โครงการหลวง เล็งขนส่งผัก-ผลไม้สดจากดอยสู่ภาคใต้ด้วยรถไฟ ครั้งแรก! จับมือ มจธ.-สทร.-รฟท. วิจัยนวัตกรรมขนส่งของสดระยะไกล

พุธ ๑๐ พฤษภาคม ๒๐๒๓ ๐๙:๐๑
มูลนิธิโครงการหลวง ร่วมกับศูนย์วิจัยนวัตกรรมโลจิสติกส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.), สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) และบริษัท อินล็อก จำกัด ศึกษาประสิทธิภาพของตู้คอนเทนเนอร์ห้องเย็นนวัตกรรมใหม่ พร้อมต่อยอดนำ IoT และ Data analytics มาใช้ เพื่อมอนิเตอร์สภาพของผลิตผลได้แบบเรียลไทม์ และนำค่าของระบบทำความเย็นที่เหมาะสมกับผลิตผลของมูลนิธิฯ และวิจัยรูปแบบการขนส่งผักผลไม้จากดอยภาคเหนือตรงสู่ภาคใต้ ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด คงความสดใหม่และคุณค่าของผักผลไม้ตั้งแต่บนดอยจนถึงมือผู้บริโภคชาวใต้ ขณะเดียวกันก็ต้นทุนต่ำ ลดมลพิษทางอากาศ โดยร่วมมือกับการรถไฟแห่งประเทศไทย ทดลองขนส่งทางรถไฟ  สร้างระบบ Backhauling ขนส่งเที่ยวกลับ ลดต้นทุน สร้างพันธมิตรทางการค้า ทั้งนี้ หากโครงการวิจัยนี้สำเร็จจะทำให้มูลนิธิโครงการหลวงมีโอกาสขนส่งผักและผลไม้จากดอยตรงสู่ภาคใต้ได้เองเป็นครั้งแรก

ดร. อัญชัญ ชมพูพวง ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงาน มูลนิธิโครงการหลวง กล่าวว่า การขนส่งผักและผลไม้สดมีข้อจำกัดมาก ด้วยเป็นสินค้าที่เหี่ยวช้ำ เสียหายง่าย อายุการเก็บรักษาสั้น จึงต้องส่งถึงมือผู้บริโภคให้เร็วที่สุด ทั้งนี้ ปัจจุบันมูลนิธิโครงการหลวง มีรูปแบบการขนส่งจากดอยสู่ผู้บริโภค หลักๆ เป็นการขนส่งโดยรถยนต์ ซึ่งไปได้ไกลสุดคือจังหวัดราชบุรี ใช้ระยะเวลาขนส่งประมาณ 12 ชั่วโมง ขณะที่หากขนส่งพืชผลไปภาคใต้ต้องใช้การขนส่งโดยเครื่องบิน ซึ่งค่าใช้จ่ายสูง และยังส่งผลกระทบต่อผลพิษมากกว่าการขนส่งรูปแบบอื่น

"โครงการวิจัยนี้ต่อยอดจากการศึกษาความสามารถในการเก็บรักษาผักและผลไม้สดของตู้เย็นนวัตกรรมใหม่ ที่มูลนิธิโครงการหลวงนำมาทดสอบ โดยนำผักที่ได้รับความนิยมสูง เช่น ผักกาดหอมห่อ, ผักกาดขาวปลี, กะหล่ำปลี, เบบี้ฮ่องเต้, คะน้าฮ่องกง และสตรอว์เบอร์รี่ มาทดสอบนำเก็บไว้ในตู้เย็นดังกล่าว ผลทดสอบพบว่า ผักและผลไม้มีความเสียหายทางกายภาพ (ใบหัก, ใบช้ำ) น้อยกว่า 24% ปริมาณผลผลิตเสียหาย น้อยกว่า 5% ที่สำคัญคือยืดอายุให้ผักผลไม้ คงความสดใหม่ได้นานกว่า 30% หรือเก็บไว้ได้นานกว่า 10 วัน มากกว่าตู้เย็นทั่วไปที่เก็บรักษาผักและผลไม้สดให้มีคุณภาพเท่ากันได้เพียง 2-3 วันเท่านั้น" ดร. อัญชัญ อธิบายเสริม

