NIA ร่วมกับม. แม่โจ้เปิดรับสมัครทีมสตาร์ทอัพเข้าร่วมโครงการ AgBioTech Incubation 2023 เปลี่ยนไอเดียเพื่อต่อยอดเป็นธุรกิจ นำเทคโนโลยีชีวภาพแก้ปัญหาภาคเกษตรด้วยความแม่นยำสู่ความยั่งยืน

พุธ ๑๔ มิถุนายน ๒๐๒๓ ๑๑:๑๖
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน เปิดโครงการ AgBioTech Incubation 2023 ขึ้นเป็นปีแรก เพื่อพัฒนาสตาร์ทอัพด้านการเกษตรที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีชีวภาพในระยะเริ่มต้น ด้วยการพัฒนาทักษะและความรู้สำหรับก้าวเป็นสตาร์ทอัพรายใหม่ให้กับนักศึกษา นักวิจัยภาครัฐ ศิษย์เก่าจากมหาวิทยาลัย หรือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ต้องการเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจเป็นสตาร์ทอัพ เพื่อเพิ่มจำนวนสตาร์ทอัพเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกให้มีจำนวนมากขึ้น โดยเป็นการปลุกปั้นตั้งแต่ระยะไอเดียให้เข้าใจโจทย์ปัญหาด้านการเกษตร และมีโอกาสนำแนวทางแก้ไขไปทดสอบความต้องการของภาคเกษตรที่แท้จริง เมื่อติดกระดุมเม็ดแรกถูกต้องจะนำไปสู่การขยายธุรกิจในระยะต่อไปได้อย่างรวดเร็วแบบก้าวกระโดด

ดร. พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า "สตาร์ทอัพด้านการเกษตรจะเป็นกำลังสำคัญที่จะเชื่อมโยงและร่วมสนับสนุนแนวทางการแก้ไขปัญหาด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้กับภาคเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการแก้ไขปัญหาด้านการเกษตรที่มีความซับซ้อนและมีความหลากหลายได้อย่างแม่นยำ ช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและยกระดับภาคเกษตรได้อย่างยั่งยืน

เมื่อปี 2563 NIA และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้จัดทำ "สมุดปกขาวการขับเคลื่อนพัฒนาระบบนิเวศสตาร์ทอัพด้านการเกษตรของประเทศไทย" เป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นการสำรวจและวิเคราะห์ข้อมูลทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในระบบนิเวศ ทั้งนี้ จากผลสำรวจพบว่ามีจำนวนสตาร์ทอัพด้านเกษตรเพียง 53 บริษัท แต่ปัจจุบันเริ่มมีสตาร์ทอัพรายใหม่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าจะมีอยู่เกือบ 70 บริษัท แต่มีสตาร์ทอัพด้านเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกไม่ถึง 15 บริษัท ดังนั้น จึงมีความต้องการเพิ่มจำนวนสตาร์ทอัพเกษตรเทคโนโลยีเชิงลึกให้มากขึ้น ซึ่งเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตรเป็นสาขาหนึ่งที่ประเทศไทยมีโอกาสและปัจจัยสนับสนุนสำคัญ เนื่องจากประเทศไทยได้รับการจัดอันดับให้มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงเหมาะแก่การเจริญเติบโตและการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตนานาพันธุ์ ประกอบกับมีนักวิจัยที่มีความรู้ ความสามารถ และหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่คอยส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีชีวภาพจำนวนมาก

อีกทั้งรายงานผลการศึกษาของ Hello Tomorrow พบว่าเทคโนโลยีชีวภาพเป็นสาขาเทคโนโลยีขั้นสูงที่มีการเติบโตและดึงดูดนักลงทุนได้มากที่สุด เมื่อเทียบกับเทคโนโลยีอื่น และในปี ค.ศ. 2021 ข้อมูลจาก AgFunder พบว่า มูลค่าการระดมทุนของสตาร์ทอัพด้านการเกษตรที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีชีวภาพทั่วโลกมีมูลค่า 85.80 พันล้านบาท ซึ่งเป็นกลุ่มเทคโนโลยีที่มีมูลค่าการลงทุนสูงสุดในด้านเกษตร แต่ถ้าเปรียบเทียบกับการได้รับการลงทุนของไทยพบว่าสตาร์ทอัพด้านการเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีชีวภาพ มีมูลค่าเพียง 90 ล้านบาทหรือ คิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.10 ของการลงทุนระดับโลกเท่านั้น ทำให้ยังมีโอกาสการเติบโตได้อีกมาก

จากโอกาสและความท้าทายดังกล่าว NIA จึงได้ริเริ่ม "โครงการ AgBioTech Incubation 2023" โดยจะพัฒนานักศึกษา นักวิจัย ศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัย หรือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ต้องการเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจเป็นสตาร์ทอัพที่มีทักษะและองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีชีวภาพที่พร้อมก้าวสู่การเป็นสตาร์ทอัพ และสามารถพัฒนาต่อยอดสู่การสร้างนวัตกรรมสำหรับแก้โจทย์ปัญหาภาคการเกษตรของประเทศ โดยอาศัยกระบวนการบ่มเพาะแบบเข้มข้นผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ รวมถึงการจัดสรรพื้นที่การเรียนรู้และทำงานจริงร่วมกับเครือข่ายและนักลงทุน เพื่อสร้างให้เกิดระบบนิเวศนวัตกรรมในการสนับสนุนและผลักดันให้เกิดสตาร์ทอัพด้านการเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีชีวภาพให้เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นความหวังของภาคการเกษตรไทยและเกิดการพัฒนาเทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้า พร้อมขับเคลื่อนนวัตกรรมการเกษตรคลื่นลูกใหม่ของประเทศให้เติบโตไปด้วยกัน

