นายไทภัทร ธนสมบัติกุล ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กทม.กล่าวว่า สจส.ได้ประสานความร่วมมือสำนักงานตำรวจแห่งชาติอย่างต่อเนื่องในการบังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ.การจราจรทางบก พ.ศ.2522 อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะกับผู้ที่ไม่จอดรถให้คนเดินข้ามถนนบริเวณทางข้าม ขณะเดียวกันได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายรณรงค์เสริมสร้างความปลอดภัยการใช้ทางข้าม และ สจส.ยังได้นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายด้วยการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ตรวจจับผู้ฝ่าผืนไม่จอดรถให้คนเดินข้ามถนนบริเวณทางข้าม และส่งข้อมูลภาพผู้กระทำผิดให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีจับปรับตามกฎหมายในอัตราโทษสูงสุด
นอกจากนั้น ยังปรับปรุงกายภาพทางข้ามให้มีความปลอดภัยกับคนเดินข้ามถนน โดยเร่งรัดปรับปรุงเพิ่มความชัดเจนของทางข้ามด้วยสีโคลด์พลาสติกแดง ล้างทำความสะอาดเครื่องหมายจราจรทางข้าม ติดตั้งสัญญาณไฟแบบกดปุ่ม หรือสัญญาณไฟกะพริบเตือนทางข้าม พร้อมไฟส่องสว่างทางข้าม รวมทั้งพิจารณากำหนดพื้นที่จำกัดความเร็วของรถ (Speed Limit Zone) บริเวณโรงเรียน โรงพยาบาล ตลาด และชุมชน ซึ่งเป็นพื้นที่เปราะบางและเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุให้ใช้ความเร็วได้ไม่เกิน 50 กิโลเมตร/ชั่วโมง เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและลดการเกิดอุบัติเหตุจากการเดินข้ามถนน
นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ (สนท.) กล่าวว่า สนท.ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) และ สน.ท้องที่เกี่ยวกับการดำเนินการเรื่องความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนของประชาชน ขณะเดียวกันได้ร่วมกับสำนักงานเขต 50 เขต จัดทำโครงการดูแลและอำนวยความสะดวกประชาชนในการใช้รถใช้ถนนและทางเท้า รวมทั้งสำรวจบริเวณพื้นที่ที่มีประชาชนหนาแน่นและได้จัดทำทางข้ามสำหรับประชาชน โดยเฉพาะบริเวณหน้าโรงเรียน จุดฝืด หรือแหล่งชุมชนต่าง ๆ เพื่อความปลอดภัยในการสัญจรและช่วยลดอุบัติเหตุบนถนน
นอกจากนั้น สนท.ได้จัดทำโครงการเทศกิจอาสาจราจร เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการจราจรในช่วงเวลาเร่งด่วน ช่วงเช้าระหว่างเวลา 06.00 - 08.00 น. และช่วงเย็นระหว่างเวลา 15.00 - 16.00 น. และดูแลความปลอดภัยให้กับนักเรียน ครู ผู้ปกครอง และประชาชนทั่วไปบริเวณหน้าโรงเรียน สถานศึกษา ประกอบด้วย โรงเรียนสังกัด กทม. 437 จุด โรงเรียนสังกัด สพฐ. 97 จุด โรงเรียนสังกัดเอกชน 205 จุด และโรงเรียนสังกัดกระทรวง/อื่นๆ อีก 5 จุด ส่วนจุดวิกฤต/จุดฝืด หรือจุดที่มีปัญหาการจราจรติดขัดบ่อยครั้ง (Friction Spot) ประกอบด้วย จุดวิกฤต 24 จุด จุดฝืด 915 จุด ทางร่วม ทางแยก 1,011 จุด
ที่มา: กรุงเทพมหานคร