ผศ.ดร. กานดา บุญโสธรสถิตย์ หัวหน้าศูนย์วิจัยนวัตกรรมโลจิสติกส์ มจธ. กล่าวว่า ทีมวิจัยมาต่อยอดจากผลของการพัฒนาตู้คอนเทนเนอร์ห้องเย็นประสิทธิภาพสูง เพื่อการขนส่งระยะไกล โดยนำเซนเซอร์และเทคโนโลยี IoT มาตรวจจับการสั่นสะเทือน ที่เกิดจากการขนส่งทางรถไฟ, ตรวจจับแก๊สเอทธิลีน ที่ผักและผลไม้ปล่อยออกมา, ตรวจจับอุณหภูมิและความชื้น เพื่อตั้งค่าที่เหมาะสมกับผักและผลไม้แต่ละประเภท, ประเมินคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงกำหนดรูปแบบการขนส่งที่เหมาะสม เพื่อให้ได้วิธีการขนส่งผักและผลไม้สดที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ต้นทุนต่ำ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ส่งผักและผลไม้ที่มีคุณภาพดีสู่ผู้บริโภคภาคใต้ได้สำเร็จ

"โครงการวิจัยครั้งนี้ยังศึกษารูปแบบและวิธีการขนส่งที่เหมาะสมกับผลิตผลของโครงการหลวง และตอบโจทย์ด้านเศรษฐกิจไปพร้อมๆ กัน โดยเลือกการขนส่งทางถนน ร่วมกับการขนส่งทางราง แทนการขนส่งทางถนนและทางอากาศอย่างเดียวที่ได้ความเร็ว แต่ราคาแพง และสร้างมลพิษสูง หรือแทนการขนส่งทางรางอย่างเดียว ที่ประหยัด สร้างมลพิษต่ำ แต่ช้า เมื่อนำตู้เย็นนวัตกรรมใหม่มาใช้ก็ช่วยปิดช่องว่างเรื่องระยะเวลานานส่งผลต่อคุณภาพของผลิตผลได้ แต่ทั้งนี้การขนส่งจะต้องคำนึงถึงต้นทุน ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย การวิจัยจึงกำหนดสถานการณ์ในการขนส่งที่แตกต่างกัน เช่น ขนส่งด้วยเป้าหมายต้นทุนต่ำที่สุด, ขนส่งด้วยเป้าหมายลดมลพิษมากที่สุด, ขนส่งโดยใช้ระยะเวลาน้อยที่สุด และขนส่งโดยนำวิธีการต่างๆ มาผสมผสานกัน เพื่อค้นหาวิธีการขนส่งที่เหมาะสมและดีที่สุด" ผศ. ดร. กานดา อธิบาย

ด้าน บริษัท อินล็อก จำกัด บริษัทที่ปรึกษาด้านโลจิสติกส์และเทคโนโลยีดิจิทัล ผู้ร่วมโครงการวิจัย เสริมว่าปัญหาสำคัญในวันนี้ของการขนส่ง คือ ต้นทุนที่สูงขึ้นจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง แม้จะเป็นการขนส่งโดยรถไฟก็ตาม หนึ่งในวิธีการขนส่งที่ทีมวิจัยเตรียมศึกษาคือการขนส่งแบบ Backhauling ขนส่งเที่ยวกลับ เป็นการแชร์ต้นทุนการขนส่งร่วมกันของพันธมิตร เช่น มูลนิธิโครงการหลวงขนส่งผักและผลไม้ลงไปภาคใต้ แทนที่ขากลับจะต้องตีรถเปล่ากลับมา สามารถให้พันธมิตรที่ภาคใต้ขนส่งสินค้าขึ้นมาขายที่ภาคเหนือได้ แต่ความยากของการทำ Backhauling คือ การหาพันธมิตรที่ต้องการนำสินค้าขึ้นมาขายที่ภาคเหนือ หรือ การสำรวจความต้องการของตลาดทั้ง 2 ภาค เพื่อให้มีความต้องการที่มากพอ จนสามารถขนส่งได้ครั้งละจำนวนมากๆ"

ดร. สันติ เจริญพรพัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) หรือ สทร. กล่าวว่า หากโครงการพัฒการการขนส่งสินค้าแบบควบคุมอุณหภูมิประสบความสำเร็จ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการขนส่งสินค้าทางรางอย่างมาก เพราะจะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือ เนื่องจากสามารถติดตามสถานะของสินค้าได้ตลอดเส้นทางการขนส่ง มีปัญหาสามารถรับรู้ได้ทันที และส่งทีมงานไปแก้ไขได้ทันเวลา ความน่าเชื่อถือเหล่านี้เมื่อรวมกับต้นทุนในการขนส่งสินค้าจำนวนมากๆ ที่ถูกกว่าการขนส่งทางถนนรูปแบบอื่น ก็จะทำให้ผู้ประกอบการหันมาใช้การขนส่งสินค้าทางรางมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของประเทศไทยที่ตั้งเป้าเพิ่มการใช้ขนส่งทางรางส่งสินค้าให้มากขึ้น จากปัจจุบันที่ 1.4% ของการขนส่งทั้งหมด ให้เป็น 7% ภายในปี 2570