รองศาสตราจารย์ ดร. วีระพล ทองมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวเพิ่มเติมว่า "หนึ่งในนโยบายสำคัญของมหาวิทยาลัยแม่โจ้คือ การส่งเสริมระบบนิเวศด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเร่งพัฒนาผู้ประกอบการทั้งรูปแบบของเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและทิศทางของโลกในปัจจุบันและอนาคต โดยมีผลการทำงานที่สำคัญคือ การสร้างให้เกิด "ย่านนวัตกรรมเกษตรและอาหารแม่โจ้" ที่ได้รับความร่วมมือจาก NIA ในการผลักดันร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และเทศบาลท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการพัฒนาและยกระดับกลุ่มผู้ประกอบการและกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่ชุมชนและกลุ่มผู้ประกอบการในพื้นที่

โครงการ AgBioTech Incubation 2023 มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ร่วมดำเนินงานกับ NIA และเครือข่ายหน่วยงานพันธมิตรทั้งย่านนวัตกรรมเกษตรและอาหารแม่โจ้ สถาบันนวัตกรรมเกษตรเพื่ออุตสหากรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และภาคีเครือข่ายชีววิทยาสังเคราะห์ เพื่อบ่มเพาะให้เกิดสตาร์อทัพด้านการเกษตรรายใหม่ที่มีความสามารถในการแข่งขัน ตลอดจนสร้างการเชื่อมโยงให้เกิดระบบนิเวศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสนับสนุนการสร้าง "ย่านนวัตกรรมเกษตรและอาหารแม่โจ้" ให้กลายเป็น "ซิลิคอนวัลเลย์ด้านนวัตกรรมการเกษตรของไทย" ที่มีความพร้อมทั้งด้านงานวิจัย พื้นที่ทดสอบ รวมถึงความร่วมมือกับหน่วยงานชุมชนในพื้นที่ เพื่อให้เกิดสตาร์ทอัพด้านการเกษตรที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีชีวภาพของไทยที่สามารถขยายสู่ระดับประเทศ ภูมิภาค และระดับโลกต่อไป

ถ้าคุณอยากเรียนรู้เพื่อเป็น AgBioTech Startups...เราพร้อมเป็นเวทีแรกและเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับเส้นทางการเติบโตไปด้วยกัน โครงการ AgBioTech Incubation 2023 เปิดรับสมัครตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 16 มิถุนายน 2566 ทาง http://agbiotech.nia.or.th/ และสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ มณฑา ไก่หิรัญ 081-372 9163 อีเมล [email protected] และ ผศ.ดร. ณภัทร เรืองนภากุล โทร 096-356 2974 อีเมล [email protected]

ที่มา: สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๓๑ ม.ค. รู้จักโรคอ้วนดีแล้ว.จริงหรือ?
๓๑ ม.ค. บมจ.ไทยเซ็นทรัลเคมี ร่วมกับ MBK ส่งมอบปฏิทินในกิจกรรม ปฏิทินเก่ามีค่า เราขอ
๓๑ ม.ค. BSRC ออกหุ้นกู้รอบใหม่ 8,000 ล้านบาท ยอดจองเกินเป้า ตอกย้ำความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน
๓๑ ม.ค. คปภ. ร่วมสัมมนาประกันภัย ครั้งที่ 29 เตรียมรับมือความเสี่ยงอุบัติใหม่ พลิกโฉมธุรกิจประกันภัยสู่ความท้าทายในอนาคต
๓๑ ม.ค. มอบของขวัญให้กับครอบครัวของคุณช่วงวันหยุดพิเศษที่ สเตย์บริดจ์ สวีท แบงค็อก สุขุมวิท
๓๑ ม.ค. OR เปิดตัว CEO คนใหม่ หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ มุ่งผลักดันไทยสู่ Oil Hub แห่งภูมิภาค พร้อมขับเคลื่อนองค์กรด้วยดิจิทัล-นวัตกรรม
๓๑ ม.ค. เดลต้า ประเทศไทย คว้ารางวัล ASEAN's Top Corporate Brand ประจำปี 2567
๓๑ ม.ค. โรงแรมอลอฟท์ กรุงเทพ สุขุมวิท 11 พลิกโฉมใหม่ สุดโมเดิร์น! พร้อมเปิดตัว w xyz bar ตอกย้ำความสนุกในแบบฉบับ
๓๑ ม.ค. PAUL JOE เปิดตัว GLOSSY ROUGE ต้อนรับฤดูใบไม้ผลิ 2025
๓๑ ม.ค. บริษัท โกซอฟท์ (ประเทศไทย) ได้รับเกียรติบัตรศูนย์ รับเรื่องและแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคระดับดีเด่น จาก สคบ. และการรับรองมาตรฐาน ISO