นางสาวปรียานุช ทิพยะวัฒน์ รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เป็นประธานเปิดโครงการอบรมการใช้งานระบบตามสอบสินค้าเกษตรบนระบบคลาวด์ (QR Trace on Cloud) และเว็บไซต์สินค้าเกษตรมาตรฐาน-ออนไลน์ (DGTFarm) ณ โรงแรมแคนทารี 304 โฮเทล ปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี
นางสาวปรียานุช กล่าวว่า การอบรมดังกล่าว เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้งานระบบตามสอบสินค้าเกษตรบนระบบคลาวด์ (QR Trace on Cloud) และเว็บไซต์สินค้าเกษตรมาตรฐาน-ออนไลน์ (DGTFarm) สำหรับผู้ผลิตที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (Organic Thailand) มาตรฐานการปฏิบัติที่ดีสำหรับกระบวนการผลิต (GMP) มีผู้เข้าร่วมอบรม ประกอบด้วย เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มสหกรณ์ และผู้ประกอบการ ในจังหวัดปราจีนบุรี จำนวน 35 คน จัดโดยศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มกอช.
มกอช. ได้พัฒนาระบบตามสอบสินค้าเกษตรบนระบบคลาวด์ (QR Trace on Cloud) ในรูปแบบ web Application ที่ครอบคลุมการใช้งานทั้งกลุ่มสินค้าพืช ผัก/ผลไม้ สินค้าข้าว สินค้าไข่ สินค้าประมง สินค้าปศุสัตว์ และสินค้าแปรรูป/อาหาร และมีการสร้างความเข้าใจและผลักดันให้เกิดการใช้ระบบ QR Trace on Cloud ให้แก่เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มสหกรณ์ และผู้ประกอบการ ซึ่งเกษตรกรสามารถจัดเก็บข้อมูลตามสอบสินค้าเกษตรและบริหารจัดการการผลิตสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดการเชื่อมโยงข้อมูลตามสอบได้ตลอดห่วงโซ่การผลิต รวมทั้งการนำเทคโนโลยี QR Code มาใช้เป็นเครื่องมือในการเชื่อมโยงข้อมูลแหล่งผลิตสู่ผู้บริโภค เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟน เรียกดูข้อมูลแหล่งผลิตสินค้าจาก QR Code ที่ติดบนบรรจุภัณฑ์สินค้าได้ในทันที ซึ่งระบบ QR Trace on Cloud จะทำให้เกษตรกรเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน เป็นการปฏิบัติที่สอดคล้องกับข้อกำหนดทางการค้า ทำให้หน่วยงานภาครัฐสามารถแก้ปัญหาความปลอดภัยอาหารได้รวดเร็วและสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคได้มากขึ้น
นอกจากนี้ มกอช.ได้พัฒนาเว็บไซต์สินค้าเกษตรมาตรฐานออนไลน์ (DGTFarm) ขึ้น เพื่อทำหน้าเป็นสื่อกลางในการซื้อขายสินค้าเกษตรที่ได้การรับรองมาตรฐานและสามารถจับคู่สินค้าที่เกษตรกรต้องการขายกับสินค้าที่ผู้บริโภคต้องการซื้อ ได้ตรงตามความต้องการของทั้งสองฝ่าย ซึ่งสามารถช่วยสร้างโอกาสทางการค้าให้แก่เกษตรกรที่ผลิตสินค้าดีมีคุณภาพ
ในโอกาสนี้ ยังได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมสวนน้ำเงินทุเรียนปราจีนบุรี ซึ่งจำหน่ายทุเรียนคุณภาพมาตรฐาน GAP และ GI พร้อมกับให้คำแนะนำเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนในเรื่องของมาตรฐานทุเรียน และเชิญชวนให้ใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภครวมทั้งนำสินค้าคุณภาพที่ได้มาตรฐานผ่านการรับรอง นำไปขายใน เว็บไซต์ DGT Farm อีกด้วย
"การดำเนินงานที่ผ่านมาได้มีผู้สนใจสมัครใช้งานระบบ QR Trace on Cloud กว่า 2,700 ราย ในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ทำให้เกษตรกรสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มในสินค้าเกษตรที่ได้มาตรฐานและสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น และมีผู้สมัครใช้งานเว็บไซต์ DGTFarm กว่า 3,800 ราย ทั้งนี้ การใช้งานระบบ QR Trace on Cloud และเว็บไซต์ DGTFarm จะช่วยส่งเสริมสนับสนุนการผลิตสินค้าคุณภาพให้สามารถสร้างความแตกต่างจากสินค้าอื่นๆ"รองเลขาธิการ มกอช. กล่าว
ที่มา: สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