สมาคมมนุษยพันธุศาสตร์ เปิดเวทีวิชาการ "ก้าวถัดไปกับจีโนมิกส์ประเทศไทย" ชูความร่วมมือทางพันธุศาสตร์มนุษย์ พัฒนาระบบบริการสุขภาพ-อุตสาหกรรมการแพทย์ในอนาคต

อังคาร ๓๐ พฤษภาคม ๒๐๒๓ ๑๗:๑๗
เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2566 ณ โรงแรมเรดิสัน บลู พลาซ่า กรุงเทพฯ นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และในฐานะรองประธานคณะอนุกรรมการกำกับทิศทางแผนปฏิบัติการบูรณาการจีโนมิกส์ประเทศไทย (พ.ศ. 2563-2567) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กล่าวในพิธีเปิดงานประชุมวิชาการประจำปี สมาคมมนุษยพันธุศาสตร์ ครั้งที่ 2 เรื่อง "ก้าวถัดไปกับจีโนมิกส์ประเทศไทย Genomics Thailand: The Progress and Momentum" ว่า ความก้าวหน้าทางด้านพันธุศาสตร์มนุษย์ และ เทคโนโลยีการถอดรหัสพันธุกรรมนำมาสู่การพัฒนาทางการแพทย์อย่างก้าวกระโดด เมื่อนำข้อมูลพันธุกรรมหรือข้อมูลดีเอ็นเอของผู้ป่วยมาใช้ในการวินิจฉัย ป้องกัน รักษา ทำให้การแพทย์มีความแม่นยำและจำเพาะต่อบุคคลมากขึ้น

มีการปรับเปลี่ยนกระบวนการให้บริการทางการแพทย์ในหลายโรค เช่น การป้องกันการแพ้ยาด้วยการตรวจพันธุกรรม การป้องกันโรคมะเร็ง การคัดกรองทารกแรกเกิด ฯลฯ เพื่อคุณภาพชีวิตของคนไทยที่ดีขึ้น ปัจจุบันประเทศไทยได้ดำเนินงานมีแผนปฏิบัติการบูรณาการจีโนมิกส์ประเทศไทย พ.ศ. 2563-2567 หรือ Genomics Thailand มีเป้าหมายสนับสนุนให้เกิดฐานข้อมูลพันธุกรรมไทย 50,000 คน ศูนย์สกัดสารพันธุกรรม และพัฒนาบุคลากร จัดตั้งเครือข่ายวิจัยการแพทย์จีโนมิกส์ในประเทศไทย เป็นฐานสำคัญให้เกิดบริการการตรวจ และการวินิจฉัยที่ใช้ข้อมูลพันธุกรรม ณ ปัจจุบันสามารถถอดรหัสพันธุกรรมไปแล้วประมาณ 15,000 ราย และอยู่ระหว่างการคืนผลการถอดรหัสพันธุกรรมให้คนไข้ กระทรวงสาธารณสุขโดยกรมการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ร่วมกันเพื่อพัฒนาเครือข่ายการแพทย์แม่นยำเพื่อพัฒนาเครือข่ายด้านโรคหายาก โรคมะเร็ง และโรคอื่นๆ ร่วมกัน เช่น การตรวจยีนเพื่อป้องกันการแพ้ยา การติดตามการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส SARS-CoV 2 หรือโรคโควิด-19 ในประเทศไทย เพื่อให้เราบริหารจัดการการระบาด และปรับแผนการให้วัคซีน เมื่อต้นปี 2565 มีข่าวดีสำหรับประชาชนไทย จากที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้เพิ่มบริการการตรวจการกลายพันธุ์ในยีนเสี่ยงมะเร็งเต้านม BRCA1/2 เข้าสู่ชุดสิทธิประโยชน์ ทำให้ประชาชนไทยสามารถเข้าถึงการตรวจโดยใช้เทคโนโลยีใหม่ และช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมชนิดถ่ายทอดทางพันธุกรรม นี่เป็นเพียงแค่ตัวอย่างส่วนหนึ่งของการใช้เทคโนโลยีถอดรหัสพันธุกรรมและองค์ความรู้ทางพันธุศาสตร์มนุษย์ เพื่อยกระดับให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขของประเทศมีมาตรฐานที่สูงขึ้น

