ฟิทช์คงอันดับเครดิต ปตท. ที่ระดับ 'BBB+'/'AAA(tha)' และจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ชุดใหม่

ศุกร์ ๒๑ เมษายน ๒๐๒๓ ๐๘:๒๐
ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศ (International Long-Term Foreign-Currency Issuer Default Rating) และอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินในประเทศ (International Long-Term Local-Currency Issuer Default Rating) ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. ที่ 'BBB+' และอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาวที่ 'AAA(tha)' แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ ในขณะเดียวกัน ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตสากลระยะสั้น (International Short-Term Issuer Default Rating) ที่ 'F1' อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ 'F1+(tha)' รวมถึงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิ และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของโครงการออกหุ้นกู้ (Medium-Term Debenture Program) มูลค่าหุ้นกู้รวมไม่เกินหนึ่งแสนห้าหมื่นล้านบาท และโครงการออกหุ้นกู้มูลค่าหุ้นกู้รวมไม่เกินหนึ่งแสนล้านบาท ที่ 'AAA(tha)'

นอกจากนี้ ฟิทช์ประกาศจัดอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวให้แก่หุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิชุดใหม่ จำนวนไม่เกิน 2 พันล้านบาทของ ปตท. ที่ 'AAA(tha)' หุ้นกู้ดังกล่าวมีสถานะเท่าเทียมกับหนี้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิของบริษัทฯ และได้รับการจัดอันดับเครดิตในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ ปตท. เช่นเดียวกันกับหนี้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิอื่นๆ ของบริษัทฯ

อันดับเครดิตระยะยาวของปตท. สะท้อนถึงสถานะเครดิตโดยลำพัง (Standalone Credit Profile) ที่ระดับ 'bbb+' ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตของประเทศไทย ('BBB+' แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ภายใต้หลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตองค์กรที่มีความสัมพันธ์กับภาครัฐฯ (Government-Related Entities Rating Criteria) ของฟิทช์ อันดับเครดิตระยะยาวของปตท. จะยังคงเท่ากับอันดับเครดิตของประเทศไทย หากสถานะเครดิตโดยลำพังของปตท. ถูกปรับลงในอนาคต และฟิทช์พิจารณาว่าโอกาสในการได้รับการสนับสนุนภายใต้หลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตข้างต้นที่อยู่ในระดับสูงไม่มีการเปลี่ยนแปลง ในขณะที่ อันดับเครดิตสากลระยะสั้นเท่ากับอันดับเครดิตสากลระยะสั้นของประเทศไทย

สถานะเครดิตโดยลำพังของปตท. สะท้อนถึงสถานะทางเครดิตที่มั่นคง จากธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของบริษัทแบบครบวงจร รวมถึงสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งของบริษัทฯ โดยฟิทช์มองว่าธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ และเคมีภัณฑ์จะยังคงเป็นธุรกิจหลักในการขับเคลื่อนการเติบโตของปตท. ไปจนถึงปี 2573 แม้ว่าปตท. มีแผนที่จะลงทุนในธุรกิจพลังงานใหม่ๆ ที่มีคาร์บอนต่ำ รวมถึงธุรกิจอื่น นอกเหนือจากธุรกิจพลังงาน มากขึ้นในอนาคต

ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต
ความสัมพันธ์กับภาครัฐฯ ในระดับสูง: ฟิทช์ประเมินเรื่องสัดส่วนการถือหุ้นและการควบคุมของภาครัฐฯ ต่อปตท. ให้อยู่ในระดับสูง ซึ่งสอดคล้องกับการพิจารณาปัจจัยดังกล่าวสำหรับองค์กรที่มีความสัมพันธ์กับภาครัฐฯ อื่นๆ ในภูมิภาคเอเซียแปซิพิค แม้ว่าภาครัฐฯ มีนโยบายให้ปตท. ดำเนินธุรกิจในเชิงพาณิชย์ แต่ก็มีการควบคุมนโยบายการลงทุนและกลยุทธ์หลักๆ ในภาพกว้าง ฟิทช์มองว่าการสนับ สนุนจากภาครัฐฯ ต่อปตท. อยู่ในระดับสูง แม้ว่าที่ผ่านมาไม่ได้มีการให้การสนับสนุนทางการเงินแก่บริษัทฯ เนื่องจากปตท. มีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง ฟิทช์คาดว่าภาครัฐฯ น่าจะให้การสนับสนุนแก่ปตท. ในกรณีที่บริษัทมีความต้องการ เนื่องจากปตท. มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์และเป็นตัวจักรสำคัญในธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในประเทศไทย

