การรวมตัวกันของสามปัจจัยคือ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อม และการแข่งขันในอุตสาหกรรมที่มีมากขึ้น ทำให้บริษัทขนาดใหญ่ต้องประเมินวิสัยทัศน์ เป้าหมาย และกลยุทธ์ในการทำธุรกิจใหม่ โดยในประเด็นนี้ คริสตอฟ โทคาซ ผู้จัดการฝ่ายธุรกิจอุตสาหกรรมยานยนต์ บริษัทเอบีม คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ได้แสดงความเห็นและข้อมูลเชิงลึกที่น่าสนใจไว้ในงานนวัตกรรมยานยนต์แห่งภูมิภาคเอเชียหรือ "Future Mobility Asia 2023" (FMA 2023) ที่จัดขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดย เอบีม คอนซัลติ้ง ได้เข้าร่วมในฐานะพันธมิตรด้านความรู้ ในหัวข้อ "How Start-Ups are Disrupting the Future of Mobility"
"บริษัทขนาดใหญ่ที่กำลังปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์น่าจะมองเห็นถึงความจำเป็นในการสร้างพันธมิตรใหม่ ๆ โดยเฉพาะกับธุรกิจสตาร์ทอัพ เพื่อร่วมกันพัฒนาศักยภาพ ผลิตภัณฑ์ และบริการใหม่ ๆ ออกสู่ตลาด" คริสตอฟกล่าวในการสัมมนาเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคมที่ผ่านมาว่า "เราเชื่อว่าบริษัทขนาดใหญ่ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอยากมีบทบาทที่สำคัญทางด้านธุรกิจในอุตสาหกรรมยานยนต์ต้องเข้าร่วมระบบนิเวศสตาร์ทอัพยานยนต์อย่างจริงจังผ่านช่องทางและวิธีการที่หลากหลาย ซึ่งรวมไปถึงการเป็นหุ้นส่วนกับสตาร์ทอัพในระดับท้องถิ่น การร่วมงานกับสตาร์ทอัพนอกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแม้แต่การสร้างธุรกิจใหม่ขึ้นมาทั้งหมด เพื่อหาผลประโยชน์และสร้างกำไรให้ได้มากที่สุด"
ระหว่างปี พ.ศ.2561 และ พ.ศ.2565 มีการลงทุนมูลค่ามากกว่าสองล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในธุรกิจสตาร์ทอัพทั่วโลก การลงทุนในเอเชียมีสัดส่วน 30 เปอร์เซ็นต์ และในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีสัดส่วนการลงทุน 3.5 เปอร์เซ็นต์ สตาร์ทอัพด้านยานยนต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับเงินลงทุน 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนน้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ของเงินลงทุนจากทั่วโลก หรือเพียงราว 20 เปอร์เซ็นต์ของการลงทุนทั้งหมดในระบบนิเวศสตาร์ทอัพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สำคัญคือ 86 เปอร์เซ็นต์ของเงินลงทุนก้อนนี้ถูกนำไปทุ่มให้กับสองบริษัทคือ Grab และ Gojek
เมื่อพิจารณา 15 บริษัทสตาร์ทอัพที่ได้รับเงินลงทุนมากที่สุดในช่วงห้าปีที่ผ่านมา พบว่าส่วนใหญ่ของบริษัทเหล่านี้คือผู้พัฒนาแอปพลิเคชันที่ใช้ยานยนต์ในการเดินทางสาธารณะ ซึ่งก็คือแอปพลิเคชันเรียกรถโดยสารเช่น Grab รวมไปถึงผู้พัฒนาระบบการแชร์รถยนต์และบริษัทด้านยานยนต์รายย่อยอย่าง Beam และ SOCAR Malaysia แต่สตาร์ทอัพที่ได้รับเงินลงทุนสูงที่สุดคือบริษัทในตลาดการซื้อขายรถยนต์มือสอง อาทิ Carro, Carsome, Moladin และ myTukar.com ซึ่งได้รับอานิสงส์จากตลาดแพลทฟอร์มเรียกรถโดยสารที่กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น
เมื่อจำแนกแหล่งที่มาของเงินลงทุน เกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ของการลงทุนในสตาร์ทอัพยานยนต์ในช่วงห้าปีที่ผ่านมามาจากผู้ลงทุนทางการเงิน โดยเฉพาะบริษัทเงินร่วมลงทุนและบริษัทเอกชนที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ บริษัทขนาดใหญ่หรือผู้ลงทุนทางกลยุทธ์มีส่วนเกี่ยวข้องในการลงทุนมากกว่า 20 เปอร์เซ็นต์เล็กน้อย และส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่มีธุรกิจหลักอยู่นอกอุตสาหกรรมยานยนต์ เช่นบริษัทด้านพลังงานหรือธนาคาร ส่วนบริษัทที่ประกอบธุรกิจด้านยานยนต์โดยตรงเข้าร่วมลงทุนเพียง 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
คริสตอฟกล่าวว่าบริษัทขนาดใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถเข้าร่วมระบบนิเวศสตาร์ทอัพยานยนต์ได้ด้วยสามวิธีการ "วิธีแรกคือเป็นหุ้นส่วนกับสตาร์ทอัพภายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งอาจมีข้อจำกัดด้านโอกาสการลงทุนในภูมิภาค ดังนั้นการใช้วิธีนี้เพียงวิธีเดียวอาจยังไม่เพียงพอสำหรับบริษัทส่วนใหญ่
"วิธีที่สองคือมองหาการเป็นพันธมิตรกับสตาร์ทอัพนอกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะสตาร์ทอัพจากประเทศเล็ก ๆ ที่มีระบบนิเวศสตาร์ทอัพที่พัฒนาแล้วอย่างไต้หวันหรืออิสราเอล ที่มีแนวโน้มว่าจะอยากเป็นพันธมิตรกับบริษัทจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อเข้าถึงตลาดขนาดใหญ่ที่มีผู้บริโภคเกือบ 700 ล้านคน วิธีสุดท้ายคือการสร้างธุรกิจใหม่ขึ้นมาเองทั้งหมดเพื่อสร้างโอกาสในการดำเนินธุรกิจที่ตรงกับทิศทางและวิสัยทัศน์ของบริษัทที่สุด"
คริสตอฟมีประสบการณ์มากกว่าสิบปีในการให้คำปรึกษาในกับบริษัทในอุตสาหกรรมยานยนต์ การผลิต และพลังงาน ความเชี่ยวชาญของคริสตอฟครอบคลุมด้านกลยุทธ์ ดิจิทัลทรานสฟอร์เมชัน และนวัตกรรมองค์กร ไม่นานมานี้คริสตอฟยังร่วมพัฒนากลยุทธ์เพื่อเข้าการสู่ตลาดและสร้างการเติบโต และให้คำปรึกษาด้านทรานสฟอร์เมชันให้กับธุรกิจยานยนต์อีกด้วย
ที่มา: เอบีม คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย)