ที่ผ่านมา ภายใต้การสนับสนุนโดยมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์(Rockefeller Foundation) ได้มีการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศPTFI - The Periodic Table of Food Initiative ในแต่ละทวีปเพื่อสร้างเครือข่าย การวิเคราะห์องค์ประกอบของอาหารทั่วโลก ซึ่งอาจมีทั้งอาหารที่เหมือนและแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค ซึ่งมหาวิทยาลัยมหิดล โดยสถาบันโภชนาการ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นศูนย์ความเป็นเลิศ PTFI ประจำทวีปเอเชีย
รองศาสตราจารย์ ดร.ชลัท ศานติวรางคณา ผู้อำนวยการสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงภารกิจหลักของ PTFI เป็นการสร้างความมั่นคงอาหารโลก ผ่านการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของทรัพยากรอาหารโดยความร่วมมือของเครือข่ายนักวิชาการทั่วโลก
โดยประมาณคาดว่าทั่วโลกมีสิ่งมีชีวิตที่สามารถนำไปทำเป็นอาหารได้ประมาณ 30,000 ชนิด แต่ทว่ามีเพียงประมาณ300 - 400 ชนิดเท่านั้นที่มีการวิเคราะห์องค์ประกอบและบันทึกเป็นฐานข้อมูล เป้าหมายเบื้องต้นของความร่วมมือ คือการวิเคราะห์ตัวอย่างอาหารให้ได้ประมาณ 1,600 ชนิด ซึ่งเป็นจำนวนสิ่งมีชีวิต โดยเฉพาะพืชที่หลายๆ ประเทศมีการนำไปใช้ประโยชน์เพื่อเป็นอาหารเหมือนๆ กัน แต่อาจมีรูปการปรุงการกินที่แตกต่างกันไปตามวัฒนธรรม
"จากการวิเคราะห์ข้ามวัฒนธรรมพบว่า พืชอาหารบางชนิดมีการปลูก หรือบริโภคในหลายประเทศ แต่ที่ผ่านมายังไม่มีการศึกษาร่วมกันระหว่างประเทศ เพื่อทราบถึงความแตกต่าง ทั้งในแง่คุณค่าทางโภชนาการ หรือประโยชน์ต่อสุขภาพ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์สูงสุดแก่ผู้บริโภค" รองศาสตราจารย์ ดร.ชลัท ศานติวรางคณา กล่าว
ยังมีสิ่งมีชีวิต โดยเฉพาะพืชอีกกว่า 30,000 ชนิดในโลกที่รอคอยการค้นพบสู่การสร้างความมั่นคงทางอาหาร ซึ่ง ศูนย์ความเป็นเลิศ PTFI ประจำทวีปเอเชีย ณ สถาบันโภชนาการมหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมเป็นกำลังสำคัญในการสร้างงานวิจัยอาหารภายใต้การส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อร่วมสร้างความมั่นใจแก่ชาวโลก หากต้องประสบวิกฤติขาดแคลนอาหารในอนาคต
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210
Cr: ภาพจาก สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล
ที่มา: มหาวิทยาลัยมหิดล