ทางด้าน นางสาวบุณยวีร์ เอื้อศิริวรรณ ผู้จัดการงานวิจัย หน่วยงานขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการบูรณาการจีโนมิกส์ประเทศไทย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ระบบสุขภาพมีความเป็นพลวัตรและเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลกระทบจากบริบทและสถานการณ์ รวมถึงความท้าทายในด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้นต่อปัญหาสุขภาพของคนไทยอย่างรวดเร็วและซับซ้อนมากขึ้น สวรส. ในฐานะหน่วยบริหารและจัดการทุน (PMU) จึงต้องสร้างองค์ความรู้ด้านสุขภาพที่สามารถนำไปใช้แก้ปัญหาด้านสุขภาพในเชิงระบบได้ครอบคลุม โดย 1 ในขอบเขตการวิจัย คือ การสนับสนุนการวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน ภายใต้แผนงานวิจัยจีโนมิกส์ประเทศไทย มุ่งเน้นการสร้างองค์ความรู้หรือผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านสุขภาพ ที่สอดคล้องกับนโยบายด้านการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีทางการแพทย์ ภายใต้ "ยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561-2580" ที่กำหนดให้การลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยี เป็นกลยุทธ์หนึ่งของการสร้างความสามารถในการแข่งขันด้านอุตสาหกรรม และบริการการแพทย์ครบวงจร โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อตอบสนองความต้องการทางการแพทย์ที่เพิ่มมากขึ้น ลดต้นทุนการรักษาพยาบาล และยกระดับการให้บริการการแพทย์ที่มีคุณภาพในระดับสากล สามารถนำประเทศไปสู่การเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมและบริการการแพทย์ และเชื่อมโยงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ รวมทั้งเพื่อสนับสนุนการสร้างสุขภาวะที่ดีและเพิ่มคุณภาพชีวิต

นอกจากนี้ สวรส. ในฐานะหน่วยงานกลางในการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการการบูรณาการจีโนมิกส์ประเทศไทย (Genomics Thailand) เพื่อให้การขับเคลื่อนแผนฯ ประสบความสำเร็จ ได้ให้ความสำคัญกับความร่วมมือกับต่างประเทศ โดยได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ประเทศไทย และกระทรวงสาธารณสุขและการดูแลทางสังคมแห่งสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ ว่าด้วยความร่วมมือด้านจีโนมิกส์ ซึ่งเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านจีโนมิกส์ประเทศไทยและสหราชอาณาจักรฯ ณ กรุงลอนดอน เพื่อแลกเปลี่ยนการดำเนินงานและหาแนวทางความร่วมมือสหราชอาณาจักร ที่มีประสบการณ์การพัฒนาการนำข้อมูลพันธุกรรมและข้อมูลการเจ็บป่วยมาใช้ในการพัฒนาการวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ป่วยวิกฤตทารกแรกเกิดและเด็ก โดยประเทศอังกฤษจะมีแหล่งข้อมูล พันธุกรรมและข้อมูลทางคลินิกที่เปิดให้นักวิจัยทั่งโลกสามารถเข้าถึงและนำไปใช้ในการวิจัยเชิงลึก เพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยงทางพันธุกรรม ตลอดจนการประชุมฯ นี้ ยังได้หารือถึงแนวทางความร่วมมือ/การดำเนินงานของประเทศไทย 3 หัวข้อใหญ่ ได้แก่ 1.Data Sharing/การใช้ประโยชน์จากข้อมูลจีโนม อาทิ การส่งเสริมสนับสนุนให้นักวิจัยไทยเข้าถึงฐานข้อมูลพันธุกรรมของต่างประเทศ 2.ด้านการวิจัย และ 3.ด้านการพัฒนาบุคลากร ซึ่งทาง สวรส. จะร่วมสนับสนุนการดำเนินงานต่อไป

