ศูนย์นวัตกรรมทางการเงินที่ยั่งยืน (Centre for Sustainable Finance Innovation หรือ CSFI) จะดำเนินกิจกรรมทางวิชาการและการวิจัยเพื่อพัฒนาแนวทางแก้ไขปัญหาในโลกแห่งความเป็นจริงทั้งในด้านความยั่งยืนและเทคโนโลยี ซึ่งเป็นสองแรงผลักดันสำคัญที่กำหนดอนาคตของบริการทางการเงิน โดยทางศูนย์มีเป้าหมายที่จะเป็นผู้นำการวิจัยที่ทันสมัยในสองส่วนนี้ เพื่อบ่มเพาะบุคลากรผู้มีความสามารถในการสนับสนุนการพัฒนาการเงินที่ยั่งยืนและเทคโนโลยีทางการเงินในประเทศสิงคโปร์
ศูนย์แห่งนี้จะตรวจสอบว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมได้นำพาบริษัทต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไปสู่การเติบโตที่ยั่งยืนได้อย่างไร รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนและการลงทุนที่มาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงพื้นฐานเหล่านี้
นอกจากนี้ ทางศูนย์จะสำรวจว่านวัตกรรมทางการเงินที่เกิดจากการพัฒนาเทคโนโลยีจะสามารถสร้างสรรค์ขึ้นด้วยความรอบคอบและยั่งยืนได้อย่างไร เนื่องจากผลิตภัณฑ์ บริการ หรือเทคโนโลยีทางการเงินใหม่ ๆ ที่ช่วยเพิ่มผลผลิตของภาคการเงินนั้น ก็เป็นบททดสอบความเปราะบางและความยืดหยุ่นของระบบการเงินด้วยเช่นกัน
ศูนย์นวัตกรรมทางการเงินที่ยั่งยืนแห่งใหม่นี้ได้รับการเปิดตัวในงานสัมมนา NBS Knowledge Lab Dean's Distinguished Speaker Series ซึ่งมีคุณตัน ชวน-จิน (Tan Chuan-Jin) ประธานรัฐสภาสิงคโปร์ เป็นวิทยากรรับเชิญ และมีศาสตราจารย์ คริสตินา โซห์ (Christina Soh) คณบดีโรงเรียนธุรกิจหนานหยาง เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยคุณตันได้แสดงทรรศนะว่า การกำกับดูแล การวางแผนกลยุทธ์ และความยั่งยืน มีความสำคัญอย่างไรต่อความสำเร็จในระยะยาวขององค์กรและของประเทศ
ศาสตราจารย์โซห์ ซึ่งดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีหนานหยาง (ฝ่ายกลยุทธ์และการพัฒนาความเป็นผู้นำ) ด้วยเช่นกัน กล่าวว่า "สิงคโปร์อยู่ในแนวหน้าด้านนวัตกรรมเสมอมา และการเปิดศูนย์นวัตกรรมทางการเงินที่ยั่งยืนตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีหนานหยางในการกำหนดอนาคตทางการเงิน ขณะเดียวกัน โรงเรียนธุรกิจหนานหยางของเราก็เชื่อมั่นว่านวัตกรรมที่ยั่งยืนไม่ได้เป็นเพียงกุญแจสำคัญในการจัดการกับความท้าทายระดับโลกเท่านั้น แต่ยังเป็นตัวขับเคลื่อนการพัฒนาและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สำคัญอีกด้วย เราเปิดศูนย์แห่งนี้โดยมีเป้าหมายที่จะใช้ประโยชน์จากความเชี่ยวชาญของเราในด้านการเงิน นวัตกรรม และความยั่งยืน เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกและสร้างโลกที่ดีกว่าเดิม"
ปัจจุบันมีโครงการวิจัยหลายโครงการที่กำลังดำเนินการอยู่ที่ศูนย์นวัตกรรมทางการเงินที่ยั่งยืน ซึ่งรวมถึงการวิเคราะห์ภาษีคาร์บอนและระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การศึกษาว่าเพราะเหตุใดประเทศที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีทางการเงินขั้นสูงจึงมีจีดีพีดีดตัวเร็วกว่าและการจ้างงานฟื้นตัวแข็งแกร่งกว่าในช่วงเกิดโรคระบาด รวมถึงการตรวจสอบผลของการขอสินเชื่อที่มีต่อความผันผวนของบริษัท
รูปภาพ - https://mma.prnewswire.com/media/2070387/NTU_image.jpg