วิสัยเริ่มต้นธุรกิจในปี 2019 ในฐานะสถาบันวิจัยเทคโนโลยีระบบปัญญาประดิษฐ์ จากความร่วมมือของสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) เพื่อส่งเสริมให้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมของประเทศไทยสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์คุณภาพสูง เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาธุรกิจได้ โดยเปิดให้บริการ AI Solutions ให้คำปรึกษาและออกแบบการนำปัญญาประดิษฐ์ที่เหมาะสมเข้าไปใช้ในธุรกิจ และ AI Training การจัดอบรมให้ความรู้การใช้ปัญญาประดิษฐ์ผ่านการทำ Use Case เพื่อให้บุคลากรในบริษัทสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้จริง
"จากการทำงานร่วมกับลูกค้าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทำให้ทราบว่า แม้เราจะสามารถผลิต AI Model คุณภาพสูงได้แล้ว แต่หากธุรกิจยังขาดแคลนบุคลากรอย่าง Data Scientist ในการนำ AI มาประยุกต์ใช้งาน หรือพัฒนาในระดับแอปพลิเคชันได้ เทคโนโลยี AI ก็จะยังเข้าไม่ถึงคนไทยจำนวนมากอยู่ดี เราจึงพยายามทำให้ค่าใช้จ่ายในการนำ AI Model มาใช้งานต่ำลง ผ่านการใช้งานระบบ AI Cloud Platform นักพัฒนาหรือวิศวกรในธุรกิจจะสามารถใช้งานได้ด้วยตัวเอง โดยไม่จำเป็นต้องเขียนโค้ดเองเลย" รศ.ดร.สรณะ นุชอนงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วิสัย เอไอ จำกัด กล่าว
ทางด้าน ดร.ศุภกร สิทธิไชย ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่อาวุโส สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า กล่าวว่า "ดีป้าเล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง (Deep Technology) ที่เกิดจากการพัฒนาของคนไทยเอง ที่จะทำให้เกิดการแข่งขันในภาคธุรกิจอุตสาหกรรมของประเทศ โดยที่ผ่านมาดีป้าได้มีส่วนส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาวิจัยชุดข้อมูลและพัฒนากำลังคนดิจิทัล เพื่อรองรับตลาดภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจบริการนวัตกรรมดิจิทัล ทั้งนี้ดีป้ามุ่งมั่นส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ขั้นสูง โดยมุ่งเน้นภาคธุรกิจเพื่อให้เกิดบริการแพลตฟอร์มที่พร้อมใช้งาน ซึ่งจะเป็นการช่วยลดช่องว่างให้กับภาคธุรกิจในการเข้าถึงระบบปัญญาประดิษฐ์ จากการขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัล และยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมไทย โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูงสัญชาติไทยสู่ระดับนานาชาติอีกด้วย
เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์จากวิสัย ได้แม่แบบจากการพัฒนาระบบ Machine Learning จากสถาบันวิทยสิริเมธี โดยใช้ทั้งวิธี Data-Centric AI Research และ Model-Centric AI Research ในการพัฒนาตั้งแต่โมเดลต้นน้ำมาสู่โมเดลที่ใช้งานในระดับแอปพลิเคชันและนำมาใช้ประโยชน์ในภาคธุรกิจได้ โดยแบ่งออกได้เป็น 4 ระดับ คือ ระดับแรก Foundation Model โมเดลที่นำข้อมูลทั่วไปจำนวนมากมาเทรน แบบไม่ต้องมีผู้กำกับข้อมูล เพื่อให้ได้เป็นโมเดลพื้นฐานในการทำความเข้าใจ เนื้อหาของข้อมูลนั้นๆ ระดับที่สอง คือ Domain Adaptation การเทรนโมเดลจากประเภทข้อมูลที่กำหนดจำนวนมาก เช่น ข้อมูลกฎหมาย การแพทย์ การเงิน เพื่อให้ได้โมเดลที่มีความสามารถในการทำความเข้าใจกับข้อมูลที่เลือกมา ระดับที่สาม คือ Task-Based Adaptation การเทรนโมเดล โดยมีผู้กำกับข้อมูล ซึ่งจะมีการคัดเลือกข้อมูล ทำความสะอาดข้อมูล และตีตรา ชุดข้อมูล ก่อนนำไปปรับแต่งเป็นโมเดลเพื่อรอใช้งานตามแต่ละ Task ที่กำหนด และระดับที่สี่ คือการนำโมเดลที่ได้ ไปประสานต่อบนแอปพลิเคชัน หรือเว็บแอปพลิเคชัน ก่อนนำไปใช้งานจริง
ด้าน SCB 10X มุ่งเน้นสร้างการเติบโตแบบก้าวกระโดด ผ่านการลงทุน และร่วมสร้างสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพสูง ในกลุ่มเทคโนโลยีดิจิทัลแห่งโลกอนาคต SCB 10X ได้ลงทุนในบริษัทวิสัย และร่วมกันพัฒนาระบบ Machine Learning รวมถึงแอปพลิเคชันกับนักวิจัยจากสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) ซึ่ง คุณมุขยา (ใต้) พานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุนและการร่วมสร้าง บริษัท SCB 10X เผยว่า "เราเล็งเห็นถึงจุดแข็งของวิสัย (VISAI) ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในด้าน AI และระบบ Machine Learning การลงทุนและความร่วมมือในครั้งนี้จะทำให้เราสามารถ เข้าถึงระบบปัญญาประดิษฐ์คุณภาพสูงได้ง่ายขึ้น ซึ่งเป็นเทคโนโลยีสำคัญที่จะเข้ามาช่วยทีม Data Scientist ของเรา ในการแก้ไขปัญหาธุรกิจในระยะยาวได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน โดยเฉพาะธุรกิจการเงินและธนาคาร ที่มีความต้องการใช้เทคโนโลยี AI เพื่อช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลและคาดการณ์ตัวเลขต่างๆ ที่ต้องอาศัยความแม่นยำสูง ซึ่งจะช่วยส่งเสริมและพัฒนาเทคโนโลยีทางการเงิน รวมถึงการให้บริการลูกค้าที่มีประสิทธิภาพ "
สำหรับภาพรวมของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในช่วงนี้จะเห็นว่า มีบริษัทต่างๆ ที่พัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เพื่อธุรกิจใหม่ๆ ออกมาแทบทุกวัน การพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้และทักษะที่เท่าทัน จึงเป็นสิ่งสำคัญมากที่จะทำให้ปัญญาประดิษฐ์สามารถตอบโจทย์ในทางธุรกิจได้จริง โดยวิสัยสามารถช่วยเหลือธุรกิจในส่วนนี้ได้ด้วยบริการเทคโนโลยีคุณภาพสูง ที่มีความเสี่ยงต่ำ และยังมีทีมผู้เชี่ยวชาญที่สามารถหาโซลูชันช่วยแก้ปัญหาทางธุรกิจให้กับลูกค้า
ที่มา: วิสัย เอไอ