ผศ. ดร.ชัยฤทธิ์ระบุว่า จังหวัดราชบุรีถือเป็นต้นแบบของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG ของรัฐบาล เนื่องจากมีพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ และมี GDP อยู่ในอันดับที่ 14 ของประเทศ งานวิจัยของมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึงจึงเน้นการบูรณาการเชื่อมโยงระหว่างงบประมาณสนับสนุนงานมูลฐานและงานเชิงกลยุทธ์ เพื่อมุ่งการสร้างผลกระทบของงานวิจัย โดยนำโจทย์มาพัฒนาเพื่อให้ได้ความรู้ใหม่และนำไปขยายผลต่อยอด รวมถึงเชื่อมโยงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อให้ตอบโจทย์การพัฒนาพื้นที่อย่างแท้จริง โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ให้มากขึ้น รวมถึงพัฒนาการเรียนการสอน และการตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิจัยทั้งในและต่างประเทศ เพื่อมุ่งสู่การเป็น "มหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น" โดยจะมีการกำกับติดตามความก้าวหน้าของการทำวิจัยอย่างเข้มข้นมากยิ่งขึ้น เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการวิจัย และเกิดผลผลิต ผลลัพธ์ ผลกระทบตามเป้าหมาย
ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สกสว. กล่าวถึงการหนุนเสริมการดำเนินงานของหน่วยงานในระบบ ววน. พร้อมกับร่วมหารือนโยบายและทิศทางการสนับสนุนงบประมาณของทุนสนับสนุนงานมูลฐาน ซึ่งสนับสนุนแผนงานหรือโครงการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี หรือโครงการวิจัยและนวัตกรรม ตามภารกิจของหน่วยงาน เพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการพัฒนา ววน. และสามารถตอบสนองแนวนโยบายระดับชาติ นำไปสู่การพัฒนาบุคลากรและโครงสร้างพื้นฐาน การบริหารจัดการงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีธรรมาภิบาล
"สกสว.จะดูผลกระทบเป็นตัวตั้ง งานมูลฐานของมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึงมีความเข้มแข็งมาก หากขยายผลงานวิจัยที่ดำเนินการเสร็จแล้วให้ลึกขึ้นและทำงานอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ พร้อมกับเสริมสร้างความเข้มแข็งของนักวิจัยและชุมชน กองทุนส่งเสริม ววน. ก็จะยินดีอย่างยิ่ง ซึ่งผู้อำนวยการ สกสว. ให้ความสำคัญมากกับการพัฒนาชุมชนและพื้นที่ และหนุนเสริมการทำงานเชิงพื้นที่ตามแผนของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้ จังหวัดราชบุรีสามารถพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวมูลค่าสูงและเชิงสุขภาพ การผลักดัน soft power จากมวยไทยซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึงได้พัฒนาหลักสูตรมวยไทยระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอก รวมถึงการต่อยอดงานวิจัยการกักเก็บคาร์บอนซึ่งประเด็นสำคัญของสิ่งแวดล้อมโลก เพื่อรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต" ผศ.สุภาวดีกล่าว
ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2564-2566 มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึงได้รับงบประมาณรวมทั้งสิ้น 15.039 ล้านบาท โดยจะต้องสามารถนำส่งผลผลิต ผลลัพธ์ และผลกระทบตามเป้าหมาย ส่วนในปี 2567 สกสว.มีข้อเสนอแนะว่าหน่วยงานควรปรับลดงบประมาณขั้นกรรมาธิการฯ ตามการจัดลำดับความสำคัญของโครงการ เพื่อให้โครงการที่มีความสำคัญลำดับต้น ๆ ไม่ถูกลดงบประมาณมากเกินไปและเพียงพอต่อการดำเนินงาน และควรส่งเสริมนักวิจัยที่มีศักยภาพไปขอรับทุนสนับสนุนงานเชิงกลยุทธ์จากหน่วยบริหารและจัดการทุนเพิ่มเติม นอกจากนี้จะต้องรายงานผลของการพัฒนา ววน. ที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริม ววน. เป็นระยะเวลาต่อเนื่อง 5 ปี หรือตามระยะเวลาที่ สกสว.กำหนด
ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม