วช.หนุนนวัตกรรมเสริมศักยภาพเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อ ผลักดันกลุ่มวิสาหกิจชุมชนถ่ายทอดเทคโนโลยีผลิตโคเนื้อแบบครบวงจร

พฤหัส ๒๓ มีนาคม ๒๐๒๓ ๑๓:๕๑
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ( วช. ) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้การสนับสนุนทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยนครพนม ในโครงการการถ่ายทอดนวัตกรรมและส่งเสริมพัฒนากลุ่มวิสาหกิจชุมชนต้นแบบผลิตโคเนื้อครบวงจร แบบพึ่งพาตนเองเชิงบูรณาการในจังหวัดมุกดาหาร เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ผลงานวิจัยสู่การนำไปใช้ประโยชน์ให้แก่เครือข่ายกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงโคเนื้อในจังหวัด เสริมศักยภาพให้กับเกษตรกรแบบครบวงจร

เริ่มตั้งแต่การพัฒนาองค์ความรู้ การผลิตอาหารหยาบ อาหารข้น อาหารผสมครบส่วนแบบหมัก (FTMR) ต้นทุนต่ำ การใช้ฮอร์โมนในการเหนี่ยวนำ การใช้น้ำเชื้อแบบแยกเพศ วางแผนการผลิต การใช้แอปพลิเคชันโคเนื้อ และที่สำคัญช่วยเพิ่มขีดความสามารถในด้านการตลาด ลดต้นทุนเพิ่มรายได้สร้างกำไร โดยมีการส่งเสริมการถ่ายทอดองค์ความรู้แบบบูรณาการระหว่างหน่วยงานภายในจังหวัด เพื่อการพัฒนาชุมชนเป็นกระบวนการทบทวนทักษะ (Re-skill) ยกระดับทักษะด้วยนวัตกรรม (Up-skill) และเพิ่มทักษะองค์ความรู้ใหม่ (New skill) สร้างรายได้จากการเลี้ยงโคเนื้อในพื้นที่ภูมิลำเนา หวังสร้างชุมชนให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืน พึ่งพาตัวเองได้ สู่เป้าหมายเพื่อยกระดับและเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด (GPP) ให้เพิ่มขึ้น

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวง อว. ได้ให้การสนับสนุนโครงการวิจัยต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวชุมชน โดยเฉพาะภาคการเกษตรที่จำเป็นต้องอาศัยองค์ความรู้ในการพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน อย่างเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อที่จังหวัดมุกดาหาร ซึ่งก่อนหน้านี้เคยประสบกับปัญหาต้นทุนด้านอาหารสัตว์ การคัดเลือกพันธุ์ที่มีคุณภาพ ปัจจุบันได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ผ่านเครือข่ายกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงโคเนื้อ โดยทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยนครพนม ทั้งเรื่องวัตถุดิบที่ใช้เป็นอาหารสัตว์ การวิเคราะห์ต้นทุนการผลิตและผลตอบแทนในการเลี้ยงโคเนื้อ ทิศทางการพัฒนาและสร้างกลุ่มวิสาหกิจชุมชน และเกษตรกรสู่ Smart farmer เพื่อเตรียมความพร้อมในการสร้างอาชีพเพื่อรองรับการแข่งขันในอนาคต และการจัดทำคู่มือเนื้อหาทางการปฏิบัติที่ทำให้เกษตรกรเข้าใจได้ง่าย ตลอดจนการผลิตสื่อเผยแพร่ในช่องทางต่าง ๆ รวมถึงการจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการให้แก่เครือข่าย และเกษตรกรที่สนใจ

นายพิชิต รอดชุม อาจารย์สาขาวิชาสัตวศาสตร์ คณะเกษตรและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนครพนม หัวหน้าโครงการวิจัย เปิดเผยว่า โครงการนี้ได้มีการพัฒนาบูรณาการร่วมกันระหว่างเกษตรกร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในจังหวัด เช่น นักวิชาการ นักวิจัย มหาวิทยาลัยนครพนม, ปศุสัตว์จังหวัด, ปศุสัตว์อำเภอ, องค์การบริหารส่วนตำบล และผู้ประกอบการด้านการค้าในการบริหารจัดการทรัพยากรในพื้นที่ช่วยเหลือเกษตรกร สร้างชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงแบบพึ่งพาตนเอง มาช่วยพัฒนาการจัดการเพิ่มประสิทธิภาพภายในฟาร์มของกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อ และโคขุน ร่วมกับวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงสัตว์ โดยมีการจัดฝึกอบรมถ่ายทอดความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเชิงปฏิบัติการให้แก่เครือข่าย สามารถนำไปปฏิบัติได้จริงและสร้างอาชีพได้อย่างยั่งยืน การจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ ทำให้เกษตรกรเข้าใจในการพัฒนาต่อยอดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการผลิตโคเนื้อให้มีคุณภาพและสามารถแข่งขันได้

