กทม.เตรียมเสนอพิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์เงื่อนไขการทำการค้าหาบเร่แผงลอยให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

พุธ ๑๐ พฤษภาคม ๒๐๒๓ ๑๑:๒๔
นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ (สนท.) กทม.กล่าวกรณีสมาพันธ์ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยร้องเรียนได้รับผลกระทบจากมาตรการคืนทางเท้าของ กทม.ว่า กรุงเทพมหานคร โดย สนท.ได้ดำเนินการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยคำนึงถึงความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมืองและสิทธิของผู้ใช้ทางเท้าเป็นสำคัญ โดยการกำหนดจุดทำการค้า หรือจุดผ่อนผันให้ผู้ค้าทำการค้าขายบนทางเท้าสาธารณะ ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เงื่อนไข ตามประกาศ กทม.ฉบับวันที่ 28 ม.ค.2563 ซึ่งกำหนดว่า ด้านพื้นที่ทำการค้า เมื่อตั้งวางแผงค้าต้องมีทางเดินเหลือสำหรับให้ประชาชนสัญจร กว้างไม่น้อยกว่า 2 เมตร ผิวจราจรต้องมี 4 ช่องทาง และต้องผ่านการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย เช่น ผู้สัญจรบนทางเท้า เจ้าของอาคารที่อยู่บริเวณที่จะกำหนดเป็นจุดทำการค้า ผู้มีสถานที่พักอาศัยและผู้ที่มีสถานที่ทำงานในบริเวณนั้นเป็นอันดับแรก

หากมีผู้ให้ความเห็นสมควรเป็นจุดทำการค้าเกินกึ่งหนึ่ง สำนักงานเขตจะนำเสนอขอความเห็นชอบต่อคณะกรรมการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอย ระดับเขต หากคณะกรรมการฯ ให้ความเห็นชอบ จะเสนอเข้าสู่คณะกรรมการรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อย กทม.พิจารณาให้ความเห็นชอบอีกชั้นหนึ่ง ก่อนเสนอให้กองบังคับการตำรวจจราจร ในฐานะเจ้าพนักงานจราจรพิจารณาให้ความเห็นชอบ จึงจะสามารถประกาศกำหนดเป็นจุดทำการค้าได้ จากนั้นสำนักงานเขตจะประกาศให้ผู้มีความประสงค์จะทำการค้ามาลงทะเบียน โดยจะต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติตามที่กำหนด เมื่อได้รายชื่อผู้ค้าแล้ว สำนักงานเขตจะจัดผู้ค้าเข้าทำการค้าขายในพื้นที่ โดยผู้ค้าที่ได้รับสิทธิจะต้องยื่นขอรับใบอนุญาตให้ทำการค้าตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุขฯ ต้องมาขายสินค้าด้วยตัวเอง และปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด เช่น สินค้าขายต้องไม่เป็นสินค้าผิดกฎหมาย ไม่ตั้ง วาง กองสินค้าบนผิวจราจร ต้องทำความสะอาดพื้นที่ ไม่เททิ้งขยะ น้ำเสียลงพื้นทางเท้า หรือทางระบายน้ำ เป็นต้น และให้ผู้ค้าคัดเลือกตัวแทนผู้ค้า จำนวน 3 -10 ราย เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวแทนดูแลให้ทำการค้าเป็นไปตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่ กทม.กำหนด หากมีการฝ่าฝืนจะต้องถูกลงโทษ หยุดทำการค้า 1 เดือน หรือหากฝ่าฝืนต่อเนื่อง กทม.อาจพิจารณายกเลิกจุดทำการค้านั้นเสียได้

ทั้งนี้ จุดทำการค้าที่ได้รับอนุญาต สำนักงานเขตพื้นที่จะต้องทบทวนความเหมาะสมการเป็นจุดการค้าทุก 1 ปี ส่วนข้อเรียกร้องของสมาพันธ์ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยที่ยื่นข้อเสนอให้ กทม.ปรับปรุงหลักเกณฑ์เงื่อนไขการทำการค้า ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์ให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยจะนำเสนอให้คณะกรรมการฯ พิจารณาให้ความเห็นชอบและประกาศใช้ต่อไป

นอกจากนั้น กทม.ยังได้จัดเตรียมสถานที่รองรับผู้ค้า โดยสำรวจหาพื้นที่ว่างทั้งของหน่วยงานราชการ เอกชน หรือตลาดเอกชนที่เหมาะสมกับการทำการค้าขายของหาบเร่แผงลอย จำนวนกว่า 100 แห่ง เพื่อรองรับผู้ค้าได้กว่า 10,000 ราย รวมทั้งได้พัฒนาสถานที่ทำการค้า หรือ Hawker Center หลายแห่ง เช่น บริเวณที่ว่างสวนลุมพินีด้านประตู 5 บริเวณพื้นที่ว่างข้างศาลาว่าการ กทม.เสาชิงช้า (ด้านฝั่งริมคลองวัดราชนัดดา) ซึ่งอยู่ระหว่างออกแบบให้เป็นสถานที่ที่มีความเหมาะสม ระบบสาธารณูปโภคครบถ้วน ทั้งไฟฟ้า ประปา สถานที่ล้างรวม บ่อบำบัดไขมัน และที่ทิ้งขยะรวม เป็นต้น

ที่มา: กรุงเทพมหานคร

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