเรือน มีประชากร 1,727,524 คน และมีครัวเรือนที่ตกเกณฑ์ความยากจน ในระบบ TPMAP ปี 2565 ทุกมิติ จำนวน 21,739 ครัวเรือน 27,219 ปัญหา โดยเฉพาะด้านมิติรายได้ ตกเกณฑ์มากที่สุด จำนวน 12,507 ครัวเรือน ซึ่งในปี 2566 จังหวัดนครราชสีมา ได้ขับเคลื่อนการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยฯ ภายใต้แนวคิด "ร่วมใจแก้จน คนโคราช" ด้วยการบูรณาการสร้างพลังความร่วมมือ 7 ภาคีเครือข่าย โดยจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง วันนี้ ในนามตัวแทนพี่น้องประชาชน ชาวจังหวัดนครราชสีมา ขอขอบคุณมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ที่กรุณาให้ความช่วยเหลือและสงเคราะห์ประชาชนแบบครบวงจร และขอขอบคุณ กรมการพัฒนาชุมชน ที่เป็นผู้ประสานงานให้เกิดกิจกรรมดี ๆ ในครั้งนี้

ด้านนายสัก กอแสงเรือง รองประธานกรรมการมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง กล่าวว่า มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง เป็นองค์กรสาธารณกุศลเอกชนที่ไม่แสวงกำไร ได้ก่อตั้งมาเป็นเวลา 115 ปีแล้วให้ความช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ บำรุงสุข แก่เพื่อนมนุษย์ ทุกชนชั้น ทุกศาสนาตั้งแต่เกิด แก่ เจ็บและตาย มีหน่วยงานในสังกัดที่ดำเนินงานช่วยเหลือสังคมครอบคลุมในทุกบริบทของชีวิต ตั้งปณิธาน "ช่วยชีวิต รักษาชีวิต สร้างชีวิต" ด้านช่วยชีวิต มูลนิธิฯ ดำเนินงานบรรเทาสาธารณภัย การกู้ชีพ กู้ภัย สนับสนุนงานนิติเวช ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัยต่าง ๆ ดำเงินงานสังคมสงเคราะห์ ได้แก่ ประเพณีทิ้งกระจาด รวมทั้งในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดโรคโควิด 19 มูลนิธิฯ ดำเนินงานโครงการมอบเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้แก่โรงพยาบาลทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑลและในโรงพยาบาลส่วนภูมิภาคที่ขาดแคลน ภายใต้กองทุนธารน้ำใจ ด้านรักษาชีวิต โดยการจัดตั้งโรงพยาบาลหัวเฉียว โรงพยาบาลที่ทันสมัยได้มาตรฐาน และเป็นศูนย์ฟอกไตเอกชนที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่ง มีคลินิกประกอบโรคศิลปะ สาขาการแพทย์แผนจีนหัวเฉียว เป็นการนำศาสตร์การแพทย์แผนจีน เพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชน รวมถึงในวันนี้มูลนิธิฯ ยังได้นำหน่วยแพทย์สงเคราะห์ชุมชน ออกหน่วยตรวจรักษาโรคทั่วไปจ่ายยาตามอาการ แจกแว่นสายตาฟรีแก่ประชาชน และทางคลินิกประกอบโรคศิลปะ สาขาการแพทย์แผนจีนโคราช ได้นำสมุนไพรบำรุงร่างกาย หนังสือนาฬิกาชีวิต มาแจกให้กับประชาชนฟรีอีกด้วย ด้านสร้างชีวิต โดยการจัดตั้งมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ มีนโยบายหลักในการส่งเสริมด้านการศึกษา ทั้งยังมุ่งเน้นส่งเสริมเด็กและเยาวชนให้ได้รับโอกาสทางทุนการศึกษาที่มูลนิธิฯ ดำเนินการมากว่า 50 ปี ประกอบด้วยโครงการป่อเต็กตึ๊งเสริมสร้างอนาคตเด็กไทย โครงการปลูกต้นกล้าพยาบาล เพื่อผลิตบุคลากรด้านพยาบาลออกมารับใช้สังคม โครงการมอบของขวัญวันเด็กโดยการแจกเครื่องเขียนแก่เด็ก นักเรียนในพื้นที่กรุงเทพ ปริมณฑลและส่วนภูมิภาค โครงการป่อเต็กตึ๊งสงเคราะห์สังคม โดยการสนับสนุนรถเข็นวีลแชร์แก่ผู้พิการด้อยโอกาส และในวันนี้จะเป็นการมอบวัสดุอุปกรณ์ประกอบอาชีพ แก่ครัวเรือนยากจนในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา (จังหวัดที่ 3 ของทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) จำนวน 18 ครัวเรือน คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 389,260 บาท (สามแสนแปดหมื่นเก้าพันสองร้อยหกสิบบาทถ้วน) และมอบรถจักรยาน(โครงการจักรยานเพื่อน้องสัญจร) จำนวน 30 คัน คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 48,310.50 บาท (สี่หมื่นแปดพันสามร้อยสิบบาทห้าสิบสตางค์) แก่โรงเรียนชนบทที่ขาดแคลน จำนวน 3 โรงเรียน เพื่อให้นักเรียนที่ประสบปัญหาในการเดินทางได้ยืมเรียน เป็นการแบ่งเบาภาระค่าพาหนะแก่ผู้ปกครองได้อีกทางหนึ่ง

