GIT ได้นำผู้เชี่ยวชาญ ทำงานร่วมกับท้องถิ่นอย่างใกล้ชิด รวมถึงจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ โดยกิจกรรมประกอบด้วยการบรรยายจากวิทยาการที่มีความเชี่ยวชาญด้านกลยุทธ์การตลาดและช่องทางการจำหน่ายสินค้า E-Marketing การบรรยายจากผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบ ซึ่งมาถ่ายทอดประสบการณ์และการนำศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นมาใช้ในการออกแบบเครื่องประดับที่มีเอกลักษณ์ การนำอัญมณีประเภทต่างๆ มาผสมผสานกับวัสดุตัวเรือนที่หลากหลาย หาได้ภายในท้องถิ่น และกลยุทธ์การสื่อสารให้ผู้บริโภคเห็นถึงความงดงาม โดดเด่น และคุณค่าของอัตลักษณ์ภาคใต้ ทั้งในเรื่องของวัฒนธรรม ความงามของธรรมชาติ โดยมีผู้ประกอบการหลากหลายสาขา อาทิ ผ้าบาติก ย่านลิเภา เครื่องถม เครื่องประดับมุก รวมถึงผู้ประกอบการ OTOP ให้ความสนใจเข้าอบรมเป็นจำนวนมาก โดย GIT ได้คัดเลือกผู้ประกอบการที่มีศักยภาพเข้าร่วมพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ จำนวน 13 ราย โดยผู้ประกอบการที่เข้ารอบ จะได้ทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบ เพื่อผลิตเครื่องประดับต้นแบบอัตลักษณ์เสน่ห์ใต้ และชิ้นงานที่ผลิตนั้น จะนำไปจัดแสดงในนิทรรศการ (Exhibition) และประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่างๆ
ทั้งนี้ผู้ที่ผ่านเข้ารอบทั้ง 13 รายในปีนี้ มีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก ทำให้เห็นได้ว่าเครื่องประดับของภาคใต้ นอกจากไข่มุก และเครื่องถมแล้ว ภายใต้โครงการนี้ เราจะได้เห็นเครื่องประดับในรูปแบบใหม่ๆ ที่มีเอกลักษณ์น่าสนใจ รวมถึงเครื่องประดับที่รักษ์สิ่งแวดล้อมอีกด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับในท้องถิ่นใต้มีขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น และแน่นอนว่า GIT ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักด้านอัญมณีและเครื่องประดับของไทย ก็จะผลักดันโครงการต่างๆ เพื่อการสร้างอาชีพ และสร้างงานให้กับอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ เพื่อสร้างความยั่งยืนในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยต่อไป" นายสินิตย์กล่าว
ที่มา: สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ(องค์การมหาชน)