ผลกระทบต่อสังคมและการเมืองอยู่ในระดับสูงมาก: ฟิทช์ปรับมุมมองในเรื่องผลกระทบต่อสังคมและการเมืองในกรณีที่ปตท. ผิดนัดชำระหนี้ ให้มาอยู่ที่ระดับสูงมาก จากระดับสูง เพื่อให้สอดคล้องมากขึ้นกับมุมมองของฟิทช์ที่มีต่อบริษัทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติหลักของประเทศ (National Oil & Gas Company) ของประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคที่ฟิทช์จัดอันดับเครดิตอยู่ การผิดนัดชำระหนี้ของปตท. จะส่งผลกระทบต่อการจัดหาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติสำหรับประเทศไทย ซึ่งจะส่งผลต่อการผลิตไฟฟ้า และความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ นอกจากนี้ ฟิทช์มองว่าผลกระทบต่อการกู้ยืมของภาครัฐฯ ในกรณีที่ปตท. ผิดนัดชำระหนี้อยู่ในระดับสูง เนื่องจากปตท. เป็นรัฐวิสาหกิจที่สำคัญ ที่มีการกู้เงินและออกหุ้นกู้ในประเทศไทย ดังนั้นการผิดนัดชำระหนี้ของปตท. อาจจะมีผลกระทบต่อการกู้ยืมเงินทั้งในประเทศและต่างประเทศ และต้นทุนทางการเงินของภาครัฐฯ และองค์กรที่มีความสัมพันธ์กับภาครัฐฯ อื่นๆ ด้วย

ผลประกอบการที่แข็งแกร่ง แม้จะอ่อนตัวลงบ้าง: ฟิทช์คาดว่ากำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของปตท. จะอ่อนตัวลงในปี 2566 เนื่องจาก EBITDA จากธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่ลดลง จากการคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจะปรับลดลง อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในปี 2566 จะยังคงอยู่สูงกว่าราคาในช่วงปี 2559-2564 นอกจากนี้ ต้นทุนก๊าซธรรมชาติที่ลดลง น่าจะช่วยทำให้กำไรและกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของธุรกิจการจัดจำหน่ายก๊าซธรรมชาติให้แก่ลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรม รวมถึงทำให้ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นในปี 2566 จากที่ลดลงประมาณร้อยละ 6 ในปี 2565 ฟิทช์คาดว่า EBITDA ของปตท. จะยังคงแข็งแกร่งที่ประมาณ 3.9 แสนล้านบาทในปี 2566 (ปี 2565 อยู่ที่ 4.1 แสนล้านบาท) และอยู่สูงกว่าในช่วงก่อนการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด

ฟิทช์คาดว่า EBITDA จากธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมี น่าจะมีการฟื้นตัวในปี 2566 เนื่องจากไม่มีการขาดทุนจากการบริหารความเสี่ยงน้ำมันที่สูงมาก ปตท. รายงานการขาดทุนจากการบริหารความเสี่ยงน้ำมันที่เกิดขึ้นจริง สูงถึง 6.5 หมื่นล้านบาทในปี 2565 ซึ่งส่วนใหญ่มาจากธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมี เนื่องจากส่วนต่างระหว่างราคาน้ำมันดิบและราคาผลิตภัณฑ์น้ำมันที่เกิดขึ้นจริง อยู่สูงกว่าราคาที่ได้ทำประกันเอาไว้ ฟิทช์คาดว่า ส่วนต่างระหว่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี จะยังคงอ่อนแออยู่ในปี 2566 เนื่องจากกำลังการผลิตใหม่ในอุตสาหกรรมและความต้องการที่ชะลอตัวลง

