วว. จับมือ เอ็กโก กรุ๊ป โดยมูลนิธิไทยรักษ์ป่า ถ่ายทอดงานวิจัยสู่ชุมชน ส่งเสริมอาชีพ อยู่ร่วมกับป่าอย่างยั่งยืน

อังคาร ๓๐ พฤษภาคม ๒๐๒๓ ๐๘:๕๖
วว. จับมือ เอ็กโก กรุ๊ป โดยมูลนิธิไทยรักษ์ป่าถ่ายทอดงานวิจัยสู่ชุมชน ส่งเสริมอาชีพ อยู่ร่วมกับป่าอย่างยั่งยืน

ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ลงนามความร่วมมือกับ นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ประธานกรรมการ มูลนิธิไทยรักษ์ป่า และ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป ในการส่งเสริมความร่วมมือเชิงบูรณาการเพื่อการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในเชิง พาณิชย์และเชิงสังคม มุ่งถ่ายทอดผลงานวิจัย องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่ชุมชน ในพื้นที่ป่าต้นน้ำ เพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งและยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนให้สามารถอยู่ร่วมกับป่าอย่าง ยั่งยืน ตลอดจนประยุกต์ใช้งานวิจัยด้านป่าไม้ ดูแลรักษาและฟื้นฟูระบบนิเวศป่าต้นน้ำอย่างเป็นรูปธรรม

ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. ชี้แจงว่า การลงนามความร่วมมือของทั้งสองหน่วยงานในวันนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อบูรณาการความร่วมมือระหว่าง "วว." กับ "มูลนิธิไทยรักษ์ป่า" ในการนำผลงานวิจัย องค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ไปใช้ประโยชน์ทั้งในเชิงพาณิชย์และเชิงสังคม โดยระยะเวลาความร่วมมือ 3 ปี

"...ที่ผ่านมาเมื่อปี 2563 -2564 วว. และทางมูลนิธิฯ ได้ร่วมกันนำเทคโนโลยี "การเพาะเชื้อเห็ดป่าไมโครไรซา" ไปขับเคลื่อนการพัฒนาป่าในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีนี้ให้กับนักเรียนในโรงเรียนที่อยู่ภายใต้โครงการเครือข่ายเยาวชนจังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 30 โรงเรียน เพื่อเสริมองค์ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ในการเพาะเชื้อเห็ดป่า นับเป็นจุดเริ่มต้นของการขยายผลสร้างพื้นที่สีเขียว ก่อให้เกิดการสร้างรายได้ให้กับชุมชน ลดการเก็บเห็ดป่าโดยใช้วิธีการเผาทำลายป่าไม้ และปัญหาหมอกควันในอนาคต และยังได้ร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีการยืดอายุการเก็บรักษาลูกประ หรือลูกกระ เป็นเมล็ดของต้นประ ไม้ยืนต้นที่พบได้ในพื้นที่ทางใต้ เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่บ้านในหมง อ.พรหมคีรี จ.นครศรีธรรมราช ถือว่าเป็นการสร้างประโยชน์ให้คนอยู่ร่วมกับป่าเพื่อสร้างรายได้ เสริมคุณภาพชีวิตของชุมชนได้เป็นอย่างดี..."

ผู้ว่าการ วว. กล่าว ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ วว. และมูลนิธิฯ ได้ร่วมกันวางแผนการทำงานระหว่างปี 2565-2569 มุ่งนำผลงานวิจัย องค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพิ่มมากขึ้น และให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะปัญหามลพิษทางอากาศ และ สภาวะการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะปัญหาโลกร้อนที่กำลังเป็นปัญหาภัยคุกคามต่อคนในประเทศและคนทั่วโลก โดยแนวทางการพัฒนาความร่วมมือในครั้งนี้ คือ การนำผลงานวิจัยและพัฒนาไปใช้ประโยชน์มี Concept การดำเนินงาน 4 ด้านหลัก ได้แก่ 1. การพัฒนาระบบเกื้อกูล คนอยู่ได้ ป่าอยู่ได้ 2. การพัฒนาแหล่งเรียนรู้ชุมชน เพื่อสร้างคลังสมองของพื้นที่ 3. การพัฒนาเครือข่ายเยาวชน เพื่อสร้างแนวคิดให้คนรุ่นใหม่เข้ามาร่วมนำเทคโนโลยีอนุรักษ์ผืนป่าที่เป็นทรัพยากรและทุนชีวิต และ 4. การฟื้นฟูพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าให้กับประเทศ และผลักดันให้เกิดการใช้ประโยชน์ของงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม กับเครือข่ายของมูลนิธิ ได้แก่ พื้นที่จังหวัด เชียงใหม่ ชัยภูมิ และนครศรีธรรมราช ให้เกิดผู้รับและการใช้ประประโยชน์เทคโนโลยี สู่การพัฒนาชุมชน เช่น การสร้างมูลค่าเพิ่มและการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เกิดการพัฒนายกระดับชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ตลอดจนการถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์จากงานวิจัยด้านป่าไม้ สู่การร่วมดูแลรักษา และฟื้นฟูระบบนิเวศป่าต้นน้ำอย่างเป็นรูปธรรม ครอบคลุมการบริหารจัดการป่าไม้อย่างมีส่วนร่วม เกิดการขับเคลื่อนพื้นที่ทางสังคมให้สอดคล้องกับ BCG โมเดล

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ประธานกรรมการ มูลนิธิไทยรักษ์ป่า และ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็กโก กรุ๊ป กล่าวเพิ่มเติมว่า "มูลนิธิไทยรักษ์ป่า" องค์กรสาธารณกุศลซึ่งก่อตั้งและสนับสนุนการดำเนินการโดย เอ็กโก กรุ๊ป มีภารกิจสำคัญด้านอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและป่าต้นน้ำให้คงอยู่อย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นปัจจัยตั้งต้นของพลังงานและสิ่งมีชีวิตทั้งหมด บนหลักการที่ว่า "คนอยู่ได้ ป่าอยู่ได้" มูลนิธิฯ จึงมีบทบาทในการร่วมผลักดันและส่งเสริมความเข้มแข็งและสร้างอาชีพให้กับชุมชนในพื้นที่ป่าต้นน้ำ โดยสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ และภูมิปัญญาท้องถิ่นมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ชุมชนใช้ประโยชน์ ช่วยดูแลรักษา และอยู่ร่วมกับป่าต้นน้ำอย่างยั่งยืน ไม่เกิดการทำลายหรือเผาป่า ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของปัญหา PM 2.5 ในประเทศไทย

"ความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นการบูรณาการความเชี่ยวชาญของทั้ง 2 หน่วยงาน มูลนิธิไทยรักษ์ป่าเปรียบเสมือน "โซ่ข้อกลาง" ที่ช่วยประสานและผลักดันผลงานวิจัย องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของ วว. โดยเฉพาะการสร้างมูลค่าเพิ่มและแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ให้เกิดการประยุกต์ใช้จริงในท้องถิ่น เพื่อช่วยส่งเสริมอาชีพและยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนในพื้นที่ป่าต้นน้ำ เพื่อให้ชุมชนมีความเข้มแข็งและสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน ลดปัญหาการเผาป่า รวมถึงใช้งานวิจัยด้านป่าไม้ของ วว. มาสนับสนุน การดำเนินงานของมูลนิธิฯ ตามหลักการบริหารจัดการป่าไม้อย่างมีส่วนร่วม ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น"

ที่มา: สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