รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ไต้หวันเป็นหนึ่งในผู้นำด้านอิเลกทรอนิกส์และเทคโนโลยีระดับโลก งาน Assistive Technology for Life 2023 เป็นงานแสดงเฮลท์เทคโนโลยีเพื่อชีวิตประจำปีซึ่งได้รับความนิยมอย่างสูง วัตถุประสงค์การจัดงานเพื่อสนับสนุนและผลักดันอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการในไต้หวันให้เป็นที่รู้จักยิ่งขึ้น เปิดให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้าร่วมชมเทคโนโลยี และซื้อหาผลิตภัณฑ์ที่ก้าวล้ำ ในโอกาสนี้ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดย ศูนย์เครือข่ายวิจัยประยุกต์ทางเทคโนโลยีหุ่นยนต์และชีวการแพทย์ (BART LAB) ได้นำผลงานหลายนวัตกรรมจากประเทศไทยไปร่วมจัดแสดงในงาน อาทิ เก้าอี้เข็นไฟฟ้าขึ้นบันได (Stair Climbing Wheelchair) หุ่นยนต์บริการใช้งานภายในบ้านเพื่อการดูแลผู้สูงวัย (Sit to Stand Assisted Robot) ระบบฝึกหัดสำหรับฝึกฉีดยาชารอบดวงตา(Intelligent Needle Insertion Training System for Eye Anesthesia) แสดงถึงความก้าวหน้าทางวิศวกรรม การออกแบบ และนวัตกรรมที่รองรับการใช้งานในวิถีชีวิตยุคใหม่และความสะดวกสบาย ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการและผู้มาร่วมงาน ตลอดจนเผยแพร่ชื่อเสียงอุปกรณ์ชีวการแพทย์ฝีมือคนไทยให้เป็นที่ยอมรับในเวทีนานาชาติ
ภายในงาน Assistive Technology for Life 2023 มีการจัดแสดงบูธ 6 กลุ่มเทคโนโลยี ได้แก่ 1.การฟื้นฟูสมรรถภาพและนันทนาการ 2.สมาร์ทแคร์ 3. อุปกรณ์เสริมความคล่องตัวและสัญจร เช่น ไม้เท้า ไม้ค้ำยัน อุปกรณ์ช่วยเดิน เก้าอี้ล้อเลื่อน เป็นต้น 4.ผู้ช่วยในบ้าน เช่น ที่นอนลดแรงกดทับ เตียงนอน เครื่องช่วยเคลื่อนย้าย เป็นต้น 5.การสื่อสารและสารสนเทศ 6.ขาเทียมและออร์โธปิดิกส์ ล้วนเป็นผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีเพื่อสุขภาพและคุณภาพชีวิต หลายอย่างที่น่าสนใจ อาทิ รถเข็นวีลแชร์แบบปรับเอน ลิฟต์บันไดสเตทเรล สกูตเตอร์เคลื่อนที่แบบพับได้อัตโนมัติ E-KO อุปกรณ์ช่วยผ่อนแรงสำหรับรถเข็น เตียงพยาบาลไฟฟ้า ที่นอนแรงดันอากาศ E-GMED เครื่องผลิตออกซิเจนแบบพกพา เป็นต้น
ที่มา: เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น