การลงทุนที่เพิ่มขึ้น: ฟิทช์คาดว่ากลุ่มปตท. จะมีค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2566 (ในปี 2565 อยู่ที่ 2.1 แสนล้านบาท) จากการลงทุนในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กลุ่มปตท. ได้มีการใช้เงินในการเข้าซื้อกิจการลดลงอย่างมากในปี 2565 หลังจากที่มีการเข้าซื้อกิจการอย่างมากในปี 2565 ฟิทช์เชื่อว่ากลุ่มปตท. จะยังคงมองหาการเข้าซื้อกิจการอย่างต่อเนื่องเพื่อขยายธุรกิจและตลาด รวมถึงสนับสนุนแผนการเปลี่ยนถ่ายการใช้พลังงานที่มีคาร์บอนต่ำ แต่ฟิทช์จะพิจารณาผลกระทบจากการเข้าซื้อกิจการขนาดใหญ่เป็นกรณีๆ ไป เนื่องจากความไม่แน่นอนซึ่งขึ้นอยู่กับโอกาสและการบรรลุข้อตกลงในการซื้อขาย

สถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง: ฟิทช์คาดว่าสถานะทางเงินของปตท. จะยังคงแข็งแกร่งอยู่ และสอดคล้องกับอันดับเครดิตปัจจุบันของบริษัทฯ แม้ว่าฟิทช์คาดการว่าค่าใช้เพื่อการลงทุนจะเพิ่มขึ้น รวมถึงราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจะปรับลดลงกลับมาอยู่ในระดับปกติ ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA net leverage) ของปตท. จะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยไปอยู่ที่ประมาณ 2 เท่าในปี 2566-2567 จาก 1.9 เท่าในปี 2565 เนื่องจากค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติกลับมาเป็นปกติ อัตราส่วนหนี้สินที่เพิ่มดังกล่าวยังคงสอดคล้องกับอันดับเครดิตปัจจุบันของบริษัทฯ

ธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมมุ่งเน้นก๊าซธรรมชาติ: ปตท. จะยังคงขยายธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมต่อไป ผ่านทางบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ปตท.สผ.; อันดับเครดิต BBB+ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ซึ่งเป็นบริษัทลูกในธุรกิจนี้ และจะมุ่งเน้นแหล่งก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก เพื่อทำให้การจัดหาก๊าซธรรมชาติสำหรับประเทศไทยมีความมั่นคงมากขึ้น และสนับสนุนการขยายห่วงโซ่มูลค่าของธุรกิจก๊าซธรรมชาติ (Gas value chain) แบบครบวงจรของบริษัทฯ โดยปตท.สผ. วางแผนที่จะเพิ่มการผลิตปิโตรเลียมในอัตราร้อยละ 6 ต่อปีในช่วงห้าปีข้างหน้า และเพิ่มให้ถึงประมาณ 7.9 แสนบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวันภายในปี 2570 (โดยในปี 2565 อยู่ที่ 5.8 แสนบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน) บริษัทฯ จะยังคงเน้นการผลิตก๊าซธรรมชาติ (มีสัดส่วนร้อยละ 73 ของการผลิตปิโตรเลียมทั้งหมดในปี 2565) ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงที่สำคัญในระหว่างการเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานจากแหล่งฟอสซิลไปสู่การใช้พลังงานทางเลือกอื่นๆ

การขยายห่วงโซ่มูลค่าของธุรกิจก๊าซธรรมชาติ (Gas value chain): ปตท. วางแผนที่จะเพิ่มการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (Liquefied Natural Gas) สำหรับการใช้ในประเทศและเพื่อการค้าระหว่างประเทศ เป็นประมาณ 9 ล้านตันต่อปี ภายในปี 2573 ซึ่งบริษัทฯ พยายามจะนำเข้าภายใต้สัญญาการซื้อขายระยะยาวเป็นหลัก โดยในปี 2565 ปตท. ได้เข้าทำสัญญาการซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลวระยะยาวปริมาณ 1 ล้านตันต่อปี ซึ่งจะเริ่มนำเข้าตั้งแต่ปี 2569 นอกจากนี้ ปตท. วางแผนที่จะสร้างโรงแยกก๊าซธรรมชาติโรงที่ 8 เพื่อเพิ่มมูลค่าการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว รวมถึงการขยายสถานีรับก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Receiving Terminal) และสิ่งก่อสร้างต่างๆ เพื่อสนับสนุนการเป็นศูนย์กลางการค้าของก๊าซธรรมชาติเหลวในภูมิภาค

ธุรกิจพลังงานใหม่: ปตท. มีแผนที่จะกระจายการลงทุนไปยังธุรกิจพลังงานในอนาคต เช่นพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียน ระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับรถพลังงานไฟฟ้า และธุรกิจพลังงานจากไฮโดรเจน รวมถึงไปยังธุรกิจใหม่ๆ เช่น วิทยาศาสตร์เพื่อชีวิตและการแพทย์ (Life Science) เทคโนโลยีและดิจิตอล และการขนส่งและโครงสร้างพื้นฐาน โดยบริษัทฯ มีแผนที่จะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็น 12,000 เมกะวัตต์ภายในปี 2573 กลุ่มปตท. วางแผนที่จะลงทุนในธุรกิจพลังงานในอนาคต และธุรกิจใหม่ๆ คิดเป็นประมาณร้อยละ 32 ของแผนเงินลงทุนในปี 2564-2573 และวางเป้าหมายว่ากำไรสุทธิจากธุรกิจใหม่ๆ เหล่านี้จะมีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 30 ของกำไรสุทธิทั้งหมดในปี 2573 จากปัจจุบันที่อยู่ในระดับน้อยมาก (น้อยกว่าร้อยละ 1 ในปี 2565)

ผู้นำที่แข็งแกร่งในธุรกิจก๊าซธรรมชาติ: ฟิทช์คาดว่า ปตท. จะยังคงเป็นผู้นำที่แข็งแกร่งในธุรกิจก๊าซธรรมชาติในประเทศไทย แม้ว่ารัฐบาลจะอนุญาตให้บริษัทอื่นๆ นำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวเข้ามาจัดจำหน่ายในประเทศ ก๊าซธรรมชาติเหลวที่นำเข้าเหล่านี้จะถูกจัดจำหน่ายแก่ผู้ใช้ ผ่านสถานีรับก๊าซธรรมชาติเหลว และระบบท่อก๊าซธรรมชาติ ซึ่งปัจจุบัน ปตท. เป็นผู้ดำเนินการแต่เพียงผู้เดียว โดย ปตท. จะคิดค่าบริการตามที่หน่วยงานกำกับธุรกิจพลังงานเป็นผู้กำหนด นอกจากนี้ การที่ปตท. มีสัญญาการซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลวระยะยาวกับผู้ผลิตในต่างประเทศ และมีประวัติการดำเนินงานในธุรกิจนี้อยู่แล้ว น่าจะทำให้บริษัทฯ มีความได้เปรียบในการแข่งขัน

กระแสเงินสดจากการดำเนินงานของธุรกิจก๊าซที่มีความสม่ำเสมอ: สถานะทางการเงินของ ปตท. ได้รับประโยชน์จากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของธุรกิจก๊าซธรรมชาติที่มีความสม่ำเสมอ ซึ่งได้แก่ธุรกิจท่อขนส่งก๊าซธรรมชาติและการขายก๊าซธรรมชาติให้แก่โรงไฟฟ้าและโรงแยกก๊าซ อันเป็นผลมาจากอุปสงค์ที่มีความมั่นคง และสัญญาการซื้อขายก๊าซธรรมชาติระยะยาวซึ่งมีการกำหนดปริมาณการซื้อขั้นต่ำจากคู่สัญญาในลักษณะ take-or-pay รวมถึงโครงสร้างราคาที่สามารถส่งผ่านต้นทุนการขายให้แก่ลูกค้าได้ กำไรจากธุรกิจโรงแยกก๊าซและการขายก๊าซธรรมชาติให้แก่โรงงานอุตสาหกรรม จะได้รับผลกระทบจากความผันผวนของราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติมากกว่า เนื่องจากการปรับราคาของต้นทุนก๊าซธรรมชาติตามสัญญาการซื้อขายระยะยาว จะช้ากว่าการปรับราคาของราคาผลิตภัณฑ์

การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป
อันดับเครดิตของปตท. จะยังคงเท่ากับอันดับเครดิตของประเทศไทย หากสถานะเครดิตโดยลำพังของปตท. ถูกปรับลงในอนาคต ภายใต้หลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตองค์กรที่มีความสัมพันธ์กับภาครัฐฯ ของฟิทช์ และฟิทช์พิจารณาว่าโอกาสในการได้รับการสนับสนุนภาย ใต้หลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตข้างต้นที่อยู่ในระดับสูง ไม่มีการเปลี่ยนแปลง