อีกทั้ง ยังเสริมสร้างให้นักเรียนได้ออกกำลังกาย เรียนรู้กฎจราจร เรียนรู้การแบ่งปัน และดูแลรักษาสาธารณสมบัติร่วมกัน รวมมอบในจังหวัดนครราชสีมา คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น จำนวน 437,570.50 บาท (สี่แสนสามหมื่นเจ็ดพันห้าร้อยเจ็ดสิบบาทห้าสิบสตางค์) มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งหวังว่า การประสานความร่วมมือในโครงการแก้ปัญหาความยากจนเชิงบูรณาการนี้ จะช่วยพัฒนาชุมชน สร้างอาชีพ สร้างชีวิต ให้กับครัวเรือนยากจนให้มีความรู้ มีทักษะ และมีวัสดุอุปกรณ์ไปประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัว ทั้งนี้ ก็เพื่อช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม สร้างความสุขสู่ชุมชน สังคม และประเทศชาติอย่างยั่งยืนต่อไป

ที่มา: อิมเมจ โซลูชั่น

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๔๗ เอ. เจ. พลาสท์ คว้า 2 รางวัลใหญ่ จาก SET Awards 2024 และได้รับการประเมิน CGR ดีเลิศ ระดับ 5 ดาว
๑๖:๑๓ เปิดมาตรการ พักหนี้ ลดดอกเบี้ย ช่วยเหลือ SMEs ถูกน้ำท่วมในงาน มันนี่ เอ็กซ์โป 2024 เชียงใหม่
๑๖:๓๙ หน้าหนาวมาเยือน! กรมอนามัยเตือนดูแลสุขภาพให้พร้อม เด็กเล็ก-ผู้สูงอายุเสี่ยงเจ็บป่วยง่าย
๑๖:๕๗ เปิดรันเวย์อวดผลงานไอเดียสร้างสรรค์ของ 5 ผู้ชนะรางวัลทุนการศึกษา จากโครงการ Jaspal Group Scholarship Program
๑๖:๐๘ กิฟฟารีน แนะนำไอเทมเด็ด กิฟฟารีน เอช เอ็ม บี พลัส วิตามินดี 3 สำหรับช่วยดูแลมวลกล้ามเนื้อให้แข็งแรง
๑๕:๐๑ ไขข้อสงสัย สินเชื่อรถแลกเงินคืออะไร
๑๕:๓๘ ซื้อมอเตอร์ไซค์ ออกรถใหม่ มีขั้นตอนอย่างไร ต้องเตรียมอะไรบ้าง
๑๕:๐๕ ยางขอบ 17 ยี่ห้อไหนดีที่ขับขี่สนุก และยังคงนุ่มสบาย
๑๔:๕๖ heygoody คว้าแชมป์จากเวที Thailand Influencer Awards 2024 ตอกย้ำความเข้าใจลูกค้า Introvert
๑๔:๐๓ เมืองไทยประกันชีวิต คว้า 4 รางวัลใหญ่ระดับสากล ด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล และเป็นองค์กรสถานประกอบการดีเด่นด้านแรงงานสัมพันธ์และสวัสดิการ