นางนวรัตน์ วงศ์ฐิติรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บลูเวนเจอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ BVG หนึ่งในผู้นำการประกอบธุรกิจให้บริการแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชันสำหรับบริหารจัดการธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับประกันภัยรถยนต์และประกันสุขภาพ เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/2566 (มกราคม-มีนาคม) ว่าบริษัทฯ ประสบความสำเร็จในการผลักดันการเติบโตที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีกำไรสุทธิ 17.4 ล้านบาท เติบโต 94% เมื่อเทียบไตรมาสก่อนหน้านี้ และเพิ่มขึ้น 53% หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีปัจจัยมาจากการบริหารจัดการด้านค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ รองรับกับโอกาสที่จำนวนผู้ใช้บริการเคลมประกันภัยรถยนต์และประกันสุขภาพ ผ่านแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชันสำหรับการเคลมประกันภัยรถยนต์ (ระบบ EMCS) และบริการบริหารจัดการสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาลและสินไหมทดแทนผ่านระบบแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชัน (บริการ TPA) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ขยายตัว ภายหลังสถานการณ์โควิด19 คลี่คลายลง
ทั้งนี้ เป็นผลให้รายได้จากการขายและการบริการทำได้ 125.3 ล้านบาท เติบโต 8% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้านี้และเพิ่มขึ้น 20% หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีปัจจัยมาจากรายได้ของระบบ EMCS และบริการ TPA ที่เติบโตกว่า 20% ซึ่งปัจจัยการเติบโตของรายได้ของระบบ EMCS มาจาก Module Claim Settlement ซึ่งเป็นบริการที่เกี่ยวเนื่องการกับการเสนออนุมัติซ่อมรถยนต์ และรายได้จากบริการระบบ AI ในผลิตภัณฑ์ AI Reviews ขยายตัวถึง 18% และ 28% ตามลำดับ สะท้อนศักยภาพการดำเนินธุรกิจของ BVG ที่มุ่งมั่นยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์และบริการให้แก่ผู้ใช้งาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการด้านสินไหมทดแทนและลดต้นทุนให้กับลูกค้า จึงได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าซึ่งเป็นบริษัทประกันภัยจำนวน 37 บริษัทที่ใช้งานผ่านระบบ EMCS ขณะที่บริการ TPA ที่มีการเติบโตจากบริการด้านการพิจารณาเคลมประกันสุขภาพ โดยเฉพาะปริมาณงานพิจารณาเคลมสำหรับผู้ป่วยนอกที่เพิ่มขึ้นกว่า 40% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากคนไข้เริ่มกลับมารับการรักษาตัวตามปกติหลังจากสถานการณ์ โควิด19 คลี่คลายลง และมีลูกค้าใหม่ที่เป็นองค์กรทั่วไปที่บริหารจัดการสวัสดิการพนักงานด้วยตนเองยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากความเชื่อมั่นในจุดแข็งของบริษัทฯ ที่มีเครือข่ายสถานพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงคลินิกทั่วประเทศมากกว่า 500 แห่ง ให้สามารถใช้ระบบตรวจสอบสิทธิความคุ้มครองของผู้เอาประกันภัยและพนักงานขององค์กรทั่วไปที่บริหารจัดการสวัสดิการพนักงานด้วยตนเอง
นอกจากนี้ กลุ่มบริการอื่นๆ มีการเติบโตถึง 29% โดยหลักมาจากบริการด้านคณิตศาสาตร์ประกันภัย ที่ให้บริการ ด้านการคำนวณเพื่อรองรับมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 17 (IFRS17) และการให้บริการประเมินภาระผูกพันผลประโยชน์พนักงานตามมาตรฐานการบัญชีฉบับที่19 (TAS19)
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BVG กล่าวว่า ปีนี้ BVG ได้ตั้งเป้าหมายรายได้จากการขายและการบริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีแผนเปิดตัวผลิตภัณฑ์ AI Estimate หรือระบบการประเมินความเสียหายเบื้องต้นในขั้นตอนการแจ้งอุบัติเหตุเพื่อประมาณการค่าสินไหมทดแทน ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ตัวที่ 2 ของบริษัทฯ เพื่อต่อยอดนวัตกรรมการให้บริการและยกระดับแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชัน EMCS ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการแจ้งเคลมอุบัติเหตุและเพิ่มความแม่นยำในการประเมินมูลค่าความเสียหายและตั้งสำรองค่าสินไหมทดแทนได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถลดต้นทุน ลดขั้นตอนและระยะเวลาการทำงานให้แก่บริษัทประกันภัย เพื่อตอบสนองพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งจะส่งผลดีต่อรายได้จากผลิตภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยี AI ให้ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ยังเดินหน้าการขยายธุรกิจในภูมิภาคอาเซียน โดยได้ร่วมทุนกับพันธมิตรในกัมพูชา เพื่อจัดตั้งบริษัทร่วมทุนในการดำเนินธุรกิจให้บริการบริหารจัดการสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาลและสินไหมทดแทน ผ่านระบบแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชัน (บริการ TPA) ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จและเริ่มดำเนินธุรกิจได้ในครึ่งปีหลังของปีนี้
ที่มา: เอ็ม ที มัลติมีเดีย