ฟิทช์มองว่าสัดส่วนการถือหุ้นและการควบคุมของภาครัฐฯ ต่อปตท. อยู่ในระดับสูง เช่นเดียวกันกับบริษัทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติอื่นๆ ที่ถือหุ้นส่วนใหญ่โดยภาครัฐฯ ในภูมิภาคเอเซีย อาทิ Oil India Limited (อันดับเครดิต BBB- แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) และ Korea Gas Corporation (อันดับเครดิต AA- แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ฟิทช์มองว่าการสนับสนุนจากภาครัฐฯ ต่อปตท. อยู่ในระดับสูง เช่นเดียวกันกับของ Petroliam Nasional Berhad (PETRONAS, อันดับเครดิต BBB+ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) โดยแม้ว่าที่ผ่านมาไม่ได้มีการสนับสนุนทางการเงินให้กับบริษัททั้งสอง เนื่องจากมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง ฟิทช์คาดว่าภาครัฐฯ น่าจะสนับสนุนทางการเงินให้ในกรณีที่บริษัทมีความต้องการ

ฟิทช์มองว่าผลกระทบต่อสังคมและการเมืองในกรณีที่บริษัทฯ ผิดนัดชำระหนี้ของปตท. อยู่ในระดับสูงมาก เช่นเดียวกันกับของ PETRONAS และ China National Petroleum Corporation's (CNPC, อันดับเครดิต A+ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) เนื่องจากทั้งสามบริษัทมีความสำคัญอย่างมากต่อเศรษฐกิจและภาครัฐฯ ของประเทศ

นอกจากนี้ฟิทช์คาดว่าการผิดนัดชำระหนี้อาจจะมีผลกระทบต่อการกู้ยืมของภาครัฐฯ และองค์กรที่มีความสัมพันธ์กับภาครัฐฯ อื่นๆ ของ ปตท. อยู่ในระดับสูง แต่อยู่ในระดับต่ำกว่ากว่าเมื่อเทียบกับ PETRONAS และ CNPC ที่อยู่ในระดับสูงมาก เนื่องจากบริษัททั้งสองมีสถานะเป็นผู้กู้ยืมที่ใกล้ความเป็นภาครัฐฯ มากกว่า ถึงแม้ว่า ปตท.จะเป็นรัฐวิสาหกิจรายหลักที่มีการกู้เงิน

สมมุติฐานที่สำคัญ
สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ

  • ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ ที่ราคา 85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2566, 75 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2567, 65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2568 และ 53 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2569 และปีถัดๆไป
  • ปริมาณการขายของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 ต่อปีโดยเฉลี่ย ในปี 2566-2570 (ปี 2565 เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.5)
  • EBITDA จากธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันและธุรกิจปิโตรเคมี ฟื้นตัวในปี 2566 เนื่องจากไม่มีการขาดทุนจากการบริหารความเสี่ยงน้ำมันที่สูงมาก
  • EBITDA จากธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ปรับตัวดีขึ้นปี 2566
  • ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนเพิ่มขึ้นในปี 2566-2567 (2565 มีการลงทุนทั้งสิ้น 2.1 แสนล้านบาท)
  • การจ่ายเงินปันผลประมาณร้อยละ 50-55 ของกำไร

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยบวก

  • การปรับเพิ่มอันดับเครดิตประเทศไทย หากความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทฯ กับประเทศไม่เปลี่ยนแปลง
    ปัจจัยลบ
  • การปรับลดอันดับเครดิตประเทศไทย

ปัจจัยที่อาจมีผลต่อการปรับลดอันดับเครดิตโดยลำพังของ ปตท.:

  • การลงทุนที่สูงโดยใช้เงินกู้ยืม หรือ กระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ต่ำกว่าที่คาด ซึ่งทำให้อัตราส่วน EBITDA Net Leverage สูงกว่า 2.5 เท่าอย่างต่อเนื่อง
  • การเปลี่ยนแปลงในเรื่องกฎระเบียบ การแก้ไขสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติและการปรับค่าผ่านท่อก๊าซที่ส่งผลกระทบในแง่ลบต่อ ปตท.

ปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับเครดิตในอนาคตของประเทศไทย ที่ได้ประกาศในรายงานลงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565
ปัจจัยบวก:

  • ด้านเศรษฐกิจมหภาค: การปรับตัวดีขึ้นของการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะปานกลาง โดยไม่ทำให้หนี้ภาคเอกชนเพิ่มขึ้นอย่างมาก
  • ด้านหนี้สาธารณะ: การลดหนี้สินของรัฐบาล (General Debt to GDP) เช่นอาจเกิดจากงบประมาณขาดดุลที่ลดลง และ/หรือการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะปานกลางที่ดีขึ้น
    ปัจจัยลบ:
  • ด้านหนี้สาธารณะ: การที่รัฐบาลไม่สามารถรักษาระดับหนี้สินของรัฐบาล (General Debt to GDP) ในคงที่ เช่นอาจเกิดจากงบประมาณที่ขาดดุลที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หรือแรงกดดันให้รัฐบาลต้องมีการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
  • ด้านโครงสร้าง: ความไม่มั่นคงทางการเมืองที่เกิดขึ้นในระดับที่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อประสิทธิภาพในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาล และการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ

สภาพคล่อง
สภาพคล่องที่แข็งแกร่ง: สภาพคล่องของปตท. ได้รับการสนับสนุนจากเงินสดจำนวน 3.5 แสนล้านบาท ณ สิ้นปี 2565 เมื่อเทียบกับหนี้ที่ครบกำหนดชำระในอีก 12 เดือนข้างหน้าจำนวน 1.6 แสนล้านบาท นอกจากนี้สภาพคล่องของบริษัทฯ ยังได้รับการสนับสนุนจากวงเงินสินเชื่อประเภท Committed ที่สามารถเบิกใช้ได้จำนวน 3.2 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นปี 2565 กระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง และสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ง่าย รวมทั้งบริษัทฯ ยังมีภาระการชำระคืนหนี้ที่บริหารจัดการได้ โดยมีอายุเฉลี่ยของหนี้ที่ครบกำหนดชำระประมาณ 10.7 ปี

ข้อมูลของบริษัท
ปตท. เป็นบริษัทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติครบวงจรของประเทศไทย บริษัทดำเนินธุรกิจครอบคลุมธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องทั้งหมดในธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ผ่านบริษัทลูกต่างๆ ได้แก่ธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติขั้นต้น ขั้นกลาง และขั้นปลาย ธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน ธุรกิจจำหน่ายน้ำมัน และธุรกิจปิโตรเคมี นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังดำเนินธุรกิจผลิตไฟฟ้าอีกด้วย ปตท.มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ทั้งทางตรงและทางอ้อมอยู่ร้อยละ 63

ที่มา: ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย)

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐ ธ.ค. ASMT ผนึก TFT ร่วมลงนามด้านวิชาการด้านอุตสาหกรรมการบิน
๒๐ ธ.ค. กรมวิชาการเกษตร เดินหน้า ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตอะโวคาโดคุณภาพ สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรกว่า 2 แสนบาท/ไร่
๒๐ ธ.ค. Dow มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ Personal Care ควบคู่ความยั่งยืน ตอบโจทย์ผู้บริโภคตลาดเครื่องสำอางในภูมิภาคเอเชีย
๒๐ ธ.ค. โอซีซี มอบความรู้ พัฒนาอาชีพให้ผู้ต้องขังหญิง
๒๐ ธ.ค. ดร.นุชนารถ ชลคงคา นำทีมสถาบัน ESTC จัดอบรมให้ Karmakamet
๒๐ ธ.ค. กนภ. เห็นชอบร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลไกสำคัญสู่เส้นทางเศรษกิจคาร์บอนต่ำ และมีภูมิคุ้มกันฯ
๒๐ ธ.ค. WePlay x คอลแลบตัวละครสุดปัง! พบกับมินิเกมใหม่ และการ์ตูนสุดน่ารักที่คุณจะต้องหลงรัก
๒๐ ธ.ค. เดลต้า ประเทศไทย และ WEnergy Global ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อขับเคลื่อนอนาคตพลังงานสีเขียว
๒๐ ธ.ค. ความภาคภูมิใจของ ไลอ้อน กับ 3 รางวัลแห่งเกียรติยศ เผยผลงานโดดเด่นกับหลายรางวัลที่ได้รับในปี 2567
๒๐ ธ.ค. NOBLE คว้าเรทติ้งสูงสุด ระดับ AAA SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ยกระดับองค์กรสู่ความยั่งยืนภายในแนวคิด Live Different ตามกรอบ