ซึ่งในปัจจุบันพบเพลี้ยแป้ง 4 ชนิดสำคัญ ได้แก่ เพลี้ยแป้งลาย เพลี้ยแป้งแจ๊คเบียดเลย์ เพลี้ยแป้งมันสำปะหลังสีเขียว และเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังสีชมพู เมื่อเข้าสู่แปลงปลูกในระยะตัวอ่อนสามารถเคลื่อนที่ไปตามส่วนต่าง ๆ ของมันสำปะหลังได้โดยมีลมและมดเป็นพาหะให้แพร่กระจายไปสู่มันสำปะหลังต้นอื่นในแปลงปลูกได้ เกษตรกรจึงควรเลือกท่อนพันธุ์ที่สะอาด ปลอดโรคและศัตรูพืช รวมทั้งหมั่นแปลงเพาะปลูกอยู่เสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เพื่อป้องกันกำจัดไม่ให้ศัตรูพืชแพร่กระจายสร้างผลกระทบตามมาได้
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า วิธีการป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง สามารถทำได้ตั้งแต่ก่อนเริ่มเพาะปลูกโดยไถและพรวนดินหลาย ๆ ครั้ง เพื่อลดปริมาณของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังที่อยู่ในดิน จากนั้นใช้ท่อนพันธุ์ที่สะอาด ปราศจากโรคและศัตรูพืช โดยควรแช่ท่อนพันธุ์ 5 - 10 นาที ก่อนนำไปปลูก ด้วยสารกำจัดแมลง ได้แก่ ไทอะมิโทแซม 25% WG อัตรา 4 กรัม หรืออิมิดาโคลพริด 70% WG อัตรา 4 กรัม หรือไดโนทีฟูแรน 10% WP อัตรา 40 กรัม โดยเลือกสารชนิดใดชนิดหนึ่งผสมน้ำ 20 ลิตร และนำไปแช่ท่อนพันธุ์มันสำปะหลังที่จะปลูก นอกจากนี้ ในการเพาะปลูกควรอนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติ ได้แก่ แมลงช้างปีกใส แตนเบียนเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังสีชมพู ด้วงเต่าตัวห้ำ ผีเสื้อหางติ่งตัวห้ำ และแตนเบียนชนิดอื่น ๆ งดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดแมลงในช่วงที่พบแมลงศัตรูธรรมชาติบนต้นมันสำปะหลัง หรือช่วงหลังจากการปล่อยศัตรูธรรมชาติใหม่ ๆ หมั่นสำรวจแปลงปลูก หากพบการเข้าทำลายของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังให้ตัดยอดหรือถอนต้นไปทำลายนอกแปลงและพ่นสารกำจัดแมลง ได้แก่ ไทโอฟอส 50% EC อัตรา 50 มิลลิลิตร หรือสารสารกำจัดแมลงเดียวกันกับที่แช่ท่อนพันธุ์ โดยเลือกสารชนิดใด ชนิดหนึ่งผสมน้ำ 20 ลิตร พ่นบริเวณที่พบเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังและบริเวณโดยรอบทันที ทั้งนี้ หากต้องการคำแนะนำเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้าน
ที่มา: กรมส่งเสริมการเกษตร