ข้อจำกัดเรื่องจำนวนและคุณภาพแหล่งเรียนรู้ ทำให้เด็กไทยจำนวนมากไม่เคยไปแหล่งเรียนรู้หลายประเภท ทั้งศูนย์ฝึกอาชีพ ห้องสมุด สนามกีฬา ด้วยเหตุผลคือ ไกลบ้าน ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับเด็กและเยาวชนไทย โดยเฉพาะในช่วงปิดเทอมที่เด็ก ๆ ต้องเผชิญภาวะความเสี่ยงต่าง ๆ มากมาย นางสาวมาริสา จงคงคาวุฒิ หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารกิจกรรมสังคมเพื่อความยั่งยืน ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี ในฐานะตัวแทนจากภาคเอกชน ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองและสะท้อนเส้นทางความสำเร็จของศูนย์การเรียนรู้ไฟ-ฟ้า โดย ทีทีบี พื้นที่จุดประกายให้เยาวชนได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์และค้นพบศักยภาพในตัวเอง ที่ดำเนินโครงการเข้าสู่ปีที่ 14 ในเวทีเสวนา หัวข้อ "ปิดเทอมสร้างสรรค์ เติมเต็มวันว่าง ลดเวลาเสี่ยง" เปิดพื้นที่ให้เด็กเยาวชนค้นหาตัวตน ท่ามกลางโลกที่กำลังพลิกผันและเปลี่ยนแปลง
"ทีทีบีเล็งเห็นความสำคัญของเด็กและเยาวชน ซึ่งจะเป็นกำลังหลักช่วยเปลี่ยนแปลงและขับเคลื่อนประเทศในอนาคต จึงได้สร้างองค์ความรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กไทย มอบความรู้และทักษะที่หาไม่ได้ในห้องเรียนให้กับเด็ก ๆ มาอย่างต่อเนื่อง ผ่านศูนย์เรียนรู้ไฟ-ฟ้า ซึ่งเป็นการจัดกิจกรรมภายใต้ปรัชญาการทำงาน Make REAL Change ที่ไม่ได้มุ่งเปลี่ยนแค่เรื่องธุรกิจ แต่ยังสร้างการเปลี่ยนแปลงในเชิงสังคมไปพร้อมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการเปลี่ยนสังคมเพื่อความยั่งยืน ซึ่งเน้นการสอนถึงวิธีการจับปลา แทนการให้ปลา มีกลุ่มเป้าหมายคือ เด็กและเยาวชนอายุระหว่าง 12 - 17 ปี มาจากครอบครัวที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลางเป็นหลัก มีความตั้งใจให้เยาวชนได้นำความรู้ หรือทักษะที่ได้ให้กลับคืนสู่สังคม ผ่านโครงการ Pay It Forward เพื่อสนับสนุนให้เด็กทุกคนเป็นผู้ให้กับสังคม ด้วยความเชื่อว่าเมื่อเด็กได้รับความรู้และทักษะที่ดี เมื่อเติบโตไปจะสามารถนำความรู้ไปส่งต่อให้คนอื่น ๆ ในสังคมต่อไป" นางสาวมาริสา กล่าว
ปัจจุบันศูนย์เรียนรู้ไฟ-ฟ้า โดย ทีทีบี มีจำนวนทั้งหมด 5 แห่ง ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ได้แก่ ประชาอุทิศ, ถนนจันทน์, บางกอกน้อย, สมุทรปราการ และนนทบุรี เปิดให้บริการทุกวันยกเว้นวันจันทร์ เน้นสอนทักษะทางศิลปะและทักษะชีวิต โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งจะเน้นทักษะวิชานอกห้องเรียน เช่น เต้น กีตาร์ เทควันโด มวยไทย และศิลปะโดยเด็ก ๆ สามารถเดินหรือโดยสารรถประจำทางไปที่ศูนย์เรียนรู้ไฟ-ฟ้าได้ง่าย เพราะตั้งอยู่ในชุมชน
สิ่งสำคัญที่ศูนย์เรียนรู้ไฟ-ฟ้า มอบให้เด็ก ๆ ที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์ ฯ คือ "โอกาส ความรัก และความเชื่อใจ" โอกาสที่ช่วยมอบพื้นที่ที่ปลอดภัยให้เด็กได้ทำกิจกรรม สร้างสรรค์ เรียนรู้ และค้นพบมิตรภาพใหม่ ๆ ความรักที่คอยโอบกอด คอยชื่นชม ให้เด็กได้เรียนรู้ว่าไม่จำเป็นต้องเก่งทุกอย่างก็มีคุณค่าในตัวเอง และความเชื่อใจในตัวเด็ก ให้เขากล้าค้นหาศักยภาพในตัวเอง สิ่งเหล่านี้จะช่วยสร้างกระบวนการและสภาพแวดล้อมในการเรียนรู้ที่ดี เพื่อส่งเสริมให้เด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีต่อไปในอนาคต เพราะเด็กจะไม่ได้มีแค่ความรู้และทักษะติดตัว แต่ยังมีความเข้าใจในการทำงานร่วมกับผู้อื่น เห็นคุณค่าในตัวเอง และรู้จักการแบ่งปัน
นางสาวมาริสา สะท้อนถึงสิ่งที่เป็นความสำเร็จของศูนย์เรียนรู้ไฟ-ฟ้า ผ่านเรื่องราวการเปลี่ยนชีวิตของเด็กไฟ-ฟ้าคนหนึ่ง "ศูนย์เรียนรู้ไฟ-ฟ้า ทำให้เขามีพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการเรียนรู้ ได้ทำกิจกรรมร่วมกับพี่ ๆ เพื่อน ๆ ในช่วงเวลาว่าง จนวันนี้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และยังมี ตัวอย่างของรุ่นพี่เด็กไฟ-ฟ้าที่กลับมาต่อยอดให้ความรู้ใหม่ ๆ กับรุ่นน้อง ซึ่งตัวอย่างเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยพิสูจน์คุณค่าให้กับเส้นทางการดำเนินงานของทีทีบี ซึ่งศูนย์เรียนรู้ไฟ-ฟ้า ไม่ได้คาดหวังให้เด็กต้องเก่งที่สุด แต่เราอยากให้เด็กทุกคนค้นพบศักยภาพในตนเอง โดยเฉพาะเด็กที่ไม่มีต้นทุนในชีวิต ให้ได้กลับมาเป็นเด็กธรรมดาเท่าเทียมกับคนอื่น เพราะเชื่อมั่นว่าเด็กธรรมดาเป็นสิ่งที่สวยงาม โดยทีทีบียินดีอย่างยิ่งที่จะเปิดโอกาสให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง หรือหน่วยงานที่มีวิสัยทัศน์เดียวกันมาร่วมกันสร้างเด็กธรรมดาให้เป็นสิ่งที่สวยงาม"
ไฟ-ฟ้า โดย ทีทีบี มุ่งมั่นและตั้งใจเดินหน้าจุดประกายเยาวชนและชุมชน เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน ติดตามกิจกรรมดี ๆ ต่อได้ที่ https://www.ttbfoundation.org
ที่มา: ชมฉวีวรรณ