โดยเฉพาะปัจจัยการผลิตที่เกษตรกรต้องแบกรับต้นทุนที่สูง สามารถนำผลงานการวิจัยมาปรับใช้เพื่อพัฒนารูปแบบและวิธีการในการหาวัตถุดิบอาหารทางเลือกใหม่ให้กับเกษตรกร จากความร่วมมือของกลุ่มเกษตรกร หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการพัฒนาแบบบูรณาการจากผลงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ได้จริงในพื้นที่ สามารถแบ่งออกเป็น 4 กิจกรรมที่ใช้ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีและใช้ประโยชน์เชิงชุมชน สังคม ตามแนวพระราชดำริ ได้แก่ 1) การผลิตอาหารหยาบ (หญ้าเนเปียร์/ข้าวโพดคุณภาพดี) ใช้เป็นวัตถุดิบอาหารโคเนื้อ 2) การถ่ายทอดความรู้และนวัตกรรมการผลิตอาหารโคเนื้อผสมครบส่วนแบบหมัก (FTMR) 3) การใช้ฮอร์โมนในการเหนี่ยวนำการเป็นสัดร่วมกับการใช้น้ำเชื้อแบบแยกเพศวางแผนการผลิต และ 4) การใช้แอปพลิเคชันโคเนื้อ การคัดเลือกสายพันธุ์และตลาดโคเนื้อให้เกิดประสิทธิภาพ

สำหรับเครือข่ายเกษตรกรในจังหวัดมุกดาหารที่เข้าร่วมโครงการฯ ประกอบด้วย 1) วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงโคเนื้อ ตำบลป่งขาม อำเภอหว้านใหญ่ 2) วิสาหกิจชุมชนเลี้ยงโคขุนระยะสั้น ตำบลหว้านใหญ่ อำเภอหว้านใหญ่ 3) วิสาหกิจชุมชนเลี้ยงโค ตำบลหนองสูงใต้ อำเภอหนองสูง 4) กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโค - กระบือ ตำบลดงมอน อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร อ.พิชิต รอดชุม กล่าวต่อว่า ผลการดำเนินงานในโครงการฯ จากการสำรวจ พบว่า ค่าเฉลี่ยหนี้สินครัวเรือนของกลุ่มเป้าหมาย ก่อนเข้าร่วมการอบรม 99,504.34 บาท/ราย และหลังเข้าร่วมการอบรม 95,194 บาท/ราย และหลังการอบรมสามารถนำองค์ความรู้ไปพัฒนาเป็นอาชีพสามารถลดหนี้สินครัวเรือนได้ถึง 4,310.34 บาท/ราย คิดเป็นร้อยละ 4.33 ซึ่งจะมีการขยายผลโครงการนี้อย่างต่อเนื่องเพื่อเสริมศักยภาพความเป็นอยู่ของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อให้ดีขึ้นสามารถนำวัตถุดิบในชุมชนมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่ อ.พิชิต รอดชุม สาขาวิชาสัตวศาสตร์ คณะเกษตรและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนครพนม E-mail [email protected], [email protected] โทรศัพท์ 095-669-2737 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธนพัฒน์ สุระนรากุล สาขาวิชาสัตวศาสตร์ คณะเกษตรและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนครพนม E-mail [email protected] โทรศัพท์ 087-775-5663

ที่มา: สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๓๑ ม.ค. รู้จักโรคอ้วนดีแล้ว.จริงหรือ?
๓๑ ม.ค. บมจ.ไทยเซ็นทรัลเคมี ร่วมกับ MBK ส่งมอบปฏิทินในกิจกรรม ปฏิทินเก่ามีค่า เราขอ
๓๑ ม.ค. BSRC ออกหุ้นกู้รอบใหม่ 8,000 ล้านบาท ยอดจองเกินเป้า ตอกย้ำความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน
๓๑ ม.ค. คปภ. ร่วมสัมมนาประกันภัย ครั้งที่ 29 เตรียมรับมือความเสี่ยงอุบัติใหม่ พลิกโฉมธุรกิจประกันภัยสู่ความท้าทายในอนาคต
๓๑ ม.ค. มอบของขวัญให้กับครอบครัวของคุณช่วงวันหยุดพิเศษที่ สเตย์บริดจ์ สวีท แบงค็อก สุขุมวิท
๓๑ ม.ค. OR เปิดตัว CEO คนใหม่ หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ มุ่งผลักดันไทยสู่ Oil Hub แห่งภูมิภาค พร้อมขับเคลื่อนองค์กรด้วยดิจิทัล-นวัตกรรม
๓๑ ม.ค. เดลต้า ประเทศไทย คว้ารางวัล ASEAN's Top Corporate Brand ประจำปี 2567
๓๑ ม.ค. โรงแรมอลอฟท์ กรุงเทพ สุขุมวิท 11 พลิกโฉมใหม่ สุดโมเดิร์น! พร้อมเปิดตัว w xyz bar ตอกย้ำความสนุกในแบบฉบับ
๓๑ ม.ค. PAUL JOE เปิดตัว GLOSSY ROUGE ต้อนรับฤดูใบไม้ผลิ 2025
๓๑ ม.ค. บริษัท โกซอฟท์ (ประเทศไทย) ได้รับเกียรติบัตรศูนย์ รับเรื่องและแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคระดับดีเด่น จาก สคบ. และการรับรองมาตรฐาน ISO