เกษตรอินทรีย์ดีเด่นแห่งชาติปี 2566 พลิกชีวิตจากนักธุรกิจสู่เกษตรกรต้นแบบมืออาชีพ

ศุกร์ ๒๘ เมษายน ๒๐๒๓ ๑๔:๕๐
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ในปี 2566 นอกจากกรมวิชาการเกษตรจะคัดเลือกเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติสาขาการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช (GAP) เพื่อเข้ารับพระราชทานโล่รางวัลในงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ณ พลับพลาที่ประทับมณฑลพิธีท้องสนามหลวงแล้วยังคัดเลือกเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติสาขาเกษตรอินทรีย์ ด้วย โดยผู้ที่ได้รับรางวัลเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติสาขาเกษตรอินทรีย์ในปี 2566 คือ นายธนิต สมแก้ว เกษตรกร ตำบลท่าแค อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง

นายธนิต ประกอบอาชีพเป็นนักธุรกิจมานานกว่า ๓๐ ปี เมื่ออายุครบ ๖๐ ปี ต้องการเกษียณตัวเองและอยากจะมีอาหารที่ปลอดภัยจากสารพิษไว้บริโภค เนื่องจากเห็นว่าในปัจจุบันอาหารที่จำหน่ายในท้องตลาดมีสารเคมีตกค้างมาก จึงมีความคิดที่จะ "เปลี่ยนความกลัวในการบริโภคอาหารที่ไม่ปลอดภัยมาสู่การทำการเกษตรที่ปลอดภัยด้วยตนเอง" โดยนำความรู้ที่ได้ศึกษามาและสอบถามจากผู้รู้ในพื้นที่นำมาใช้ภายในแปลง พร้อมกับเริ่มวางแผนผังและระบบน้ำภายในแปลง ส่วนการปลูกพืชนั้นได้แยกเป็น ๒ ส่วน คือส่วนที่ไว้บริโภคและลดรายจ่าย กับส่วนที่ไว้สร้างรายได้ในครัวเรือน พร้อมกับติดต่อศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพัทลุง กรมวิชาการเกษตรเพื่อขอรับรองแหล่งผลิตพืช GAP โดยได้รับการรับรองพืช มะละกอ ตะไคร้และกล้วยหอม หลังจากนั้นได้ขอปรับเปลี่ยนพื้นที่เข้าสู่ระบบเกษตรอินทรีย์จนได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ในปี 2564

ดินเป็นหัวใจของการปลูกพืช หากมีธาตุอาหารในดินที่เพียงพอจะทำให้พืชเจริญเติบโตดี แข็งแรง ต้านทานต่อโรคและแมลง ถือปัจจัยสำคัญที่เป็นองค์ประกอบในการผลิตพืชอินทรีย์มีคุณภาพ แต่ปัญหาส่วนใหญ่ในการผลิตพืชอินทรีย์ที่สวนมังกรทองของนายธนิตคือดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ และมีความเป็นกรดสูง จึงทำการปรับปรุงดินโดยเติมอินทรียวัตถุ ๖ ตัน/ไร่ และยังผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากขยะอินทรีย์ภายในแปลงใช้เอง ซึ่งมีการผลิตปีละ ๓๐๐ ตัน จากการทำปุ๋ยอินทรีย์ที่ผลิตเองภายในแปลง ทำให้ดินกลับมามีความอุดมสมบูรณ์มีอินทรียวัตถุและธาตุอาหารในดินสูง สามารถเพาะปลูกพืชได้ผลดี

นอกจากนี้ ยังมีการปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันการพังทลายของตลิ่งและลดการชะล้างหน้าดิน ปลูกพืชตระกูลถั่ว ปอเทืองและเลี้ยงแหนแดง เพื่อปรับปรุงดิน รวมทั้งยังมีการเติมน้ำหมักจุลินทรีย์ท้องถิ่นร่วมกับปุ๋ยหมัก เพื่อปรับปรุงดินอีกทางหนึ่งด้วย จากการที่ภายในแปลงมีการปรับปรุงบำรุงดินอย่างสม่ำเสมอ ทำให้พืชมีความสมบูรณ์และให้ผลผลิตสูง โดยเฉพาะมะละกอ มีรสหวานฉ่ำ และมีกลิ่นหอม จนร้านค้าในจังหวัดพัทลุงให้ฉายาว่า "papaya aroma"

การควบคุมโรคและแมลงศัตรูพืชนายธนิตเน้นการป้องกัน มีการสำรวจการระบาดของศัตรูพืชและสภาพการเจริญเติบโตของพืช ใช้จุลินทรีย์ธรรมชาติและน้ำหมักจุลินทรีย์ ๗ ชนิด เพื่อป้องกันศัตรูพืช เช่น น้ำหมักพืช น้ำหมักผลไม้สุก น้ำหมักสมุนไพร น้ำหมักนมเปรี้ยว น้ำหมักเปลือกไข่ น้ำหมักกระดูกสัตว์ น้ำหมักรกหมู ซึ่งน้ำหมักแต่ละประเภท จะมีคุณสมบัติแตกต่างกัน เป็นการเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนการผลิตในการซื้อฮอร์โมน วิตามิน และสารกำจัดแมลงศัตรูพืชภายในแปลง โดยใช้น้ำหมัก ๒ ช้อนโต๊ะต่อน้ำ ๑๐ ลิตร และเชื้อราขาวฉีดพ่นทุก ๖ เดือน รวมทั้งยังปลูกพืชหมุนเวียนเพื่อตัดวงจรชีวิตของศัตรูพืช และกำจัดวัชพืชเพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมของศัตรูพืช

