ฟิทช์คงอันดับเครดิต บมจ. บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ ที่ BBB+(tha) แนวโน้มเครดิตยังคงเป็นลบ

พุธ ๐๕ เมษายน ๒๐๒๓ ๑๕:๔๘
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาวของบริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BAFS ที่ 'BBB+(tha)' แนวโน้มอันดับเครดิตยังคงเป็นลบ ในขณะเดียวกัน ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นของบริษัทฯ ที่ 'F2(tha)' และคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวสำหรับหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิและไม่มีหลักประกันของบริษัทฯ ที่ 'BBB+(tha)'

แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ สะท้อนความเสี่ยงที่อัตราส่วนหนี้สินของ BAFS ซึ่งวัดโดยอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA Net Leverage) อาจยังคงอยู่สูงกว่า 6 เท่าในปี 2566 และหลังจากนั้น หากธุรกิจเติมน้ำมันอากาศยานฟื้นตัวช้ากว่าที่ฟิทช์คาดไว้

ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินของ BAFS จะยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องในปี 2566 และ 2567 จากการฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญของธุรกิจเติมน้ำมันอากาศยาน หลังจากที่เกือบทุกประเทศได้มีการเปิดประเทศ ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วน EBITDA Net Leverage ของ BAFS จะลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 6 เท่า ในปี 2566 และประมาณ 5 เท่า ในปี 2567 (ปี 2565 อยู่ที่ 15.2 เท่า) อย่างไรก็ตาม ปริมาณการเดินทางทางอากาศอาจจะอ่อนแอกว่าที่ฟิทช์คาด เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่อาจเติบโตที่ช้าลง และการกลับมาของนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนที่ช้ากว่าที่คาด ซึ่งเป็นความเสี่ยงต่อการฟื้นตัว และการลดอัตราส่วนหนี้สินของ BAFS

ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต
อัตราส่วนหนี้สินที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง: ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินของ BAFS ลดลงอย่างต่อเนื่องในปี 2566-2567 จากการปรับตัวดีขึ้นของกระแสเงินสดจากธุรกิจเติมน้ำมันอากาศยาน ฟิทช์คาดว่าปริมาณการเติมน้ำมันอากาศยานของ BAFS จะฟื้นตัวกลับมาอยู่ในระดับประมาณร้อยละ 84 ของระดับก่อนการเกิดการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัสในปี 2566 และร้อยละ 98 ในปี 2567

ฟิทช์ไม่ได้ปรับประมาณการในปี 2566-2567 อย่างมีนัยสำคัญ แม้ว่าปริมาณการเติมน้ำมันอากาศยานในปี 2565 จะต่ำกว่าที่คาด เนื่องจากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัสในประเทศจีน ในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 โดยปริมาณการเติมน้ำมันอากาศยานของ BAFS ในปี 2565 อยู่ที่ร้อยละ 49 ของระดับก่อนการเกิดการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัส ซึ่งต่ำกว่าที่ฟิทช์ประมาณการไว้ที่ประมาณร้อยละ 55 การที่ประเทศจีนมีการเปิดประเทศ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 น่าจะสนับสนุนการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีนในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 และปี 2567

กระแสเงินสดสุทธิเป็นบวกแม้ค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนจะอยู่ในระดับสูง: ฟิทช์คาดว่า BAFS จะสามารถมีกระแสเงินสดสุทธิ (Free Cash Flow) เป็นบวกในปี 2566 และ 2567 เนื่องจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ปรับตัวสูงขึ้น น่าจะเพียงพอที่จะรองรับค่าใช้จ่ายด้านการลงทุน และการจ่ายเงินปันผลที่สูงขึ้น ค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนของ BAFS น่าจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับประมาณ 900 ล้านบาท - 1 พันล้านบาทต่อปี ในปี 2566 และ 2567 จาก 287 ล้านบาท ในปี 2565 ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ในโครงการเชื่อมระบบท่อขนส่งน้ำมัน

BAFS ยังคงมีแผนในการขยายธุรกิจพลังงานหมุนเวียน แต่การลงทุนดังกล่าวน่าจะเป็นไปอย่างระมัดระวัง ฟิทช์คาดว่า บริษัทฯ จะดำเนินการขยายธุรกิจดังกล่าวหลังจากปี 2566 อย่างไรก็ตาม การลงทุนโดยใช้หนี้ เหมือนที่เกิดขึ้นในปี 2564 จะทำให้อัตราส่วนหนี้สินเพิ่มขึ้น และทำให้การปรับลดอัตราส่วนหนี้สินล่าช้าออกไปอย่างมาก

