ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตของธนาคารยูไนเต็ด โอเวอร์ซีส์ (ไทย)

พฤหัส ๒๗ กรกฎาคม ๒๐๐๖ ๑๖:๕๓
กรุงเทพฯ--27 ก.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-term Foreign Currency Issuer Default Rating (“IDR”)) ของธนาคารยูไนเต็ด โอเวอร์ซีส์ (ไทย) (“UOBT”; ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นธนาคารเอเชีย) ที่ ‘A-’ (A ลบ) แนวโน้มมีเสถียรภาพ อันดับเครดิตสากลสกุลเงินตราต่างประเทศระยะสั้นที่ ‘F2’ อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินที่ ‘C/D’ และอันดับเครดิตสนับสนุนที่ ‘1’ ในขณะเดียวกัน ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ระยะยาวของ UOBT ที่ ‘AA+(tha)’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ ‘F1+(tha)’ อันดับเครดิตของ UOBT มีพื้นฐานมาจากการที่ United Overseas Bank ของสิงคโปร์ (“UOB” ซึ่งได้รับการจัดอันดับเครดิตสากลสกุลเงินตราต่างประเทศที่ ‘AA-’(AA ลบ) ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นซึ่งมีอำนาจในการบริหารธนาคาร
ในเดือนธันวาคม 2548 ฟิทช์ได้เพิ่มอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-term Foreign Currency Issuer Default Rating (“IDR”)) ของ UOBT เป็น ‘A-’ (A ลบ) และอันดับเครดิตสนับสนุนเป็น ‘1’ หลังจากการควบรวมกิจการของธนาคารกับ ธนาคารยูโอบี รัตนสิน (“UOBR”) เสร็จสิ้น UOB ได้ชี้แจงว่า ในฐานะที่เป็นผู้ถือหุ้นหลักของ UOBT ธนาคารจะให้การสนับสนุนทางด้านการเงิน สภาพคล่อง และการดำเนินงานในระยะยาวแก่ UOBT หากต้องการความช่วยเหลือ แม้ว่าข้อจำกัดในการถือหุ้นของต่างชาติอาจจะทำให้สัดส่วนการถือหุ้นของ UOB ลดลงหลังจากปี 2551 UOB ก็ยังคงมีความยืดหยุ่นที่จะสามารถเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับฐานเงินทุนของ UOBT ก่อนปี 2551 ให้อยู่ในระดับที่เพียงพอต่อการขยายธุรกิจในระยะยาว ซึ่งจะช่วยจำกัดการลดสัดส่วนการถือหุ้นใน UOBT ของ UOB ให้น้อยที่สุด เมื่อพิจารณาถึงชื่อเสียงและทรัพยากรของ UOB รวมทั้งชื่อของ UOBT ที่ใกล้เคียงกับบริษัทแม่ของธนาคาร ฟิทช์เชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูงมากที่ UOBT จะได้รับการสนับสนุนจากบริษัทแม่อย่าง UOB ในกรณีที่มีความจำเป็น อันดับเครดิตสากลและอันดับเครดิตภายในประเทศของ UOBT มีพื้นฐานมาจากการที่ UOB เป็นผู้ถือหุ้นหลักของธนาคาร การเปลี่ยนแปลงใดๆในการถือหุ้นของ UOB รวมทั้งข้อผูกพันและการสนับสนุนของธนาคารที่มีต่อ UOBT ย่อมส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตของ UOBT เนื่องจากอันดับเครดิตสกุลเงินต่างประเทศของ UOBT ในขณะนี้ อยู่ในระดับเดียวกับเพดานอันดับเครดิตของประเทศ การปรับลดอันดับเครดิตใดๆของเพดานอันดับเครดิตหรืออันดับเครดิตของประเทศไทยจะส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตของ UOBT
UOBT รายงานผลกำไรสุทธิที่ 953.4 ล้านบาท ในปี 2548 เพิ่มขึ้นจาก 760.8 ล้านบาท ในปี 2547 โดยมีสาเหตุหลักจากการบันทึกกลับสำรองหนี้สูญ อย่างไรก็ตาม ผลกำไรก่อนหักสำรองหนี้สูญ หลังจากทำการปรับหักค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการควบรวมกิจการแล้ว ลดลงถึง 51.5% เป็น 951 ล้านบาท ในปี 2548 จาก 2 พันล้านบาท ในปี 2547 การลดลงดังกล่าวได้สะท้อนถึงผลขาดทุนจากการด้อยค่าของเงินลงทุนที่สูงขึ้น และผลกระทบต่อการดำเนินงานของธนาคารจากการเปลี่ยนเจ้าของ และการควบรวมกิจการระหว่าง BOA และ UOBR ในครึ่งแรกของปี 2549 UOBT รายงานผลกำไรสุทธิที่ 918.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 636.9 ล้านบาท ในครึ่งแรกของปี 2548 เนื่องมาจากการนับรวมผลกำไรของ UOBT ในครึ่งแรกของปี 2549 และผลตอบแทนจากสินเชื่อที่เพิ่มสูงขึ้น การสนับสนุนทางด้านการเงินและทางด้านการดำเนินงานของ UOB น่าจะช่วยสนับสนุนผลการดำเนินงานของ UOBT ในระยะปานกลาง
หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ลดลงสู่ระดับ 17.4 พันล้านบาท (11% ของสินเชื่อทั้งหมด) ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2549 จาก 19.8 พันล้านบาท (16.6%) ณ สิ้นปี 2547 ระดับการกันสำรองหนี้สูญอยู่ที่ระดับ 11.1 พันล้านบาท ซึ่งเทียบเท่ากับ 63.7% ของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ จัดว่าเป็นระดับที่สมเหตุสมผลเมื่อเปรียบเทียบกับธนาคารไทยอื่น คุณภาพสินทรัพย์ที่ปรับตัวดีขึ้นและฐานเงินกองทุนที่แข็งแกร่งขึ้นส่งผลให้อัตราส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หลังหักสำรองต่อส่วนของผู้ถือหุ้นลดลงเป็น 26.5% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2549 จาก 37% ณ สิ้นปี 2547 ฐานะเงินกองทุนของ UOBT จัดได้ว่าอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง โดยเงินกองทุนขั้นที่ 1 ของธนาคารอยู่ที่ 14.5% ของสินทรัพย์เสี่ยง (RWA) และเงินกองทุนทั้งหมดของธนาคารอยู่ที่ 16.6% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2549
UOBT ก่อตั้งในปี 2482 ABN AMRO Bank NV (“ABN AMRO”) ได้เข้าซื้อหุ้นในสัดส่วน 75% ในธนาคารเอเชีย (“BOA”) ในปี 2541 หลังจากนั้น ในปี 2547 ABN AMRO ได้ขายหุ้นใน BOA ให้แก่ UOB ซึ่งต่อมา UOBT ได้เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นของธนาคารใน BOA เป็น 97.5% หลังจากการควบรวมกิจการระหว่าง UOB และ BOA สัดส่วนการถือหุ้นของ UOB ใน BOA ได้เพิ่มขึ้นเป็น 98.5% UOBT เป็นธนาคารพาณิชย์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 9 ของประเทศไทย โดยมีส่วนแบ่งการตลาดทางด้านสินเชื่อ 3.1% และทางด้านเงินฝาก 2.1% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2549
ติดต่อ
ชัยพัฒน์ ไพฑูรย์, Vincent Milton, กรุงเทพฯ +662 655 4762/4759
David Marshall, ฮ่องกง +852 2263 9963
หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ใช้วัดความน่าเชื่อถือของบริษัทในประเทศที่อันดับเครดิตของประเทศนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตระดับเพื่อการลงทุน หรือมีอันดับเครดิตอยู่ในระดับต่ำแม้จะอยู่ในระดับเพื่อการลงทุน อันดับเครดิตของบริษัทที่ดีที่สุดของประเทศจะอยู่ที่ระดับ “AAA” และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับบริษัทที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นถูกออกแบบมาเพื่อนักลงทุนภายในประเทศในแต่ละประเทศนั้นๆ และมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับแต่ละประเทศ เช่น “AAA(tha)” ในกรณีของประเทศไทย อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นไม่สามารถนำไปใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้
คำจำกัดความของอันดับเครดิตและการใช้อันดับเครดิตดังกล่าวของ ฟิทช์ เรทติ้งส์ สามารถหาได้จาก www.fitchratings.com อันดับเครดิตที่ประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดอันดับเครดิต ได้แสดงไว้ในเว็บไซต์ดังกล่าวตลอดเวลา หลักจรรยาบรรณ การรักษาข้อมูลภายใน ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้น แนวทางการเปิดเผยข้อมูลระหว่างบริษัทในเครือ กฏข้อบังคับรวมทั้งนโยบายและกระบวนการที่เกี่ยวข้องอื่นๆของฟิทช์ ได้แสดงไว้ในส่วน ‘หลักจรรยาบรรณ’ ในเว็บไซต์ดังกล่าวเช่นกัน

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๔๗ เอ. เจ. พลาสท์ คว้า 2 รางวัลใหญ่ จาก SET Awards 2024 และได้รับการประเมิน CGR ดีเลิศ ระดับ 5 ดาว
๑๖:๑๓ เปิดมาตรการ พักหนี้ ลดดอกเบี้ย ช่วยเหลือ SMEs ถูกน้ำท่วมในงาน มันนี่ เอ็กซ์โป 2024 เชียงใหม่
๑๖:๓๙ หน้าหนาวมาเยือน! กรมอนามัยเตือนดูแลสุขภาพให้พร้อม เด็กเล็ก-ผู้สูงอายุเสี่ยงเจ็บป่วยง่าย
๑๖:๕๗ เปิดรันเวย์อวดผลงานไอเดียสร้างสรรค์ของ 5 ผู้ชนะรางวัลทุนการศึกษา จากโครงการ Jaspal Group Scholarship Program
๑๖:๐๘ กิฟฟารีน แนะนำไอเทมเด็ด กิฟฟารีน เอช เอ็ม บี พลัส วิตามินดี 3 สำหรับช่วยดูแลมวลกล้ามเนื้อให้แข็งแรง
๑๕:๐๑ ไขข้อสงสัย สินเชื่อรถแลกเงินคืออะไร
๑๕:๓๘ ซื้อมอเตอร์ไซค์ ออกรถใหม่ มีขั้นตอนอย่างไร ต้องเตรียมอะไรบ้าง
๑๕:๐๕ ยางขอบ 17 ยี่ห้อไหนดีที่ขับขี่สนุก และยังคงนุ่มสบาย
๑๔:๕๖ heygoody คว้าแชมป์จากเวที Thailand Influencer Awards 2024 ตอกย้ำความเข้าใจลูกค้า Introvert
๑๔:๐๓ เมืองไทยประกันชีวิต คว้า 4 รางวัลใหญ่ระดับสากล ด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล และเป็นองค์กรสถานประกอบการดีเด่นด้านแรงงานสัมพันธ์และสวัสดิการ