กลอยในวัย 25 เล่าว่า เมื่อครั้งที่เป็นนิสิตจบใหม่ (ปริญญาตรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม พระจอมเกล้าฯ บางมด) เธอยังไม่รู้จักคำว่า วิสาหกิจเพื่อสังคม คืออะไร มีแนวทางการทำงานอย่างไร แต่เป็น "ภาคบังคับ" ที่ต้องทำความรู้จัก เมื่อพ่อ (นาวาตรีสถาพร สกลทัศน์) อดีตนายทหารเรือที่ผันตัวเองมาทำงานด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพัฒนาชุมชน ได้จัดตั้งบริษัทฟาร์มรักษ์ ฟอร์เอฟเวอร์ (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด ขึ้น
เธอจึงต้องเข้ามาช่วยทำงานและซึมซัมแนวทางของวิสาหกิจเพื่อสังคม จากโครงการที่หนึ่ง สู่โครงการที่สอง โครงการที่สาม ฯลฯ จนขณะนี้กลอยมีถึง 9 โครงการให้ดูแล
ที่สุดเธอก็เข้าใจถ่องแท้ว่า วิสาหกิจเพื่อสังคม เป็นแนวทางที่สามารถแก้ปัญหาสังคมปัจจุบันได้ โดยเฉพาะเรื่องปากท้องของคนในชุมชน และการทำงานของวิสาหกิจเพื่อสังคมก็ไม่ได้มุ่งกำไรสูงสุด แต่ให้เลี้ยงตัวเองได้ตามหลักสัมมาชีพ ไม่เบียดเบียนตนเอง ไม่เบียดเบียนผู้อื่น และไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม
"กลอยอยากให้ทุกคนได้รู้จักวิสาหกิจเพื่อสังคมมากขึ้น เป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมจริงๆ ไม่ได้เอาเรื่องของผลประโยชน์ การค้ากำไรสูงสุดมาสอดไส้ วิสาหกิจเพื่อสังคมนี่แหละที่ตอบโจทย์การแก้ปัญหารายได้ครัวเรือน และปัญหาอื่นๆ เพียงแต่ต้องใช้ให้ถูกและใช้ให้เป็น
คนที่ทำต้องเข้าใจ และต้องมองผลประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน"
นอกเหนือจากการบ่มเพาะของครอบครัวแล้ว กลอยยังมีโอกาสได้เข้าอบรมหลักสูตร "ผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง" หรือ Leadership for Change ของมูลนิธิสัมมาชีพในรุ่น 12 ซึ่งมีจุดยืนของแก่นคิดในแนวทางเดียวกัน
กลอยบอกว่า จุดเด่นของหลักสูตรนี้ คือ ความต้องการสร้างสัมมาชีพที่ยั่งยืนให้กับสังคม รายจ่ายต้องน้อยกว่ารายได้ ไม่เบียดเบียนตัวเอง ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม ซึ่งนั่นแสดงว่า หลักสูตรนี้ไม่ได้ต้องการแค่เรื่องสัมมาชีพที่ยั่งยืนเท่านั้น แต่กำลังช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นปัญหาอย่างมากของสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ฝุ่น PM 2.5
"สิ่งที่ได้รับจากการเข้าอบรมหลักสูตรนี้ คือ ความเป็นเพื่อนที่จะช่วยเหลือกัน เหมือนกับได้เพื่อนร่วมอุดมการณ์ ร่วมกันทำงาน เพื่อที่จะพัฒนาชุมชน สังคมรอบข้างให้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม นำไปสู่ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของชุมชน
เมื่อคนที่มีเป้าหมายเดียวกันมารวมตัวกันในหลักสูตรนี้ ถ้าสามารถทำงานร่วมกันได้ ก็จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ และก่อให้เกิดสัมมาชีพในทุกๆ พื้นที่ได้" เธอมองอย่างนั้น
บริษัทฟาร์มรักษ์ ฟอร์เอฟเวอร์ฯ ของกลอยเอง ก็กำลังเดินไปในทิศทางดังกล่าว เธอบอกว่า บริษัทมุ่งแก้ปัญหาปากท้องผู้คนผ่านโครงการต่างๆ เป็นอันดับแรก เพราะจากประสบการณ์การทำงานแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม พบว่า สาเหตุที่ปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่เคยหายไป และคนที่มาร่วมแก้ไขมีน้อยเกินไป เพราะคนไทยส่วนใหญ่ ยังมีปัญหาเรื่องปากท้อง