การจัดการผลผลิตมีการควบคุมคุณภาพผลผลิตให้ได้ขนาด เก็บเกี่ยวผลผลิตตามอายุที่เหมาะสมของพืชและผลผลิตมีคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาดและรสชาติดี ไม่มีการปนเปื้อนในระหว่างการจัดการผลผลิต ซึ่งภายในแปลงจะมีห้องสำหรับทำความสะอาด และห้องคัดแยกเกรดผลผลิตในโรงคัดแยกที่สะอาด โดยคัดแยกผลผลิตที่เสียหายและไม่ได้คุณภาพออกก่อนนำไปจำหน่าย ล้างผลผลิตด้วยน้ำสะอาด และห่อผลผลิตด้วยวัตถุกันกระแทกก่อนบรรจุลงกล่อง พร้อมกับหาช่องทางการตลาดใหม่ๆมาโดยตลอด มะละกอและกล้วยหอมเกรด A จะส่งขายในห้างสรรพสินค้าและร้านค้าในพื้นที่ เช่น แมคโคร โลตัส ร้านอาหารหลานตาชูและร้านมังกรทองโฮมมาร์ท เกรดรองลงมาจะขายให้กับพ่อค้าทั่วไป ส่วนผลผลิตที่ไม่ได้คุณภาพจะนำไปทำปุ๋ยหมักและเป็นอาหารสัตว์ภายในแปลง นอกจากนี้ยังวางแผนการผลิตโดยปลูกพืชยืนต้นแซมพืชอายุสั้น เพื่อสร้างรายได้ให้กับสวน โดยในปี 2565 มีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิต 420,000 บาท

จากความมุ่งมั่นในการทำการเกษตรจนกลายเป็นแบบอย่างของคนอื่นๆ ได้เรียนรู้และพัฒนาตนเองตลอดเวลา มีความวิริยะอุตสาหะ และมีความแน่วแน่ในการที่จะก้าวไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ คือการทำเกษตรอินทรีย์ให้ประสบความสำเร็จเพื่อเป็นแบบอย่างให้กับคนในชุมชน ทำให้สามารถจำหน่ายผลผลิตได้ตลอดทั้งปี สร้างรายได้สร้างอาชีพใหม่ให้แก่คนในชุมชน และคนที่สนใจทั่วไป ทำให้นายธนิตได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นคณะกรรมการสำคัญและประธานกลุ่มองค์กร ได้แก่ ประธานกลุ่มเกษตรธรรมชาติและเกษตรอินทรีย์ รวมทั้งได้นำแปลงเกษตรของตนเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตามรอยพ่อ เป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับชุมชนและบริเวณใกล้เคียง มีทั้งบุคคลทั่วไป สถานศึกษา ผู้นำชุมชน รวมถึงชาวต่างชาติเข้ามาศึกษาดูงานด้านการผลิตพืชอินทรีย์จำนวนมาก

ที่มา: กรมวิชาการเกษตร

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐ ธ.ค. ASMT ผนึก TFT ร่วมลงนามด้านวิชาการด้านอุตสาหกรรมการบิน
๒๐ ธ.ค. กรมวิชาการเกษตร เดินหน้า ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตอะโวคาโดคุณภาพ สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรกว่า 2 แสนบาท/ไร่
๒๐ ธ.ค. Dow มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ Personal Care ควบคู่ความยั่งยืน ตอบโจทย์ผู้บริโภคตลาดเครื่องสำอางในภูมิภาคเอเชีย
๒๐ ธ.ค. โอซีซี มอบความรู้ พัฒนาอาชีพให้ผู้ต้องขังหญิง
๒๐ ธ.ค. ดร.นุชนารถ ชลคงคา นำทีมสถาบัน ESTC จัดอบรมให้ Karmakamet
๒๐ ธ.ค. กนภ. เห็นชอบร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลไกสำคัญสู่เส้นทางเศรษกิจคาร์บอนต่ำ และมีภูมิคุ้มกันฯ
๒๐ ธ.ค. WePlay x คอลแลบตัวละครสุดปัง! พบกับมินิเกมใหม่ และการ์ตูนสุดน่ารักที่คุณจะต้องหลงรัก
๒๐ ธ.ค. เดลต้า ประเทศไทย และ WEnergy Global ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อขับเคลื่อนอนาคตพลังงานสีเขียว
๒๐ ธ.ค. ความภาคภูมิใจของ ไลอ้อน กับ 3 รางวัลแห่งเกียรติยศ เผยผลงานโดดเด่นกับหลายรางวัลที่ได้รับในปี 2567
๒๐ ธ.ค. NOBLE คว้าเรทติ้งสูงสุด ระดับ AAA SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ยกระดับองค์กรสู่ความยั่งยืนภายในแนวคิด Live Different ตามกรอบ