สัดส่วนรายได้จากธุรกิจขนส่งน้ำมันทางท่อยังคงอยู่ในระดับต่ำ: สัดส่วนรายได้และกำไรจากบริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ BAFS จะยังคงอยู่ในระดับต่ำในปี 2566 เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณน้ำมันที่ขนส่งผ่านระบบท่อขนส่งน้ำมันไปยังภาคเหนือตอนบน น่าจะใช้เวลากว่าที่จะชดเชยกระแสเงินสดที่ลดลงจากการให้สิทธิการบริหารระบบท่อขนส่งน้ำมันในช่วงกรุงเทพฯ ถึงบางปะอิน แก่บริษัทลูกของ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ปริมาณน้ำมันที่ขนส่งผ่านระบบท่อขนส่งน้ำมันไปยังภาคเหนือตอนบนในปี 2565 อยู่ต่ำกว่าที่บริษัทฯ ประมาณการไว้ประมาณร้อยละ 20 ฟิทช์คาดว่าโครงการเชื่อมระบบท่อขนส่งน้ำมัน จะทำให้ปริมาณน้ำมันที่ขนส่งผ่านท่อขนส่งน้ำมันไปยังภาคเหนือ เพิ่มขึ้นในปี 2568

สถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งในธุรกิจเติมน้ำมันอากาศยาน: BAFS เป็นผู้ให้บริการคลังเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน (Depot Service) และเครือข่ายท่อจ่ายน้ำมันอากาศยาน (Hydrant Pipeline Network) แต่เพียงรายเดียว และเป็นผู้ให้บริการหลักในการเติมน้ำมันอากาศยาน ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นท่าอากาศยานนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย รวมถึงเป็นผู้ให้บริการเติมน้ำมันอากาศยานแต่เพียงรายเดียว ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง ซึ่งเป็นท่าอากาศยานนานาชาติที่รองรับสายการบินต้นทุนต่ำ BAFS อยู่ในธุรกิจที่มีการแข่งขันน้อย เนื่องจากผู้ให้บริการต้องได้รับสัมปทานจากท่าอากาศยานนั้นๆ จึงจะให้บริการได้

ความเสี่ยงต่อความผันผวนของราคาน้ำมันที่จำกัด: BAFS ไม่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาน้ำมัน เนื่องจาก BAFS จะเรียกเก็บเฉพาะค่าบริการเติมน้ำมันจากบริษัทน้ำมันเท่านั้น (โดยบริษัทน้ำมันเป็นผู้ขายน้ำมันให้แก่สายการบิน) นอกจากนี้ ต้นทุนหลักของ BAFS เป็นค่าสัมปทานซึ่งเป็นอัตราที่ตกลงกันก่อนตามสัญญา ทำให้อัตราส่วนความสามารถในการทำกำไรของ BAFS ค่อนข้างคงที่ อีกทั้งธุรกิจเติมน้ำมันอากาศยานเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันจำกัด เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ต้องได้รับสัมปทานในการดำเนินธุรกิจ

รายได้ที่สม่ำเสมอจากธุรกิจพลังงานหมุนเวียน: การที่ BAFS ได้ขยายธุรกิจไปยังธุรกิจพลังงานหมุนเวียน น่าจะช่วยสนับสนุนสถานะทางธุรกิจของ BAFS ในช่วง 3-4 ปีข้างหน้าให้ยังคงแข็งแกร่ง จากกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอ แม้ว่าจะมีความเสี่ยงจากแหล่งพลังงานที่อาจจะแปรปวนได้ โดยโครงการพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนได้รับประโยชน์จากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวที่มีอายุเฉลี่ย 20-25 ปี กับคู่สัญญาที่มีความแข็งแกร่ง ได้แก่ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และบริษัทชั้นนำในธุรกิจพลังงานไฟฟ้าสำหรับโครงการในประเทศญี่ปุ่น ฟิทช์คาดว่าธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์จะมี EBITDA (รวมเงินปันผลรับ) ที่สม่ำเสมอให้แก่ BAFS ที่ระดับประมาณ 250 ล้านบาทต่อปี

การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป
ลักษณะของกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของ BAFS มีความคล้ายคลึงกับบริษัท ผลิตไฟฟ้า นวนคร จำกัด (มหาชน) หรือ NNEG (อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ A-(tha)/แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ซึ่งเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก ที่มีรายได้ร้อยละ 70-80 มาจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (BBB+/แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ)

บริษัททั้งสองจึงมีความเสี่ยงในด้านการแข่งขันที่ต่ำ อย่างไรก็ตาม กระแสเงินสดของ BAFS ได้รับผลกระทบชั่วคราวจากการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัสที่ส่งผลต่ออุตสาหกรรมการบินทั่วโลก ในขณะที่ธุรกิจของ NNEG ได้รับผลกระทบที่น้อยกว่ามาก BAFS มีขนาดธุรกิจที่ใหญ่กว่าและมีการกระจายความเสี่ยงที่ดีกว่า NNEG ซึ่งมีการกระจุกตัวของทรัพย์สินในทำเลที่ตั้งเดียวและดำเนินธุรกิจเพียงอย่างเดียว อัตราส่วนหนี้สินของ BAFS ที่เคยอยู่ในระดับต่ำกว่า NNEG ได้เพิ่มสูงขึ้นเกินกว่าระดับอัตราส่วนหนี้สินของ NNEG เป็นอย่างมาก เนื่องจากการกำไรที่ลดลงจากการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัส และการลงทุนที่สูงในระบบขนส่งน้ำมันทางท่อ และธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในช่วงปี 2563-2567 สถานะทางการเงินของ BAFS อ่อนแอกว่า NNEG ทำให้ BAFS มีอันดับเครดิตต่ำกว่า NNEG หนึ่งอันดับ

ลักษณะของกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของ BAFS มีความคล้ายคลึงกับบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC (A+(tha)/แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ/ สถานะเครดิตโดยลำพังที่ a-(tha)) เช่นเดียวกันกับ NNEG GPSC มีรายได้ที่สม่ำเสมอและสามารถคาดการณ์ได้ จากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว อย่างไรก็ตาม GPSC มีสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งกว่า BAFS เนื่องจากการกระจายความเสี่ยงของสินทรัพย์และรายได้ที่ดีกว่า อัตราส่วนหนี้สินของ GPSC ในปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำกว่า BAFS แต่น่าจะเพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกันในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า เนื่องจากค่าใช้จ่ายลงทุนที่อยู่ในระดับสูงของ GPSC ดังนั้น BAFS จึงมีอันดับเครดิตต่ำกว่าสถานะเครดิตโดยลำพังของ GPSC หนึ่งอันดับ

สมมุติฐานที่สำคัญ
สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ

  • ปริมาณการเติมน้ำมันอากาศยานฟื้นตัวกลับมาอยู่ในระดับประมาณร้อยละ 84 ของระดับก่อนการเกิดเหตุการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสในปี 2566 และร้อยละ 98 ในปี 2567 (2565 อยู่ที่ร้อยละ 49)
  • อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ (EBITDA Margin) เพิ่มขึ้นมาที่ระดับร้อยละ 52-55 ในปี 2566 และ 2567 (ปี 2565 อยู่ที่ร้อยละ 33.6) จากการฟื้นตัวของปริมาณการเติมน้ำมันอากาศยาน
  • ค่าใช้จ่ายลงทุนจำนวนประมาณ 900 ล้านบาทในปี 2566 และจำนวนประมาณ 1 พันล้านบาทในปี 2567 ซึ่งรวมค่าใช้จ่ายลงทุนในโครงการเชื่อมระบบท่อขนส่งน้ำมัน
  • จ่ายเงินปันผลในจำนวนที่ต่ำในปี 2566 และจ่ายเงินปันผลร้อยละ 80 ของกำไรสุทธิในปี 2567

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยบวก:

  • แนวโน้มอันดับเครดิตอาจได้รับการปรับกลับมาเป็นมีเสถียรภาพได้ หากอัตราส่วน EBITDA Net Leverage ลดลงมาอยู่ในระดับประมาณ 6.0 เท่าได้ภายในปี 2566

