บมจ. สบาย คอนเน็กซ์ เทค ( SBNEXT) ตั้งเป้าผสานพันธมิตรรายใหม่ ควักเงินลงทุน 266 ล้านบาท เตรียมเข้าซื้อหุ้น "SVT" อีก 70 ล้านหุ้น หรือสัดส่วน 10% ของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียง ในราคาหุ้นละไม่เกิน 3.80 บาท ฟากซีอีโอ "วรานนท์ คงปฏิมากร" ระบุเป้าหมายการลงทุนในครั้งนี้เนื่องจากมองเห็นโอกาสการต่อยอดธุรกิจ Vending Machine จึงปรับนโยบายจากลงทุนระยะสั้น เป็นลงทุนระยะยาว เพิ่มสัดส่วนถือหุ้น พร้อมเดินหน้าใช้ ecosystem กลุ่ม SABUY ผลักดันอนาคตเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด
นายวรานนท์ คงปฏิมากร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท สบาย คอนเน็กซ์ เทค จำกัด (มหาชน) หรือ SBNEXT เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯได้อนุมัติการเข้าซื้อหุ้นสามัญของบริษัท ซันเวนดิ้ง เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SVT จำนวนไม่เกิน 70 ล้านหุ้น มูลคาหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท หรือ คิดเป็นจำนวน 10% ของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงหักหุ้นซื้อคืน (ถ้ามี) ในราคาหุ้นเฉลี่ยไม่เกิน 3.80 บาท รวมเป็นเงิน 266 ล้านบาท ผ่านกระดานซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์แหงประเทศไทย(SET)
ทั้งนี้ จากการที่บริษัทฯ ได้มีโอกาสในการเข้าลงทุนในหุ้นสามัญของ SVT ซึ่งเป็นผู้จำหน่ายสินค้าผ่าน เครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ ภายใต้เครื่องหมายการค้า "SUNVENDING " ทำให้บริษัทฯ เล็งเห็นว่าธุรกิจของ SVT สามารถต่อยอดธุรกิจของบริษัทฯ ที่เกี่ยวข้องกับการขายสินค้า เครื่องดื่ม ผ่านตู้ขายสินค้าอัตโนมัติ (Vending Machine) ซึ่งอยู่ในกลุ่มธุรกิจ Connext โดยมุ่งเน้นการให้บริการที่สะดวกสบาย และตอบโจทย์ความต้องการของผู้คนใน ยุคปัจจุบัน ตามแผนยุทธศาสตร์ของกลุ่มบริษัทสบายเทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) SABUY ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
ขณะเดียวกัน บริษัทฯมีความเห็นว่าควรเปลี่ยนแนวทางจากการลงทุนระยะสั้นตามนโยบายการลงทุนและกรอบ มาเป็นการลงทุนระยะยาว โดยดำเนินการเข้าซื้อหุ้นสามัญของ SVT ผ่านการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ภายในระยะเวลา 6 เดือน นับจากวันที่คณะกรรมการมีมติอนุมัติ ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้เข้าซื้อจากการลงทุนระยะสั้นตามนโยบายการลงทุนและกรอบวงเงินลงทุนจำนวน 29.85 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นจำนวน 4.26% ของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียง
"การลงทุนในครั้งนี้ เรามีเป้าหมายที่จะขยายธุรกิจและเพิ่มพันธมิตรที่หลากหลายโดยการลงทุนและ/หรือร่วมลงทุนกับธุรกิจอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากสามารถผสานพันธมิตรกันได้ในอนาคตก็จะมองเห็นถึงการต่อยอดธุรกิจเวนดิ้งให้ขยายไปได้มากยิ่งขึ้น ภายใต้ ecosystem ในกลุ่ม SABUY Group ที่จะช่วยให้การทำธุรกิจด้านตู้เวนดิ้งมีการเติบโตได้มากยิ่งขึ้นรวมทั้ง ณ ปัจจุบันนี้จากจำนวนตู้เวนดิ้ง แมชชีนในประเทศ ยังมีจำนวนไม่มาก เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนประชากรของเรา โดยเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่นที่มีจำนวนตู้เวนดิ้ง กว่าจำนวน 5.6 ล้านตู้ หรือมีสัดส่วนประมาณ 1 ตู้ต่อประชากร 23 คน ในปี 2000 จากข้อมูลของ Japan Vending System Manufacturers Association ส่วนปี 2020 ลดลงมาที่ราวกว่า 4 ล้านตู้ ก็จะพบว่า โอกาสการเติบโตยังมีอีกมาก ดังนั้นหากเราสามารถผสานพันธมิตรใช้ประโยชน์จาก power of ecosystem ที่ SABUY Group มี เราเขื่อว่าการขยายตัวของธุรกิจนี้ยังไปได้อีกมาก และน่าสนใจมากเช่นกันครับ". นายวรานนท์ กล่าวในที่สุด
ที่มา: ไออาร์เน็ตเวิร์ค