"การจะให้ชาวบ้านมาแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะเวลาของเขาหมดไปกับการหาเช้ากินค่ำ ดังนั้นจึงต้องแก้ปัญหาเรื่องปากท้องก่อน ถึงจะแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้"
จากแนวทางดังกล่าวทำให้ 9 โครงการที่บริษัทดำเนินการอยู่ในขณะนี้ เป็นเรื่องการแก้ไขปัญหาปากท้องคนในชุมชน พร้อมกับการดูแลสิ่งแวดล้อม อาทิ โครงการมัจฉาสตรีท ที่อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร ซึ่งนำซากรถเมล์ไปวางใต้ทะเลเพื่อจำลองระบบนิเวศให้เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำ (บ้านปลา) ตามมาด้วยโครงการโรงรับจำนำปู ในพื้นที่อ่าวปะทิว โดยเป็นโครงการต่อเนื่องในการสร้างแหล่งอาหารให้สัตว์น้ำที่อยู่อาศัยในบ้านปลา
เป็นการเพิ่มจำนวนสัตว์น้ำในบริเวณดังกล่าว ทำให้ประมงพื้นบ้านมีรายได้ดีขึ้น ถือเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จค่อนข้างมาก
โครงการรวมพลคนปลูกผัก (เอาผักมาเอาปลาไป) ที่บ้านกาด อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นโครงการเชื่อมโยงกับ 2 โครงการแรก โดยนำปลาที่จับได้มากขึ้นไปแลกเปลี่ยนกับกลุ่มผู้ปลูกผัก ในโครงการรวมพลคนปลูกผัก (เอาผักมาเอาปลาไป) ทำให้คนในพื้นที่ภาคใต้ได้บริโภคผักทางเหนือ ขณะเดียวกันก็ทำให้คนภาคเหนือมีรายได้และยังแก้ปัญหาการขาดสารไอโอดีน เนื่องจากไม่ค่อยได้บริโภคปลาทะเล
โครงการมาลากาแฟ ตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกับโครงการรวมพลคนปลูกผักฯ เป็นโครงการส่งเสริมคนบนดอยปลูกและแปรรูป-จำหน่ายกาแฟเพื่อสร้างรายได้ และเป็นการอนุรักษ์ป่าไปในตัว เพราะต้นกาแฟซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักต้องปลูกใต้ร่มไม้ใหญ่จึงจะงอกงาม
โครงการล่าสุด Forest Voice/ป่าลั่น เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนบ้านผาหม่น อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ ให้กลายเป็นบ้านผาสุข ได้แก่ การพัฒนาสุขลักษณะที่ดี "กินดี อยู่ดี ขี้คล่อง" การสร้างสัมมาอาชีพที่ยั่งยืนจากกาแฟ การสร้างองค์ความรู้และการศึกษาที่ทั่วถึง และการก้าวทันเทคโนโลยี รวมถึงการป้องกันไฟป่า (สนับสนุนอุปกรณ์ที่จำเป็นแก่กลุ่มดับไฟชาติพันธุ์บนดอยสูง) เป็นต้น
นี่เป็นตัวอย่างโครงการที่คนรุ่นใหม่เช่นเธอ มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน และอยากชวนคนรุ่นใหม่ให้เข้ามาร่วมกันทำงานด้านนี้คนละไม้คนละมือ
"กลอยมีโอกาสที่จะลงมือทำงานวิสาหกิจเพื่อสังคม ก็จะทำต่อไปให้ดี และอยากบอกเพื่อนคนอื่นๆ ว่า หากมีโอกาสจะแค่เสี้ยววินาทีที่ได้ทำงานช่วยเหลือสังคม ชุมชน ก็อยากให้เข้ามาช่วยกัน มันอาจจะเป็นการกระทำที่เล็กมาก จนหลายคนคิดว่าไม่ได้ช่วยอะไร แต่จริงๆ แล้ว มันมีผลต่อชาวบ้านและกำลังใจคนทำงานด้านนี้"
อ่านรายละเอียดหลักสูตรผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง รุ่นที่ 13 ได้ที่ http://rb.gy/zfcwkn
ที่มา: มูลนิธิสัมมาชีพ