นายเดวิด หลี่ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า "ประเทศไทยมีความก้าวหน้าอย่างมากในด้านบริการและอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อตอกย้ำเป้าหมายในการมุ่งสู่เป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ของภูมิภาคนี้ภายใต้วิสัยทัศน์ Thailand 4.0 ทำให้เรามุ่งให้ความสำคัญกับการเร่งยกระดับรากฐานโครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีทีและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเป็นอันดับแรก ๆ "
ภารกิจของหัวเว่ยคือการ "เติบโตในประเทศไทย ร่วมสนับสนุนประเทศไทย" ซึ่งหัวเว่ยจะเน้นไปใน 2 ทิศทางหลัก อันดับแรกคือการเน้นเพิ่มขีดความสามารถของพันธมิตร และระบบนิเวศของอุตสาหกรรมสาธารณสุขในประเทศไทย ผ่านโครงการและแผนงานต่าง ๆ พร้อมทั้งแนะนำแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดจากประสบการณ์ของภาคอุตสาหกรรมระดับโลกให้แก่ประเทศไทย อันดับที่สองคือหัวเว่ยจะยังคงมุ่งมั่นจัดหาโซลูชันที่เหมาะสมกับความต้องการและสถานการณ์ด้านสาธารณสุขในประเทศไทย เพื่อสนับสนุนลูกค้าและสนับสนุนเป้าหมายด้านการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลของอุตสาหกรรม
ในปัจจุบันหัวเว่ยมีผลิตภัณฑ์และโซลูชันที่พัฒนาร่วมกับพันธมิตรและได้รับการยอมรับในอุตสาหกรรมจำนวนมาก เช่น พยาธิวิทยาดิจิทัล (Digital Pathology), หอพักผู้ป่วยอัจฉริยะ (Smart Ward) และระบบจัดการโรงพยาบาลเสมือน (Hospital Operation Center หรือ Digital Twin) ซึ่งทำงานบนพื้นฐานของโครงสร้างเทคโนโลยีที่โดดเด่นจากหัวเว่ย เช่น 5G, Wi-Fi 6 และเทคโนโลยี all-flash Storage นอกจากนี้ หัวเว่ยยังมีพันธมิตรในอุตสาหกรรมมากกว่า 3,000 ราย รองรับการให้บริการแก่องค์กรด้านสาธารณสุขมากกว่า 5,000 แห่งในประเทศต่าง ๆ กว่า 90 ประเทศทั่วโลก
ด้าน ผศ. (พิเศษ) นพ. พลวรรธน์ วิทูรกลชิต ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมสาธารณสุขของประเทศไทย และปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารในบริษัท สบาย อินฟราสตรัคเจอร์ จำกัด ได้เปิดเผยว่า "สาเหตุที่จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงด้านไอทีในการแพทย์ยุคใหม่ ก็เพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาด้านการรักษาคนไข้ ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพของการให้บริการ เช่น ด้านการรอคิว การลดค่าใช้จ่ายในระยะยาว การยกระดับประสบการณ์การใช้บริการของผู้ป่วย และการเข้าถึงบริการด้านการแพทย์ได้ดียิ่งขึ้น"
ผศ. (พิเศษ) นพ. พลวรรธน์ ยังระบุว่า ระบบการเชื่อมโยงข้อมูลคนไข้อย่างราบรื่นไร้รอยต่อทั้งในและนอกโรงพยาบาล น่าจะเกิดขึ้นภายในเวลา 5 ปี รวมไปถึงการเชื่อมโยงฐานข้อมูลของสถานพยาบาลต่าง ๆ โดยไม่ละเมิดด้านการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล
ผศ. (พิเศษ) นพ. พลวรรธน์ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า แนวโน้มเรื่องการนำเทคโนโลยี Internet of Medical Things (IOMT) ในประเทศไทยเริ่มมีมากขึ้น ตลอดจนเรื่องบิ๊กดาต้า การวิเคราะห์ข้อมูล และการบริโภคในตลาดการแพทย์ (Consumerism in the medical market) ที่จะมีทั้งในมุมที่ดีและไม่ดี ทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงยาและเครื่องมือทางการแพทย์ได้ง่ายมากขึ้น และการแพทย์ทางไกลจะกลายเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะต้องพึ่งการมีระบบที่ดีเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องและยังรักษาความเป็นส่วนตัวให้กับคนไข้ได้ด้วย
"หัวเว่ยมั่นใจและพร้อมที่จะสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลของภาคอุตสาหกรรมสาธารณสุขไทย เราจะเพิ่มการลงทุนด้านเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมสาธารณสุขและสร้างความร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับลูกค้าและผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรม เพื่อสร้างรากฐานทางดิจิทัลบนพื้นฐานของเทคโนโลยีขั้นสูงด้วยการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัล ทั้งนี้ เรามุ่งมั่นที่จะสนับสนุนอุตสาหกรรมสาธารณสุขของประเทศไทยให้แข็งแกร่งที่สุด" นายเดวิดกล่าวปิดท้าย
ที่มา: คาร์ลบายร์ แอนด์ แอสโซซิเอทส์