ปัจจัยลบ:
-อัตราส่วน EBITDA Net Leverage ยังคงอยู่ในระดับสูงกว่า 6.0 เท่าหลังจากปี 2566

สภาพคล่อง
สภาพคล่องอยู่ในระดับที่เพียงพอ: BAFS มีสภาพคล่องที่ดี โดยมีเงินสดที่เพียงพอ และการชำระคืนหนี้ที่ดี BAFS มีหนี้สินจำนวน 1.3 พันล้านบาท ที่จะครบกำหนดชำระในช่วง 12 เดือนข้างหน้า โดยมีเงินสด (ตามคำจำกัดความของฟิทช์) จำนวน 2 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2565 สภาพคล่องของ BAFS ยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากวงเงินสินเชื่อแบบผูกพันไว้แล้วที่ยังไม่ได้เบิกถอน (Undrawn Committed Facility) จำนวน 1.1 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2565 โดยสภาพคล่องดังกล่าวน่าจะเพียงพอสนับสนุนค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนโครงการเชื่อมระบบท่อขนส่งน้ำมัน

ลักษณะธุรกิจ
BAFS เป็นผู้ให้บริการคลังเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน และเครือข่ายท่อจ่ายน้ำมันอากาศยาน และเป็นผู้ให้บริการหลักในการเติมน้ำมันอากาศยาน ณ ท่าอากาศยานที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย 2 แห่ง BAFS มีบริษัทย่อยที่ BAFS ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 70 ซึ่งเป็นผู้ให้บริการขนส่งน้ำมันทางท่อ จากคลังน้ำมันบางจากไปยังท่าอากาศยานทั้ง 2 แห่ง และเป็นเจ้าของระบบท่อขนส่งน้ำมันไปยังภาคเหนือระบบแรกของประเทศไทย นอกจากนี้ BAFS ยังมีโครงการโรงไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ที่มีกำลังผลิตรวม 36 เมกะวัตต์ในประเทศไทยและ 13 เมกะวัตต์ในประเทศญี่ปุ่น

ที่มา: ฟิทช์ เรทติ้งส์

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๓:๔๖ MEDEZE ต้อนรับสถาบันนักลงทุน CSI เยี่ยมชมบริษัท
๑๓:๔๙ บริษัท อินเตอร์ไฟเบอร์ คอนเทนเนอร์ จำกัด รับประกาศนียบัตร เครื่องหมายรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ประจำปี 2567
๑๓:๔๓ AJA จัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2568 ผถห. โหวตผ่านทุกวาระ พร้อมเปิดตัวกลยุทธ์ใหม่ รีแบรนด์ AJ EV BIKE สู่
๑๓:๕๑ SCAP ตั้งเป้าระดมทุนโดยการขายหุ้นกู้1,600 ล้านบาท ชูดอกเบี้ยสูงสุด 5.05% ต่อปี ด้วยอันดับความน่าเชื่อถือที่ BBB เปิดขายวันที่ 31 ม.ค. และ 3-4 ก.พ.
๑๒:๐๐ สกสว. - สวทช. รุกปั้นกลุ่ม ผู้จัดการงานวิจัยและนวัตกรรม หนุนระบบบุคลากร
๑๒:๑๕ HMD ประเทศไทย เปิดแผนธุรกิจปี 68 ย้ำมุ่งพัฒนาสมาร์ทโฟนคุณภาพ ด้วยปรัชญา ใช้งานปลอดภัย ไว้ใจได้ ด้วยราคาเข้าถึงง่าย
๑๑:๑๒ VEHHA Hua Hin คว้า Fitwel มาตรฐานคอนโดระดับโลก ยกระดับคุณภาพชีวิตระยะยาว ต่อยอดจุดแข็งสู่ที่สุดของความครบครัน
๑๑:๐๐ ttb reserve มอบประสบการณ์ใหม่เหนือระดับเพื่อลูกค้าคนสำคัญ
๑๑:๓๙ ศิลปะจักสานหลินซู ภูมิปัญญาโบราณสู่ตลาดโลก
๑๑:๐๐ ฉลองครบ 10 ปี HOUSE OF LITTLEBUNNY กระเป๋าแบรนด์ไทย จากกระต่ายน้อยตัวเล็ก เติบโตสู่ตลาดอินเตอร์ จัดแฟชั่นโชว์ยิ่งใหญ่