อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดประชุมสัมมนาแลกเปลี่ยนความรู้ และ เครือข่าย ASEAN-CRN พร้อมจับมือองค์กรระหว่างประเทศนำร่องขับเคลื่อนระบบเกษตร Net Zero

พุธ ๒๙ มีนาคม ๒๐๒๓ ๐๙:๐๑
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ในฐานะ ประธานเครือข่ายเสริมสร้างศักยภาพในการปรับตัวรองรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของอาเซียน (ASEAN Climate Resilience Network: ASEAN-CRN) เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาแลกเปลี่ยนความรู้ และการประชุมเครือข่าย ASEAN-CRN ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28-30 มีนาคม 2566 ณ โรงแรม อมารี วอเตอร์เกท กรุงเทพ ซึ่งการจัดประชุมในครั้งนี้เพื่อพัฒนาความร่วมมือของสมาชิกในการส่งเสริมการรับมือต่อสภาพอากาศที่มีผลต่อความเปลี่ยนแปลงและความยั่งยืนในภาคการเกษตร

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กรมวิชาการเกษตรเป็นแกนหลักในโครงการริเริ่มคาร์บอนเครดิตในภาคการเกษตรของประเทศ โดยจับมือกับ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน): อบก. จัดทำ MOU ร่วมกัน เพื่อพัฒนาโครงการคาร์บอนเครดิต T-VER และ Carbon Credit Baseline นำร่องในพืชเศรษฐกิจ 6 ชนิด ได้แก่ อ้อย ปาล์มน้ำมัน ยางพารา มันสำปะหลัง ทุเรียน และมะม่วง การดำเนินงานและความพยายามนี้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยและกรมวิชาการเกษตรในการพัฒนาทางด้านการเกษตรอย่างยั่งยืน และการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคเกษตรกรรม นอกจากนี้เพื่อให้มั่นใจถึงความน่าเชื่อถือของตลาดคาร์บอนเครดิตภาคการเกษตรของประเทศไทย กรมวิชาการเกษตรส่งเจ้าหน้าที่เข้าอบรมหลักสูตรผู้ประเมินภายนอกสำหรับโครงการภาคสมัครใจของ อบก. เพื่อพัฒนาบุคลากรในการรับรองคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้และการเกษตร อีกด้วย

กรมวิชาการเกษตร ร่วมกับ FAO พัฒนาโครงการจัดทำ Carbon credit baseline ในพืชเศรษฐกิจนำร่อง 6 ชนิด ผ่านการสนับสนุนงบประมาณจาก กองทุนภูมิอากาศสีเขียว (Green Climate Fund, GCF) ซึ่งเป็นกลไกทางการเงินที่จัดตั้งขึ้นภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) เพื่อสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาในความพยายามที่จะจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งการพัฒนาเส้นฐานคาร์บอนเครดิตระดับประเทศ (National Carbon Credit Baseline) ประเทศไทยต้องการข้อคิดเห็นจาก ASEAN-CRN เพื่อแลกเปลี่ยนความเชี่ยวชาญและสร้างขีดความสามารถด้านคาร์บอนเครดิต คาร์บอนฟุตพริ้น และความเป็นกลางทางคาร์บอนในภาคการเกษตร โดยนอกจาก FAO แล้ว องค์กรความร่วมมือของประเทศเยอรมนี (GIZ) ยังนำเสนอโครงการส่งเสริมการเกษตรอย่างยั่งยืนในห่วงโซ่คุณค่าในอาเซียน (ASEAN Agritrade Project) ซึ่งเป็นงบที่ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMZ) ซึ่งโครงการดังกล่าวจะสนับสนุนกรมวิชาการเกษตรในการจัดทำ Carbon credit baseline ในพืช 6 ชนิดด้วย อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า นอกเหนือจากการอภิปรายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคการเกษตรแล้ว ยังอยากให้สมาชิก ASEAN-CRN ให้ความสนใจกับปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ซึ่งกลายเป็นปัญหาที่สำคัญในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ภาคเกษตรกรรม โดยเฉพาะการเตรียมดิน สำหรับเพาะปลูก และการเผาซาก ตอซังพืช มีส่วนสำคัญในการปล่อย PM 2.5 ในฐานะประเทศสมาชิกอาเซียน ต้องทำงานร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาและส่งเสริมแนวทางปฏิบัติทางการเกษตรแบบยั่งยืนเพื่อลดการเกิด PM 2.5 ในภาคการเกษตร โดยประเทศไทยยินดีแบ่งปันประสบการณ์และร่วมมือกับประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ ผ่าน ASEAN-CRN เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ซึ่ง ASEAN-CRN สามารถมีบทบาทสำคัญในการอานวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยนความรู้และความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกเพื่อพัฒนาแนวทางแก้ไขที่มีประสิทธิภาพ

"งานประชุม สัมมนาครั้งนี้จัดขึ้นโดยการสนับสนุนของ FAO, Regional Office for Asia and the Pacific (RAP), GIZ และ Mekong Institute (MI) จะเป็นเวทีอันมีค่าสำหรับสมาชิก ASEAN-CRN ในการแบ่งปันประสบการณ์ ข้อปฏิบัติและความรู้ ด้วยความพยายามร่วมกันของสมาชิก เราสามารถมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงระบบอาหารเกษตรในอาเซียนไปสู่การปล่อยมลพิษต่ำและความยั่งยืน และสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศของประเทศสมาชิกทั้งหมด" อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว

ที่มา: กรมวิชาการเกษตร

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐ ธ.ค. ASMT ผนึก TFT ร่วมลงนามด้านวิชาการด้านอุตสาหกรรมการบิน
๒๐ ธ.ค. กรมวิชาการเกษตร เดินหน้า ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตอะโวคาโดคุณภาพ สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรกว่า 2 แสนบาท/ไร่
๒๐ ธ.ค. Dow มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ Personal Care ควบคู่ความยั่งยืน ตอบโจทย์ผู้บริโภคตลาดเครื่องสำอางในภูมิภาคเอเชีย
๒๐ ธ.ค. โอซีซี มอบความรู้ พัฒนาอาชีพให้ผู้ต้องขังหญิง
๒๐ ธ.ค. ดร.นุชนารถ ชลคงคา นำทีมสถาบัน ESTC จัดอบรมให้ Karmakamet
๒๐ ธ.ค. กนภ. เห็นชอบร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลไกสำคัญสู่เส้นทางเศรษกิจคาร์บอนต่ำ และมีภูมิคุ้มกันฯ
๒๐ ธ.ค. WePlay x คอลแลบตัวละครสุดปัง! พบกับมินิเกมใหม่ และการ์ตูนสุดน่ารักที่คุณจะต้องหลงรัก
๒๐ ธ.ค. เดลต้า ประเทศไทย และ WEnergy Global ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อขับเคลื่อนอนาคตพลังงานสีเขียว
๒๐ ธ.ค. ความภาคภูมิใจของ ไลอ้อน กับ 3 รางวัลแห่งเกียรติยศ เผยผลงานโดดเด่นกับหลายรางวัลที่ได้รับในปี 2567
๒๐ ธ.ค. NOBLE คว้าเรทติ้งสูงสุด ระดับ AAA SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ยกระดับองค์กรสู่ความยั่งยืนภายในแนวคิด Live Different ตามกรอบ