จากข้อมูลรายงานการระบาดของโรคขอบใบแห้งที่สร้างความเสียหายอย่างต่อเนื่องทุกปีทั่วทุกพื้นที่ใน 10 อำเภอที่เพาะปลูกข้าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคขอบใบแห้งจากเชื้อแบคทีเรีย Xanthomonas oryaze (Xoo) ที่สามารถทำลายข้าวได้ทุกระยะการเจริญเติบโต ทำให้เมล็ดลีบ น้ำหนักเบา คุณภาพเมล็ดไม่ได้มาตรฐาน เปอร์เซ็นต์ความงอกต่ำ ส่งผลให้ผลผลิตข้าวลดลงร้อยละ 20-50 เกษตรกรจังหวัดราชบุรีพยายามควบคุมการระบาดของโรคด้วยวิธีทางเคมีร่วมกับการเผาฟางข้าวหลังการเก็บเกี่ยว แต่เนื่องจากเชื้อสาเหตุโรคพืชมีความหลากหลายและความสามารถต้านทานสารเคมีของเชื้อสาเหตุโรคพืช ทำให้ดินเสื่อมโทรมและส่งผลต่อคุณภาพของผลผลิตในระยะยาว รวมถึงการปนเปื้อนและการตกค้างของสารเคมีในสิ่งแวดล้อม
ผศ. ดร.เสาวณีย์ ชูจิต และคณะ จึงมีแนวคิดในการใช้วิธีทางชีวภาพโดยคัดเลือกเชื้อจุลินทรีย์ปฏิปักษ์ที่มีความสามารถในการยับยั้งและควบคุมการเจริญเติบโตของเชื้อ Xoo ในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี เพื่อนำมาผลิตต้นแบบสารชีวภัณฑ์ทดแทนหรือเป็นทางเลือกเพื่อลดการใช้สารเคมีในพื้นที่การเกษตร และทดสอบประสิทธิภาพของจุลินทรีย์ปฏิปักษ์ระดับห้องปฏิบัติการ พบว่าเชื้อแบคทีเรียสายพันธุ์ Bacillus amyliliquefaciens (BA) มีประสิทธิภาพยับยั้งได้ถึงร้อยละ 65 ขณะที่การพัฒนาต้นแบบสารชีวภัณฑ์ในรูปแบบผงโดยวิธีการอบแห้งสูตรต้นทุนต่ำ ให้ค่าการรอดชีวิตของเชื้อแบคทีเรีย BA สูงถึงร้อยละ 92
ด้าน ดร.วราภรณ์ บุญยรัตน์ หัวหน้าโครงการการจัดการปุ๋ยต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตข้าวสายพันธุ์ปทุมธานี 1 ในพื้นที่จังหวัดราชบุรี ได้ศึกษาผลของสารฮิวมิกซึ่งเป็นสารประกอบหลักของดินที่เกิดจากการยอยสลายทางชีวภาพของพืชที่ตายแล้ว รวมทั้งปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์ที่มีต่อการดูดซึมธาตุอาหารของข้าว เพื่อให้เกษตรกรในพื้นที่มีความมั่นใจในคุณภาพของข้าวที่ปลูกและเป็นแนวทางในการเพิ่มผลผลิตต่อไป ผลการศึกษาพบว่าการใช้สารฮิวมิกมีผลต่อคุณสมบัติทางกายภาพของดิน ทำให้เกิดเม็ดดิน ยืดหยุ่นได้ดี การดูดซึมดี มีค่าความจุความชื้นสูง ช่วยให้ดินอุ้มน้ำได้ดีและอุ้มได้มาก ช่วยให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น และควบคุมความเป็นกรด-ด่างในดินให้มีสภาวะเหมาะกับการเจริญเติบโตของพืช อีกทั้งช่วยจับสารพิษ เช่น แอมโมเนียในดินและในน้ำ
ขณะที่ ดร.ลักษมี หมื่นศรีธาราม และ ผศ. ดร.จรรยา พรหมเฉลิม ได้ศึกษาผลกระทบของสารหนูต่อความไม่เสถียรของจีโนมในข้าวไทย โดยสารหนูหรืออาร์ซินิกเป็นโลหะหนักที่เป็นส่วนประกอบของยากำจัดศัตรูพืชหรือสารกำจัดวัชพืช ซึ่งตรวจพบอาร์ซินิกปนเปื้อนในนาข้าวและเมล็ดข้าวในประเทศต่าง ๆ เช่น ไทย จีน บังกลาเทศ นักวิจัยจึงศึกษาลักษณะทางพันธุกรรมของพันธุ์ข้าวสายพันธุ์ปทุมธานี 1 ในจังหวัดราชบุรี ต่อความต้านทานอาร์ซินิกที่ส่งผลกระทบต่อลักษณะทางสรีรวิทยา ได้แก่ การเจริญเติบโต ซึ่งทำให้ผลผลิตโดยรวมลดลง พร้อมทั้งประเมินผลกระทบทางพันธุกรรมของอาร์ซินิกในต้นข้าว ผลจากการวิจัยนอกจากได้องค์ความรู้และผลงานตีพิมพ์เกี่ยวกับผลของอาร์ซินิกต่อพันธุกรรมของข้าวไทยสายพันธุ์ดังกล่าวแล้ว ยังได้แนวทางการคัดเลือกสายพันธุ์ข้าวที่ต้านทานอาร์ซินิกและลดการปนเปื้อนของโลหะหนักในสิ่งแวดล้อมให้เข้าสู่ห่วงโซ่อาหารน้อยลง
สำหรับปีงบประมาณ 2566 มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึงได้รับทุนสนับสนุนจาก สกสว. อย่างต่อเนื่อง ทั้งการเปรียบเทียบการใช้ฮิวมิกกับกรดฟุลวิคต่อการดูดซึมธาตุอาหาร เพื่อเพิ่มผลผลิตข้าวสายพันธุ์ปทุมธานี 1 การลดความเป็นพิษและการดูดซึมแคดเมียมในข้าวไรซ์เบอร์รีด้วยสารอินทรีย์และอนินทรีย์ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับกลูตาเมตซึ่งเป็นกรดอะมิโนที่พบมากที่สุดในโปรตีนตามธรรมชาติ และโมลิบดีนัมซึ่งเป็นแร่ธาตุที่พบในเนื้อเยื่อของพืชและสัตว์ รวมถึงวิธีการปลูกข้าวไรซ์เบอร์รีที่ลดความเป็นพิษและการสะสมของแคดเมียม ตลอดจนการศึกษาประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ชีวภาพจุลินทรีย์ปฏิปักษ์ที่สามารถยับยั้งและควบคุมการเจริญของเชื้อรา Pyricularia grisea สาเหตุก่อโรคไหม้ข้าว ซึ่งมีรายงานความรุนแรงของโรคที่ร้อยละ 70-80 ของต้นข้าว และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชีวภาพเชื้อจุลินทรีย์ควบคุมโรคไหม้ข้าวของข้าวสายพันธุ์ปทุมธานี 1 จังหวัดราชบุรี
ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม