จุฬาฯ ผนึกกำลังสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ชู "ผลิตภาพนิยามใหม่" ยกระดับคุณภาพบัณฑิตและบุคลากรวัยทำงาน ผ่าน CUGS Academy

ศุกร์ ๒๘ เมษายน ๒๐๒๓ ๑๐:๑๓
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ผนึกความร่วมมือทางวิชาการเพื่อร่วมกันพัฒนาหลักสูตรการจัดการศึกษาตลอดชีวิต (Lifelong Learning) ภายใต้โครงการบริการวิชาการการจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต และสหวิทยาการ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ CUGS Academy: Lifelong Learning and Interdisciplinary Graduate School, Chulalongkorn University โดยมี ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 27 เมษายน 2566 ณ ห้องประชุมชั้น 7 สำนักงานวิทยทรัพยากร จุฬาฯ

ในงานมีการเปิดตัวหลักสูตรเชิงปฏิบัติการด้านการเพิ่มผลผลิต จำนวน 28 หลักสูตร เพื่อพัฒนาศักยภาพนิสิต บัณฑิตจบใหม่ และบุคคลเพิ่งเริ่มทำงาน โดย รศ.ดร.ธิติ บวรรัตนารักษ์ ผู้อำนวยการ CUGS Academy และรองคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคุณพรพิมลพรรณ ดวงใจบุญ ผู้จัดการส่วนบริการฝึกอบรมและสัมมนา สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ให้คำแนะนำหลักสูตร และขั้นตอนการ เข้าเรียน การเก็บ portfolio

ความร่วมมือทางวิชาการระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับคุณภาพวิชาชีพของบัณฑิตรุ่นใหม่และบุคลากรในภาคแรงงานไทยให้ประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงขึ้น โดยผสานความร่วมมือพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้ตลอดชีวิตภายใต้ CUGS Academy สถาบันและแพลตฟอร์มเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่ดำเนินการโดยบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาฯ ซึ่งมีการเปิดตัวหลักสูตรนำร่องจำนวน 28 หลักสูตร โดยอาศัยความรู้ ความชำนาญจากผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์โดยสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ เพื่อผลิตบัณฑิตยุคใหม่ให้มีทักษะที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม อาทิ ทักษะด้าน Lean Process ด้าน Six sigma ด้าน Project Management เป็นต้น ผนวกกับเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศเพื่ออนุเคราะห์สถานที่ดูงาน ฝึกงานสำหรับผู้เข้าเรียนในหลักสูตรการเรียนรู้ตลอดชีวิตภายใต้ความร่วมมือของ 2 องค์กร นอกเหนือไปจากการนำความรู้และทักษะไปใช้พัฒนาตนเองให้มีสมรรถนะตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมแล้ว ผู้เรียนยังสามารถนำผลลัพธ์การเรียนรู้ที่ได้จากการเข้าอบรมแต่ละหลักสูตร มาสะสมในคลังหน่วยกิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและคลังหน่วยกิตแห่งชาติ (NCBS - National Credit Bank System) เพื่อขอเทียบโอนสำหรับขอสำเร็จการศึกษาต่อไป

ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงความมุ่งมั่นของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยต่อการส่งเสริมโอกาสในการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ และการขยายโอกาสทางการศึกษาให้ก้าวหน้า ภายใต้ความร่วมมือของสองหน่วยงานว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมุ่งมั่นที่จะเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตที่ส่งเสริมโอกาสในการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตของนิสิต บุคลากร นิสิตเก่า และประชาชนทั่วไป และมีองค์ความรู้สำคัญสำหรับพัฒนาชุมชน สังคม และประเทศที่มั่นคงภายใต้การเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งการพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้ตลอดชีวิตระหว่างบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาฯ กับสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติในครั้งนี้ ถือเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์การเรียนรู้ตลอดชีวิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ต้องยกระดับความเข้มแข็งของเครือข่ายความร่วมมือ สร้างกลไกการบริหารจัดการและร่วมกันพัฒนาระบบการให้บริการ การสร้างความหลากหลายของ องค์ความรู้แก่ผู้เรียน เป็นการสนับสนุนการดำเนินการในด้านการเรียนรู้ตลอดชีวิต

นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ กล่าวว่า ภายใต้ความร่วมมือระหว่างสถาบันเพิ่มผลิตแห่งชาติ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในครั้งนี้ เป็นโอกาสสำคัญในการขยายแนวคิด ผลิตภาพนิยามใหม่ ให้มีความครอบคลุมและเข้าถึงกลุ่มนิสิตนักศึกษา บัณฑิตที่จบใหม่ และบุคลากรวัยพร้อม เริ่มงาน ตลอดจนประชาชนทั่วไป การนำองค์ความรู้ที่มีอยู่ของจุฬาฯ มาใช้ร่วมกับภาคอุตสาหกรรมที่เป็นเครือข่ายของสถาบันเพิ่มผลผลิตจะช่วยระดับของผู้ประกอบการกลุ่มนี้ให้ได้ประโยชน์จากการเรียนรู้ตลอดชีวิต สามารถทำงานไปเรียนรู้ไป เก็บสะสมองค์ความรู้จนสามารถทำให้องค์กรเติบโต ประเทศก็จะก้าวหน้า ในแง่ของคนรุ่นใหม่ที่สนใจภาคธุรกิจที่เรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยก็สามารถเข้ามาเรียนแล้วเก็บเป็นโปรไฟล์ให้กับตนเอง สะสมสิ่งที่อยากรู้ เป็นการเปิดกว้างให้แต่ละคนมีทางเลือกให้กับชีวิตและสามารถกำหนดเส้นทางอนาคตให้กับตนเองได้ เป็นการยกระดับศักยภาพของบุคลากรไทยในอนาคต

"หลักสูตรการศึกษาตลอดชีวิตภายใต้โครงการบริการวิชาการ การจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต และ สหวิทยาการ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ได้รับการพัฒนาขึ้นมา 5 ด้าน ประกอบด้วย Strategic Management, Customer & Marketing Management, Workforce Management, Self-Development และ Operational Excellence ในรูปแบบ E-Training, Workshop onsite และ Site visit ในสถานประกอบการจริง รวม 28 หลักสูตร ซึ่งจะทำให้เกิดทักษะ ประสบการณ์ และยังนำไปสู่การสะสมประวัติการเรียนรู้ หรือ Portfolio ของตัวเอง อีกทั้งยังสามารถนำไปใช้เทียบโอนหน่วยกิตได้ อีกด้วย พร้อมทั้งสามารถยกระดับวิชาชีพของบุคลากรของไทยให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับอนาคตของบุคลากรไทย" นายสุวรรณชัยกล่าว

รศ.ดร.ยุทธนา ฉัพพรรณรัตน์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาฯ กล่าวถึงความสำคัญของการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ว่า ถือเป็นโอกาสสำคัญที่จะขยายองค์ความรู้ในระดับอุดมศึกษาให้ตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรม โดยเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง รับการถ่ายทอดความรู้ ความชำนาญจากผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์จากอุตสาหกรรมหลายแขนง รวมถึงเข้าศึกษาดูงานในพื้นที่ของการปฏิบัติงานจริง ทั้งในโรงงานหรือกิจการ ขนาดใหญ่และขนาดกลาง เพื่อเสริมสร้างประสบการณ์ให้กับผู้เรียนนอกจากการเรียนรู้ภาควิชาการช่วยเพิ่มพูนทักษะและศักยภาพให้พร้อมสอดคล้องความต้องการของตลาดแรงงานยุคใหม่

ทั้งนี้นิสิต นักศึกษา บัณฑิตจบใหม่ หรือบุคคลทั่วไปที่สนใจ จะพัฒนาตนเองและต่อยอดการเรียนรู้
ตลอดชีวิตพร้อมกันกับหลากหลายองค์ความรู้ ผ่านแพลตฟอร์ม CUGS Academy สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ https://cugs.academy/

ที่มา: ศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐ ธ.ค. ASMT ผนึก TFT ร่วมลงนามด้านวิชาการด้านอุตสาหกรรมการบิน
๒๐ ธ.ค. กรมวิชาการเกษตร เดินหน้า ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตอะโวคาโดคุณภาพ สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรกว่า 2 แสนบาท/ไร่
๒๐ ธ.ค. Dow มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ Personal Care ควบคู่ความยั่งยืน ตอบโจทย์ผู้บริโภคตลาดเครื่องสำอางในภูมิภาคเอเชีย
๒๐ ธ.ค. โอซีซี มอบความรู้ พัฒนาอาชีพให้ผู้ต้องขังหญิง
๒๐ ธ.ค. ดร.นุชนารถ ชลคงคา นำทีมสถาบัน ESTC จัดอบรมให้ Karmakamet
๒๐ ธ.ค. กนภ. เห็นชอบร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลไกสำคัญสู่เส้นทางเศรษกิจคาร์บอนต่ำ และมีภูมิคุ้มกันฯ
๒๐ ธ.ค. WePlay x คอลแลบตัวละครสุดปัง! พบกับมินิเกมใหม่ และการ์ตูนสุดน่ารักที่คุณจะต้องหลงรัก
๒๐ ธ.ค. เดลต้า ประเทศไทย และ WEnergy Global ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อขับเคลื่อนอนาคตพลังงานสีเขียว
๒๐ ธ.ค. ความภาคภูมิใจของ ไลอ้อน กับ 3 รางวัลแห่งเกียรติยศ เผยผลงานโดดเด่นกับหลายรางวัลที่ได้รับในปี 2567
๒๐ ธ.ค. NOBLE คว้าเรทติ้งสูงสุด ระดับ AAA SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ยกระดับองค์กรสู่ความยั่งยืนภายในแนวคิด Live Different ตามกรอบ