นายธีรฉัตร ศิลปสนธยานนท์ ผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซ่า จำกัด ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายร่วม เปิดเผยว่า หลังจากเปิดขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 25 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 17 บาท ระหว่างวันที่ 12-14 มิถุนายน 2566 หุ้น TBN ได้รับความสนใจจากนักลงทุนซื้อหุ้นจำนวนมาก เนื่องจากมั่นใจในพื้นฐานของบริษัทฯ ที่มีศักยภาพการเติบโตสูง สอดคล้องกับกระแสความสนใจหุ้นของ TBN ภายหลังนำเสนอข้อมูล (Roadshow) ให้กับนักลงทุน
ด้านนางสาววีรยา ศรีวัฒนะ หัวหน้าฝ่ายวาณิชธนกิจ บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) ในฐานะ Lead UW ร่วม กล่าวว่า ทั้งนี้ราคาไอพีโอ ที่ 17 บาท ถือเป็นการกำหนดราคาที่เหมาะสม โดย TBN เปิดเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 25 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท คิดเป็น 25% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้ และคาดว่าจะเข้าซื้อขายวันแรกในตลาดหลักทรัพย์ mai วันที่ 19 มิถุนายน 2566 ในหมวดธุรกิจเทคโนโลยี (Tech)
นายปนายุ ศิริกระจ่างศรี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TBN เปิดเผยว่า การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ในครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญในการขยายธุรกิจ เพื่อเพิ่มโอกาสในการเติบโตในอนาคต และการระดมทุนในครั้งนี้ยังเปิดโอกาสให้นักลงทุนและประชาชนทั่วไปได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการต่อยอดความสำเร็จของ TBN ด้วยวิสัยทัศน์ขององค์กร มุ่งมั่นก้าวสู่ผู้นำในการพัฒนาและให้บริการด้าน Digital Solutions ที่ได้รับการยอมรับสูงสุดในเอเชีย ควบคู่กับการสร้างธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน
สำหรับผลการดำเนินงานในปี 2565 มีรายได้จากการให้บริการของบริษัทฯ อยู่ที่ 360.55 ล้านบาท มีกำไรขั้นต้นจากการให้บริการ 102.39 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรขั้นต้นร้อยละ 28.40 และมีกำไรสุทธิ 35.56 ล้านบาท ล่าสุดผลการดำเนินงานในงวดไตรมาส 1/2566 มีรายได้จากการให้บริการของบริษัทฯ อยู่ที่ 116.83 ล้านบาท มีกำไรขั้นต้นจากการให้บริการ 49.22 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรขั้นต้นร้อยละ 42.13 และมีกำไรสุทธิ 25.98 ล้านบาท
นางสาวเดือนพรรณ ลีลาวิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไพโอเนีย แอดไวเซอรี่ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวว่า โอกาสของ TBN หลังจากบริษัทฯ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ จะทำให้บริษัทฯ มีความพร้อมมากขึ้นในการลงทุนด้านการพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ Low Code หรือ High Code หรือแม้แต่การพัฒนาเทคโนโลยี เครื่องมือและเทคนิคใหม่ๆ เพื่อมาช่วยในการเขียนโปรแกรมและเพิ่มศักยภาพให้ TBN เติบโตได้อย่างมีนัยสำคัญในอนาคต
ที่มา: ไออาร์ พลัส