ดร.ศิษเฎศ ทองสิมา นายกสมาคมมนุษยพันธุศาสตร์ กล่าวว่า สมาคมมนุษยพันธุศาสตร์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2562 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ ส่งเสริมการศึกษา งานวิจัย และนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับงานด้านพันธุศาสตร์มนุษย์ รวมถึงสนับสนุนพัฒนานโยบายและแนวปฏิบัติ เพื่อให้เกิดความก้าวหน้าอย่างเหมาะสมในด้านการศึกษาและวิจัยทางพันธุศาสตร์มนุษย์ โดยคำนึงถึงผลกระทบทางสังคมและจริยธรรม การจัดประชุมวิชาการของสมาคมฯ ครั้งที่ 2 หัวข้อ "ก้าวถัดไปกับจีโนมิกส์ประเทศไทย" มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่าง สหสาขาวิชาชีพด้านการแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ และนักวิจัยที่เกี่ยวข้อง จัดขึ้นระหว่าง 29-30 พฤษภาคม 2566 โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรและผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานต่างๆเข้าร่วมบรรยาย จำนวน 26 ท่าน โดยมีวิทยากรจากสมาคมพันธุศาสตร์ประเทศเกาหลีใต้ และวิทยากรจาก Genomics England ร่วมบรรยาย มีผู้สนใจเข้าร่วมประชุมแบบ On-site และ On-line กว่า 400 คน ทั้งภาครัฐและเอกชน ในงานจะมีการนำเสนอผลงานวิจัยชั้นแนวหน้าทางด้านพันธุศาสตร์การแพทย์ ประสบการณ์การดำเนินงานของโครงการจีโนมิกส์ประเทศไทยที่ผ่านมา และการเสวนาในหัวข้อ เช่น ด้านการพัฒนากำลังคน ด้านจริยธรรม กฎหมาย กฎระเบียบและผลกระทบทางสังคม ด้านการวิเคราะห์ข้อมูลพันธุกรรมระดับประชากร เป็นต้น

"เวทีประชุมครั้งนี้ เป็นอีกกิจกรรมสำคัญที่จะช่วยกำหนดทิศทางการดำเนินการด้านมนุษยพันธุศาสตร์ ให้เกิดความร่วมมือจากทุกภาคส่วน มุ่งสู่เป้าหมายเดียวกันคือให้ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านการแพทย์จีโนมิกส์ เกิดความร่วมมือและความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญที่จะทำให้สมาคมมนุษยพันธุศาสตร์สามารถยืนหยัดเป็นสมาคมที่เชื่อมโยงทุกภาคส่วนในด้านมนุษยพันธุศาสตร์เข้าไว้ด้วยกัน เนื่องจากเรื่องมนุษยพันธุศาสตร์ เป็นเรื่องใหม่สำหรับประชาชน และเป็นศาสตร์ใหม่ที่ควรนำมาเสริมใช้ในอนาคต" ดร.ศิษเฎศ กล่าว

ที่มา: หน่วยงานขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการบูรณาการจีโนมิกส์ประเทศไทย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐ ธ.ค. ASMT ผนึก TFT ร่วมลงนามด้านวิชาการด้านอุตสาหกรรมการบิน
๒๐ ธ.ค. กรมวิชาการเกษตร เดินหน้า ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตอะโวคาโดคุณภาพ สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรกว่า 2 แสนบาท/ไร่
๒๐ ธ.ค. Dow มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ Personal Care ควบคู่ความยั่งยืน ตอบโจทย์ผู้บริโภคตลาดเครื่องสำอางในภูมิภาคเอเชีย
๒๐ ธ.ค. โอซีซี มอบความรู้ พัฒนาอาชีพให้ผู้ต้องขังหญิง
๒๐ ธ.ค. ดร.นุชนารถ ชลคงคา นำทีมสถาบัน ESTC จัดอบรมให้ Karmakamet
๒๐ ธ.ค. กนภ. เห็นชอบร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลไกสำคัญสู่เส้นทางเศรษกิจคาร์บอนต่ำ และมีภูมิคุ้มกันฯ
๒๐ ธ.ค. WePlay x คอลแลบตัวละครสุดปัง! พบกับมินิเกมใหม่ และการ์ตูนสุดน่ารักที่คุณจะต้องหลงรัก
๒๐ ธ.ค. เดลต้า ประเทศไทย และ WEnergy Global ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อขับเคลื่อนอนาคตพลังงานสีเขียว
๒๐ ธ.ค. ความภาคภูมิใจของ ไลอ้อน กับ 3 รางวัลแห่งเกียรติยศ เผยผลงานโดดเด่นกับหลายรางวัลที่ได้รับในปี 2567
๒๐ ธ.ค. NOBLE คว้าเรทติ้งสูงสุด ระดับ AAA SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ยกระดับองค์กรสู่ความยั่งยืนภายในแนวคิด Live Different ตามกรอบ