ขณะที่ คุณเยาวลักษณ์ สุนทรนนท์ หัวหน้ากองมาตรฐานปฏิบัติงานและความปลอดภัยด้านสินค้า การรถไฟแห่งประเทศไทย เสริมว่า "ประเทศไทยเริ่มใช้ตู้ควบคุมอุณหภูมิเพื่อขนส่งทางรางเมื่อปีที่แล้ว โดยเป็นรถไฟระหว่างประเทศไทย-ลาว-จีน ที่นำตู้ควบคุมอุณหภูมิที่มีเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (Generator) มาใช้ขนส่งผลไม้ แต่ก็ยังจำกัดอยู่เพียงเส้นทางนี้เท่านั้น โครงการพัฒนาตู้คอนเทนเนอร์ห้องเย็นประสิทธิภาพสูงนี้ จะช่วยเพิ่มโอกาสในการขนส่งสินค้าทางการเกษตรด้วยรถไฟให้มากขึ้น และเพิ่มเส้นทางการขนส่งให้เยอะขึ้น รวมถึงปัจจุบันการลดมลพิษเป็นปัจจัยสำคัญ จึงเป็นอีกข้อได้เปรียบเนื่องจากการขนส่งทางรางปล่อยมลพิษน้อยกว่าการขนส่งรูปแบบอื่น จึงเชื่อว่าจะช่วยให้ผู้ประกอบการหันมาสนใจและใช้บริการขนส่งทางรถไฟมากขึ้น"

นอกจากการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่เข้ามาร่วมมือสนับสนุนทดสอบการขนส่งทางรางแล้ว ยังมี บริษัท เก้าเจริญ เทรน ทรานสปอร์ต จำกัด ที่สนับสนุนการขนส่งทางถนนและการถ่ายลำ, บริษัท เอนเนอร์ยี่ ไพร์ม จำกัด รวมไปถึงหน่วยงานต่างๆ ที่ร่วมวิจัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ, มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยศิลปากร และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค)

ที่มา: ศูนย์วิจัยนวัตกรรมโลจิสติกส์

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๑๒ ฉลองเทศกาลตรุษจีนปีงูเล็ก ที่โรงแรมดุสิตธานี กระบี่ บีช รีสอร์ท
๑๗:๐๐ IMPACT เผยปี 68 ข่าวดี! โครงการ Sky Entrance รถไฟฟ้าสายสีชมพูมาตามนัด หนุนทราฟฟิคแน่น - จับมือพาร์ทเนอร์
๑๗:๕๒ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม สนับสนุนโครงการ กู้วิกฤตและอนุรักษ์พะยูน ครั้งที่ 2
๑๗:๕๘ แสนสิริ เจ้าตลาดคอนโดแคมปัส อวดโฉม ดีคอนโด วิวิด รังสิต คอนโดใหม่ตรงข้าม ม.กรุงเทพ
๑๖:๔๓ เอ็นไอเอ - สสส. ดึงนิวเจน สรรค์สร้างนวัตกรรมส่งเสริมสุขภาพ ในแคมเปญ The Health Promotion INNOVATION PLAYGROUND
๑๗:๕๘ กรมวิทย์ฯ บริการ เร่งพัฒนาระบบ e-Learning ยกระดับการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ
๑๖:๕๘ เขตจตุจักรกวดขันคนไร้บ้านเชิงสะพานข้ามคลองบางซื่อ สร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน
๑๗:๑๗ เขตพระนครประสานกรมเจ้าท่า-เอกชน เร่งปรับปรุงภูมิทัศน์ท่าเรือสุพรรณเดิม
๑๗:๔๐ กทม. กำชับเจ้าของอาคารตรวจสอบโครงสร้างบันไดเลื่อน เพิ่มความปลอดภัยประชาชน
๑๖:๓๗ แลกเก่าเพื่อโลกใหม่ ช้อปคุ้ม พร้อมลดหย่อนภาษี! 'เปลี่ยนของเก่าเป็นความคุ้ม' ผ่าน Easy E-Receipt ได้ที่โฮมโปร เมกาโฮม