โครงการเก็บกล่องสร้างบ้านฯ มีเป้าหมายสำคัญ คือ การเพิ่มการตระหนักรู้และสร้างเครือข่ายรวบรวมจัดเก็บกล่องเครื่องดื่มใช้แล้วกลับมารีไซเคิลเป็นวัตถุดิบใหม่ ในการผลิตผลิตภัณฑ์รีไซเคิลให้กับธุรกิจอื่นๆ ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์ในหมวดวัสดุก่อสร้างสำหรับสร้าง "บ้าน" ไม่ว่าจะเป็นแผ่นหลังคา แผ่นพื้นไฟเบอร์ซีเมนต์ ฝาผนังบ้าน วงกบประตู และหน้าต่าง นำมามอบให้กับประชาชนที่ประสบปัญหาด้านที่อยู่อาศัยจากภัยธรรมชาติ หรือกรณีต่างๆ ในนามของโครงการ โดยโครงการนี้ต่อยอดมาจากโครงการหลังคาเขียวฯ ที่ดำเนินมากว่าสิบปี และจะดำเนินการในระยะที่ 1 ตั้งแต่ 1 กันยายน 2565 ไปจนถึง 31 สิงหาคม 2568
พิธีส่งมอบบ้านต้นแบบหลังแรกให้แก่ผู้ประสบภัยในครั้งนี้ ได้มีตัวแทนจากฝ่ายต่างๆ เข้าร่วมงาน ไม่ว่าจะเป็นกรรมการและผู้จัดการมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ผู้แทนจากสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี กองพันทหารช่างที่ 9 ค่ายสุรสีห์ องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านกุ่ม และหน่วยงานต่าง ๆ ที่อยู่ในภาคีเครือข่ายโครงการเก็บกล่องสร้างบ้าน เพื่อมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก โดยภายในงานได้มีการกล่าวถึงที่มาของโครงการเก็บกล่องสร้างบ้าน พันธกิจที่สำคัญของแต่ละหน่วยงานที่มาร่วมดำเนินการซ่อมแซมบ้านเพื่อผู้ประสบภัย และได้ส่งมอบวัสดุก่อสร้างที่ผลิตจากกล่องเครื่องดื่มใช้แล้วในโครงการเก็บกล่องสร้างบ้าน ได้แก่ แผ่นหลังคา จำนวน 32 แผ่น งานฝาผนังบ้าน จำนวน 19 แผ่น แผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์ จำนวน 15 แผ่น วงกบประตู 2 ชุด และหน้าต่าง 1 บาน ให้กับผู้ประสบภัยที่ตำบลบ้านกุ่ม อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี
นายฐิติวัฒน์ ว่องวรรณกุล กรรมการและผู้จัดการ มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย กล่าวว่า "มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ในปีนี้ดำเนินงานเข้าสู่ปีที่ 28 โดยมีพันธกิจในการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยอย่างครบวงจรและยั่งยืน สำหรับโครงการในครั้งนี้ไม่อาจสำเร็จและบรรลุวัตถุประสงค์ได้หากปราศจากความร่วมแรงร่วมใจของทุกๆ ภาคส่วนโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคีเครือข่ายโครงการเก็บกล่องสร้างบ้านทุกหน่วยงาน โดยเฉพาะกองพันทหารช่างที่ 9 กองพลทหารราบที่ 9 ที่เป็นหน่วยรับผิดชอบพื้นที่บรรเทาสาธารณภัยในพื้นที่นี้ รวมไปถึงอาสาสมัครที่ช่วยเก็บรวบรวมกล่องเครื่องดื่มใช้แล้วมาเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล และผลิตเป็นวัสดุก่อสร้าง"
"เต็ดตรา แพ้ค มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการมอบบ้านจากวัสดุรีไซเคิลที่ได้จากกล่องเครื่องดื่ม เพื่อเป็นการบรรเทาทุกข์ของผู้ประสบภัยในครั้งนี้" นายปฏิญญา ศิลสุภดล ผู้อำนวยการฝ่ายความยั่งยืน บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า "เราอยากให้โครงการเก็บกล่องสร้างบ้าน ช่วยจุดประกายให้ทุกคนได้รู้ว่าทุกส่วนใน "กล่องเครื่องดื่ม" สามารถนำกลับมา "รีไซเคิล" ได้ และในวันนี้การรีไซเคิล "กล่องเครื่องดื่ม" ไม่ได้เป็นแค่การช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยลงจากการที่ไม่นำกล่องเครื่องดื่มใช้แล้วไปเผาหรือฝังกลบ แต่ยังมีส่วนช่วยเหลือผู้ประสบภัยและผู้ที่ขาดโอกาสได้ ซึ่งเป็นการขยายผลจากการดูแลสิ่งแวดล้อมไปสู่ความร่วมมือร่วมใจเพื่อประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม"
"ผมขอขอบคุณทุกหน่วยงาน ที่เข้ามาช่วยเหลือซ่อมแซมบ้านให้ผมและครอบครัว ที่ผ่านมา เวลาเกิดน้ำท่วมทุกคราว ครอบครัวของผมได้รับความลำบากมากครับ วันนี้ ผมได้รู้แล้วว่า กล่องนมที่ดื่มหมดไป ทำให้ผมมี "บ้าน" หลังใหม่ ความช่วยเหลือครั้งนี้ ผมและครอบครัวจะไม่มีวันลืมครับ" นายอำนาจ เทศทอง ผู้ประสบภัยรับมอบ "บ้านต้นแบบ" เพื่อผู้ประสบภัย ตำบลบ้านกุ่ม อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวขอบคุณทิ้งท้าย
การร่วมกันของพันธมิตรหลัก และผู้สนับสนุนกลุ่มธุรกิจรีไซเคิล ได้แก่ บริษัท อีโค่ เฟรนด์ลี่ ไทย จำกัด บริษัท รีไซโคเอ็กซ์ จำกัด บริษัท แอดวานซ์ แมท จำกัดบริษัท เอ็ม.บี.เจ.เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด และ บริษัท ไฟเบอร์พัฒน์ จำกัด รวมทั้งสิ้น 14 ราย ในโครงการ "เก็บกล่องสร้างบ้านเพื่อมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก" ได้ตั้งเป้าหมายในปีนี้สำหรับการเก็บเครื่องดื่ม 10 ล้านกล่องเพื่อผู้ประสบภัย ผู้สนใจสามารถร่วมบริจาคกล่องเครื่องดื่มใช้แล้ว ให้กับโครงการเก็บกล่องสร้างบ้าน ได้ที่จุดรับกล่องในห้างค้าปลีกบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์สาขาใหญ่ทุกสาขาทั่วประเทศ สถานีบริการน้ำมันบางจากนำร่องในกรุงเทพมหานคร รวมไปถึงศูนย์การค้าเซ็นทรัลและอาคารสำนักงานในเครือนำร่อง 18 แห่งในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล หรืออ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://bit.ly/3PFqrcZ
ดูรายละเอียดที่ www.facebook.com/Thaigreenshelter เพื่อสมัครเป็นอาสาเก็บกล่อง โดยสอบถามและติดต่อโครงการได้ที่ 02 -747 8881 อีเมล: [email protected]
ที่มา: มิดัส คอมมิวนิเคชั่น อินเตอร์เนชั่นเนล