อิเคดะสนับสนุนการยกเลิกอาวุธนิวเคลียร์อย่างแข็งขันมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1960 และมองว่าการประชุมสุดยอดกลุ่ม G7 ที่เมืองฮิโรชิมาในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสในการสานต่อการเคลื่อนไหวอย่างแน่วแน่มั่นคงของฮิบากุฉะ (Hibakusha) หรือผู้รอดชีวิตจากการทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ที่ฮิโรชิมาและนางาซากิ รวมถึงความมุ่งมั่นของคนกลุ่มนี้ที่จะไม่ยอมให้ผลพวงอันน่าเศร้าจากอาวุธนิวเคลียร์เกิดขึ้นอีก
เขากล่าวว่า "ในขณะที่ผู้นำกลุ่ม G7 ได้กลับมาทบทวนผลพวงที่แท้จริงของการใช้อาวุธนิวเคลียร์และบทเรียนอันขมขื่นของยุคนิวเคลียร์นั้น ผมขอให้พวกเขาเริ่มใคร่ครวญอย่างจริงจังเรื่องการให้คำมั่นว่าจะปฏิบัติตามนโยบาย No First Use เพื่อให้การรับรู้ร่วมกันถึงความร้ายแรงของอาวุธนิวเคลียร์ที่ไม่อาจยอมรับได้นั้น สามารถสะท้อนผ่านการเปลี่ยนแปลงนโยบายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง"
เขาเตือนว่า ความตั้งใจในการห้ามใช้อาวุธนิวเคลียร์ในกลุ่มประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์กำลังสั่นคลอน ขณะที่กรอบการทำงานเพื่อจัดการและลดจำนวนอาวุธนิวเคลียร์ก็ใกล้จะพังทลาย ดังนั้นจึงมีความจำเป็นยิ่งกว่าที่เคยที่จะต้องผลักดันนโยบาย No First Use ให้เกิดขึ้น
ในกรณีของยูเครนนั้น อิเคดะเรียกร้องให้การประชุมสุดยอดที่ฮิโรชิมาช่วย "สร้างความหวัง" ด้วยการหาทางยุติการโจมตีโครงสร้างพื้นฐานของพลเรือนทันที และจัดทำแผนการเจรจาที่เป็นรูปธรรมเพื่อนำไปสู่การยุติการสู้รบ
เขาเน้นย้ำว่าตัวแทนจากภาคประชาสังคม เช่น แพทย์และนักการศึกษา ซึ่งมีหน้าที่ปกป้องชีวิตและอนาคตของประชาชน ควรได้เข้าร่วมการเจรจาในฐานะผู้สังเกตการณ์ด้วย
อิเคดะได้อ้างอิงผลงานของแพทย์ทั้งสองฝ่ายในสงครามเย็น ซึ่งร่วมกันก่อตั้งสมาพันธ์แพทย์นานาชาติเพื่อยับยั้งสงครามนิวเคลียร์ (International Physicians for the Prevention of Nuclear War หรือ IPPNW) ในช่วงต้นทศวรรษ 1980 และได้มารวมตัวกันที่เมืองฮิโรชิมาภายใต้สโลแกน "ใช้ชีวิตไปด้วยกัน ไม่ใช่ตายไปด้วยกัน" (Let us Live Together, Not Die Together) และด้วยจิตวิญญาณเดียวกันนี้ เขาได้สรุปว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่ต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ไปสู่ "ความมั่นคงร่วมกัน" ของมวลมนุษยชาติ
ครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 3 ในรอบปีที่ผ่านมาที่อิเคดะ นักเคลื่อนไหวผู้สนับสนุนการยกเลิกอาวุธนิวเคลียร์มาอย่างยาวนาน ได้เรียกร้องให้ใช้นโยบาย No First Use โดยเขาผลักดันให้มีการประกาศนโยบายนี้เป็นครั้งแรกในปี 1975 หลังจากเดินทางไปพบบรรดาผู้นำและนักคิดที่มีบทบาทสำคัญใน 5 ประเทศที่ประกาศตัวว่ามีอาวุธนิวเคลียร์
สามารถอ่านแถลงการณ์ฉบับเต็มได้ที่ https://www.daisakuikeda.org/sub/resources/works/lect/2023apr27-g7-hiroshima-stmt.html
สมาคมสร้างคุณค่า (Soka Gakkai) เป็นองค์กรชาวพุทธระดับโลกที่ส่งเสริมสันติภาพ วัฒนธรรม และการศึกษา โดยไดซาขุ อิเคดะ (ค.ศ. 1928-ปัจจุบัน) เป็นประธานสมาคมสร้างคุณค่าสากล (Soka Gakkai International) ซึ่งเป็นองค์กรระดับโลกของสมาคมสร้างคุณค่า และเป็นองค์กรนอกภาครัฐที่มีสถานะเป็นที่ปรึกษาของคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (UN ECOSOC) ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลา 40 ปีที่ผ่านมา อิเคดะได้เขียนข้อเสนอและแถลงการณ์มากมายเพื่อแนะแนวทางที่เป็นรูปธรรมในการแก้ไขปัญหาอันซับซ้อนที่มวลมนุษยชาติต้องเผชิญ
สามารถอ่านข้อเสนอของอิเคดะได้ที่ https://www.daisakuikeda.org/sub/resources/works/props/
ที่มา: สมาคมสร้างคุณค่า
ติดต่อ:
ยูกิ คาวานากะ (Yuki Kawanaka)
สำนักงานประชาสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
สมาคมสร้างคุณค่า
โทร: +81-80-5957-4919
อีเมล: kawanaka[at]soka.jp