กทม.เพิ่มความถี่ทำความสะอาดจุดทำการค้า เข้มมาตรการตรวจสอบสุขอนามัยร้านอาหารบนทางเท้า

จันทร์ ๒๒ พฤษภาคม ๒๐๒๓ ๑๖:๕๓
นางสาวอัญชนา บุญสุยา ผู้อำนวยการเขตบางรัก กทม.กล่าวกรณีประชาชนร้องเรียนทางเท้าบริเวณถนนศรีเวียง เขตบางรัก มีหนูจำนวนมากขึ้นมากินเศษอาหารจากผู้ค้าที่ไม่ทำความสะอาดพื้นที่ค้าขายว่า สำนักงานเขตฯ ได้กำชับและขอความร่วมมือผู้ค้าบริเวณดังกล่าวให้รักษาความสะอาดและทิ้งขยะให้ถูกที่ถูกเวลา ตามที่ กทม.กำหนด ขณะเดียวกันได้เพิ่มรอบความถี่การทำความสะอาดทางเท้าบริเวณจุดที่มีการค้าขายทั่วพื้นที่เขต เพื่อให้ภูมิทัศน์มีความสะอาดเรียบร้อยมากขึ้น ทั้งนี้ ที่ผ่านมาสำนักงานเขตฯ ได้จัดอบรมด้านการสุขาภิบาลอาหารให้กับผู้จำหน่ายอาหารริมบาทวิถีเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง รวมทั้งลงพื้นที่ตรวจสอบจุดทำการค้าริมบาทวิถี เพื่อกำชับผู้ค้าให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์สุขลักษณะการจำหน่ายอาหารริมบาทวิถี ทั้งด้านสุขลักษณะและคุณภาพอาหาร ซึ่งจะนำผลการตรวจสอบมาใช้ประกอบการพิจารณาอนุญาตในปีต่อไป โดยจะเข้มงวดกวดขันร้านค้าที่จำหน่ายอาหารภายในที่พัก ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดพื้นที่ทำการค้า ซึ่งห้ามถ่ายเทน้ำ เศษอาหาร ไขมัน สิ่งปฏิกูล หรือมูลฝอยลงบนพื้น หรือลงท่อ หรือทางระบายน้ำสาธารณะ

นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวว่า สนอ.มีมาตรการตรวจสอบด้านสุขอนามัยของร้านจำหน่ายอาหารบนทางเท้าและหาบเร่แผงลอยในพื้นที่ทำการค้าที่ กทม.ประกาศอนุญาต โดยร่วมกับสำนักงานเขตฯ ดังนี้ (1) ตรวจสอบสุขลักษณะการจำหน่าย ซึ่งผู้ที่จะทำการค้าจำหน่ายอาหารริมบาทวิถี ต้องได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข ผู้ค้าและผู้สัมผัสอาหารทุกรายต้องผ่านการอบรมด้านการสุขาภิบาลอาหารตามหลักสูตรของ กทม.และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์สุขลักษณะการจำหน่ายอาหารริมบาทวิถี เช่น แผงค้าอาหารต้องสูงจากพื้น 60 ซม. มีการปกปิดอาหาร เพื่อป้องกันการปนเปื้อน ผู้ค้าต้องสวมหมวกคลุมผม ผ้ากันเปื้อน และต้องใช้อุปกรณ์หยิบจับอาหาร ไม่พูดคุย ไอ จามรดอาหาร มีถังขยะรองรับมูลฝอย/เศษอาหารที่ถูกสุขลักษณะ มีขนาดเหมาะสม ไม่รั่วซึม มีถุงพลาสติกรองรับข้างในอีกชั้น มีฝาปิดป้องกันแมลงและสัตว์นำโรค รวมทั้งปฏิบัติตามประกาศ กทม.เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดพื้นที่ทำการค้าและการขาย หรือจำหน่ายสินค้าในที่ หรือทางสาธารณะ โดยกำหนดห้ามถ่าย เท น้ำ เศษอาหาร ไขมัน สิ่งปฏิกูล หรือมูลฝอยลงบนพื้น หรือลงท่อ หรือทางระบายน้ำสาธารณะโดยเด็ดขาด และหยุดทำการค้าสัปดาห์ละ 1 วัน เพื่อล้างทำความสะอาดพื้นที่ทำการค้า ซึ่งเจ้าหน้าที่เทศกิจและเจ้าหน้าที่ฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล สำนักงานเขต จะตรวจสอบแนะนำให้ผู้ค้าปฏิบัติตามหลักเกณฑ์อยู่เสมอ (2) ตรวจสอบคุณภาพอาหาร โดยสุ่มเก็บตัวอย่างอาหารเพื่อตรวจวิเคราะห์หาสารเคมีอันตรายปนเปื้อนในอาหาร จุลินทรีย์ และเชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรียในอาหาร รวมทั้งตรวจความสะอาดของภาชนะอุปกรณ์ และมือผู้สัมผัสอาหาร (3) ส่งเสริมให้ผู้ค้าเข้ารับการอบรมการสุขาภิบาลอาหารตามหลักสูตรของ กทม. (4) ให้การรับรองมาตรฐานอาหารปลอดภัย โดยมอบป้ายรับรองมาตรฐานอาหารปลอดภัยของ กทม.ให้กับร้านที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานอาหารปลอดภัยของ กทม. และ (5) ประชาสัมพันธ์เผยแพร่สื่อให้ความรู้ด้านการสุขาภิบาลอาหารแก่ผู้ค้าและประชาชนผู้บริโภคผ่านช่องทางออนไลน์ของหน่วยงาน เช่น เว็บไซต์ เพจเฟซบุ๊ก เป็นต้น

ที่มา: กรุงเทพมหานคร

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๑๒ ฉลองเทศกาลตรุษจีนปีงูเล็ก ที่โรงแรมดุสิตธานี กระบี่ บีช รีสอร์ท
๑๗:๐๐ IMPACT เผยปี 68 ข่าวดี! โครงการ Sky Entrance รถไฟฟ้าสายสีชมพูมาตามนัด หนุนทราฟฟิคแน่น - จับมือพาร์ทเนอร์
๑๗:๕๒ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม สนับสนุนโครงการ กู้วิกฤตและอนุรักษ์พะยูน ครั้งที่ 2
๑๗:๕๘ แสนสิริ เจ้าตลาดคอนโดแคมปัส อวดโฉม ดีคอนโด วิวิด รังสิต คอนโดใหม่ตรงข้าม ม.กรุงเทพ
๑๖:๔๓ เอ็นไอเอ - สสส. ดึงนิวเจน สรรค์สร้างนวัตกรรมส่งเสริมสุขภาพ ในแคมเปญ The Health Promotion INNOVATION PLAYGROUND
๑๗:๕๘ กรมวิทย์ฯ บริการ เร่งพัฒนาระบบ e-Learning ยกระดับการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ
๑๖:๕๘ เขตจตุจักรกวดขันคนไร้บ้านเชิงสะพานข้ามคลองบางซื่อ สร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน
๑๗:๑๗ เขตพระนครประสานกรมเจ้าท่า-เอกชน เร่งปรับปรุงภูมิทัศน์ท่าเรือสุพรรณเดิม
๑๗:๔๐ กทม. กำชับเจ้าของอาคารตรวจสอบโครงสร้างบันไดเลื่อน เพิ่มความปลอดภัยประชาชน
๑๖:๓๗ แลกเก่าเพื่อโลกใหม่ ช้อปคุ้ม พร้อมลดหย่อนภาษี! 'เปลี่ยนของเก่าเป็นความคุ้ม' ผ่าน Easy E-Receipt ได้ที่โฮมโปร เมกาโฮม