โดยการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินการเครือข่ายโรงเรียนเด็กไทยฟันดี ในครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อถอดบทเรียนความสำเร็จการเสริมสร้างสมรรถนะของนักเรียนทั้งในด้านการศึกษาและด้านสุขภาพช่องปาก และขับเคลื่อนกิจกรรมในปีการศึกษา 2566 ผ่านโครงการโรงเรียนผู้พิทักษ์ฟันดีรุ่น 3 ในโรงเรียนประถมศึกษาให้ครอบคลุมในทุกเขตพื้นที่การศึกษา อีกทั้ง มีกิจกรรมพิเศษ การประกวด LIKE Talk Award (เรื่องเล่าเร้าพลัง) สำหรับโรงเรียนผู้พิทักษ์ฟันดี รุ่น 2 ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ให้นักเรียน ได้มีส่วนร่วมในการส่งต่อเรื่องราว ข้อมูล ความรู้ที่ได้จากโครงการ โดยมีการคัดเลือกตัวแทนโรงเรียนที่เข้ารอบ 5 โรงเรียน จากผู้สมัครเข้าแข่งขันทั่วประเทศ เพื่อมาประกวดรอบชิงชนะเลิศ ในวันนี้
ในส่วนของเนื้อหาการประชุมได้มีการรายงาน ผลการเฝ้าระวังทันตสุขภาพและปัจจัยเสี่ยงกลุ่มเด็กวัยเรียน ปี 2565 โดยสำนักทันตสาธารณสุข พบว่าเด็กอายุ 12 ปี ปราศจากโรคฟันผุ ร้อยละ 64.7 มีสภาวะเหงือกอักเสบ ร้อยละ 20.5 ซึ่งสาเหตุสำคัญเกิดจากการมีพฤติกรรมดูแลสุขภาพช่องปากที่ไม่เหมาะสม และมีพฤติกรรมบริโภคอาหารที่เสี่ยงต่อฟันผุ
นโยบายการสร้างเสริมสุขภาพช่องปากและความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงสาธารณสุข กำกับติดตามการขับเคลื่อนนโยบายในโรงเรียนประถมศึกษา ผ่านประกาศกระทรวงศึกษาธิการ ปี 2563 เรื่อง มาตรการและแนวทางการสร้างเสริมความรอบรู้และทักษะในการดูแลสุขภาพช่องปากและการเลือกรับบริการทันตกรรม และประกาศสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานว่าด้วยการจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งเสริมสุขภาพของสถานศึกษา พ.ศ.2564 เชื่อมโยงกับการพัฒนาศักยภาพเด็กไทยในศตวรรษที่ 21 เก่ง ดี มีทักษะ แข็งแรง ซึ่งจากการวิเคราะห์ปัญหาพบว่าการเรียนการสอนแบบเดิม มีข้อจำกัดในการฝึกทักษะในการคิด และไม่นำไปสู่การเกิดสมรรถนะและคุณลักษณะที่พึงประสงค์ด้านสุขภาพช่องปากได้ กรมอนามัย โดยสำนักทันตสาธารณสุข ร่วมกับ กลุ่มวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการจัดการเรียนการสอน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ จึงพัฒนาและขับเคลื่อนการจัดกระบวนการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) ในการพัฒนาสมรรถนะการดูแลสุขภาพช่องปากเด็กวัยเรียน ผ่านกิจกรรมเครือข่ายโรงเรียนเด็กไทยฟันดีและโรงเรียนผู้พิทักษ์ฟันดี เชื่อมโยงการจัดการสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนและชุมชนให้เอื้อต่อการมีสุขภาพช่องปากที่ดีไปกับระบบการศึกษาในโรงเรียนที่มีคุณภาพ โดยความร่วมมือระหว่างครู ผู้ปกครอง นักเรียน ชุมชน รวมทั้งทันตบุคลากรในพื้นที่ อีกทั้งยังส่งเสริมให้นักเรียนเข้าสู่ระบบบริการสร้างเสริมสุขภาพช่องปากตามสิทธิประโยชน์และความจำเป็น
ในระยะแรกเป็นการพัฒนาและทดลองใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้เชิงรุกด้านสุขภาพช่องปาก โดยครูจัดกระบวนการเรียนการสอน จำนวน 8 ชั่วโมง ร่วมกับใช้ดิจิตัลแพลตฟอร์มส่งเสริมองค์ความรู้ด้านสุขภาพช่องปาก ซึ่งมีผู้เข้าใช้งานจำนวน 185,700 ครั้ง โรงเรียนเข้าร่วมกิจกรรมโรงเรียนผู้พิทักษ์ฟันดี ทั้ง 2 รุ่น รวม 1,522 โรงเรียน นักเรียนจำนวน 35,178 คน มีความรอบรู้ด้านสุขภาพช่องปากร้อยละ 90.8 (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 27.5) และนักเรียนมีพฤติกรรมสุขภาพช่องปากที่พึงประสงค์ แปรงฟัน 222 ร้อยละ 79.7 (เพิ่มขึ้นร้อยละ 36.5) จากกิจกรรมดังกล่าวนักเรียนได้รับความรู้และฝึกทักษะที่จำเป็นสำหรับการดูแลสุขภาพตนเองและครอบครัว ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่เน้นให้เด็ก ได้ลงมือทำและได้คิดในสิ่งที่ทำลงไป เป็นการสร้างประสบการณ์ตรงให้เกิดขึ้นแก่นักเรียน นำไปสู่การมีพฤติกรรมสุขภาพช่องปากที่พึงประสงค์ต่อไป
ทั้งนี้สามารถติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวของโครงการโรงเรียนผู้พิทักษ์ฟันดีรุ่น 3 และกิจกรรมอื่นๆของสำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย ได้ที่ Facebook สำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย
ที่มา: CHOMPHOPR