นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา กระทรวงพลังงานมีนโยบายส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เพื่อให้มีการใช้ทรัพยากรภายในประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งจะช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้าพลังงาน และเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงานด้วยการสนับสนุนให้มีการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหนุนเวียน โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้ มีแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 - 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP2018 Rev.1) ในช่วงปี พ.ศ. 2564 - 2573 (ปรับปรุงเพิ่มเติม ครั้งที่ 2) โดยมีปริมาณรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนประกอบด้วย พลังงานแสงอาทิตย์ 2,632 เมกะวัตต์ พลังงานลม 1,000 เมกะวัตต์ ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) 6.5 เมกะวัตต์ และขยะอุตสาหกรรม 30 เมกะวัตต์ คิดเป็นปริมาณรับซื้อเพิ่มเติมรวม 3,668.5 เมกะวัตต์ ซึ่งการเพิ่มเป้าหมายรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เป็นการช่วยเพิ่มปริมาณไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดในระบบไฟฟ้าของประเทศ และช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยให้เป็นไปตามเป้าหมายในการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 (พ.ศ. 2593) และการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero Emission) ภายในปี ค.ศ. 2065 (พ.ศ. 2608)
นายวัฒนพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สนพ. ได้นำคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ และคณะสื่อมวลชน มาเยี่ยมชมโครงการสาธิตโรงไฟฟ้าพลังงานขยะเคลื่อนที่ โรงไฟฟ้าน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งจะเป็นต้นแบบโรงไฟฟ้าขยะที่ กฟผ. คิดค้นเป็นนวัตกรรมที่จะมาช่วยชุมชน ทั้งนี้โมเดลโรงไฟฟ้าพลังงานขยะเคลื่อนที่สามารถกำจัดขยะสูงสุดได้ถึง 24 ตัน/วัน และสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 200 กิโลวัตต์/ชั่วโมง เข้าสู่ระบบ อย่างไรก็ตามข้อจำกัดของโครงการฯ ก็คือขยะที่จะเข้าสู่ระบบได้ต้องเป็นขยะแห้งเท่านั้น ขยะอินทรีย์ ขยะเปียกจะสามารถไม่เข้ามาสู่ระบบได้ ดังนั้นการแยกขยะต้นทางขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จะเป็นหัวใจสำคัญของความสำเร็จของโครงการนี้ และสามารถช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย ช่วยกันเปลี่ยนจากเมืองขยะล้น เป็นเมืองพลังงานสะอาด อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมพลังงานรูปแบบใหม่ ๆ ได้ในอนาคต
นายอลงกรณ์ พุ่มรักธรรม ผู้อำนวยการโรงไฟฟ้าน้ำพอง ได้กล่าวว่า ปัจจุบันโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมน้ำพอง เป็นโรงไฟฟ้าที่มีกำลังผลิตมากที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีกำลังผลิตให้แก่ภูมิภาคนี้ถึง 650 เมกะวัตต์ และสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าปีละ 4,660 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง คิดเป็น 20 % ของปริมาณการใช้ไฟฟ้าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นอกจากนี้ยังเป็นโรงไฟฟ้าแห่งเดียวในภูมิภาคนี้ ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม กฟผ. มีการพัฒนาตามนโยบายของรัฐบาลเสมอมา มีทั้งโรงไฟฟ้าหลักและโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน เพื่อเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้าควบคู่กันไป เพื่อให้ช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานหมุนเวียนในอนาคตเป็นไปอย่างราบรื่น และรักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของประเทศ รองรับการพัฒนาทุกภาคส่วน พร้อมดูแลสิ่งแวดล้อมแบบยั่งยืน โดยล่าสุดได้พัฒนา โรงไฟฟ้าพลังงานขยะเคลื่อนที่ เนื่องจากปัจจุบันขยะมูลฝอยในชุมชนมีจำนวนมากขึ้น การจัดการมลพิษไม่ดี พร้อมทั้งมีค่าใช้จ่ายการลงทุนกำจัดสูง ด้วยเหตุนี้ กฟผ. โดยทีมวิจัยของ กฟผ. และโรงไฟฟ้าน้ำพองได้ร่วมกัน ศึกษาวิจัยและพัฒนาขึ้นโรงไฟฟ้าขยะเคลื่อนที่ โดยอาศัยพื้นที่บริเวณโรงไฟฟ้าน้ำพอง เพื่อมุ่งหวังว่าจะช่วยแก้ไขปัญหาเหล่านี้ และส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมพลังงานรูปแบบใหม่ๆ พร้อมปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่จะเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต
ที่มา: คาริสม่า มีเดีย