รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ รองผู้อำนวยการด้านบริหารงานวิจัย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กล่าวว่า บพข. ในฐานะองค์กรให้ทุนวิจัย ภายใต้การกำกับของสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ให้การสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยผลักดันให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ ทำให้งานวิจัยนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงในเชิงพาณิชย์ ซึ่งโครงการการศึกษาและทดสอบรูปแบบ "โรงพยาบาลเสมือน" (Virtual Hospital) โดยการจัดการโซ่อุปทานและโลจิสติกส์ในระบบเครือข่ายปฐมภูมิ "พีคอค" (PCoC) เป็นโครงการที่สามารถบริหารจัดการคลังสำหรับโลจิสติกส์ในโรงพยาบาลและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ได้จริง และยังสามารถต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้อีกด้วย
รศ.ดร.ธนภัทร์ วานิชานนท์ รองคณบดีฝ่ายยุทธศาสตร์และการจัดการทุนมนุษย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า วิศวะมหิดลให้ความสำคัญกับการนำงานวิจัยและนวัตกรรมมาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนา 'ดิจิทัลเฮลท์แคร์' และ 'เฮลท์เทค' ขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ โดยศูนย์ LogHealth ได้รับสนับสนุนทุนวิจัยจาก บพข. ในการพัฒนา "ระบบแพลตฟอร์มพีคอค (PCoC) เพื่อการจัดการสินค้าคงคลัง-โลจิสติกส์ในโรงพยาบาล และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)" ต้นแบบเฟสที่ 1 แล้วเสร็จ ซึ่งเป็นประโยชน์ในการยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย เนื่องด้วยการบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขของไทยในปัจจุบันยังไม่เน้นการดูแลแบบองค์รวม บุคลากรทางการแพทย์ต้องทำงานซ้ำซ้อน ส่งผลให้ประสิทธิภาพลดลงและเกิดปัญหาความแออัดในการรับบริการ ดังนั้นแพลตฟอร์ม 'พีคอค' (PCoC) จะเชื่อมต่อระหว่างสถาบันการแพทย์ในเมืองใหญ่ กับ สถาบันการแพทย์ในเมืองเล็กหรือชนบท ในการบริหารจัดการเวชภัณฑ์คงคลังที่มีประสิทธิภาพ ทำให้การจัดสรรและกระจายทรัพยากรได้อย่างเหมาะสมและรวดเร็ว เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในบริการทางการแพทย์แก่ประชาชน
รศ.ดร.ดวงพรรณ กริชชาญชัย หัวหน้าศูนย์การจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานสุขภาพ (LogHealth) คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงความสำเร็จในการพัฒนา "ระบบแพลตฟอร์มพีคอค หรือ Primary Care on Cloud (PCoC) เพื่อการจัดการสินค้าคงคลัง-โลจิสติกส์ในโรงพยาบาล และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)" เราใช้เวลากว่า 3 ปี ในการพัฒนาระบบและซอฟท์แวร์ที่มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการคลังยาระหว่างโรงพยาบาลขนาดใหญ่ (แม่ข่าย) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือ รพ.สต. (ลูกข่าย) เพิ่มประสิทธิภาพการดูแลสุขภาพประชาชนอย่างทั่วถึง โดยดำเนินการผ่านแพลตฟอร์ม "พีคอค" (PCoC) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ทำให้โรงพยาบาลแม่ข่ายสามารถบริหารจัดการคลังยาและเวชภัณฑ์ โดยมองเห็นตัวเลขเวชภัณฑ์ของ รพ.สต. ที่เป็นลูกข่าย หากยาตัวใดหมดสต็อกก็สามารถเติมยาและขนส่งกระจายยาไปยังรพ.สต. ซึ่งเป็นลูกข่ายได้รวดเร็ว โดยมี บริษัท ไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่น จำกัด ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการขนส่งกระจายยา (Supply Processing and Distribution -SPD) ไปยังรพ.สต. โดยในอนาคตแพลตฟอร์มนี้สามารถรองรับการส่งยาและเวชภัณฑ์ไปยังบ้านผู้ป่วยและผู้ป่วยติดตามตรวจสอบสถานะการจัดส่งได้อีกด้วย ทั้งนี้โครงการฯ สนองตอบแนวนโยบายสาธารณสุขของประเทศ โดยสอดคล้องกับ พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 และแผนปฏิบัติการกำหนดขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 ซึ่งกำหนดให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัย โรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลทั่วไปให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอีกด้วย
สำหรับ จุดเด่นของแพลตฟอร์ม "พีคอค" (PCoC) ทางศูนย์ LogHealth วิศวะมหิดล ได้มีการศึกษาและทดสอบระบบโรงพยาบาลเสมือน (Virtual Hospital) ใน รพ.คูเมือง อ.คูเมือง และ รพ.สต.บ้านโนนเจริญ อ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ สร้างเสริมการจัดการคลังยาอย่างมีประสิทธิภาพ ลดขั้นตอน ลดต้นทุนทรัพยากรในกระบวนการเบิก-จ่าย-การเติมระหว่างโรงพยาบาล รวมถึงลดภาระงานจัดการคลังและการขนส่ง ทั้งนี้ระบบยังสามารถตรวจสอบย้อนกลับให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้รับบริการ ในการต่อยอดเฟสที่ 2 นี้ เป็นการผนึกความร่วมมือระหว่าง คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กับ บริษัท อินเทลลิจิสต์ จำกัด (มหาชน) ในการพัฒนาเชิงพาณิชย์ต่อยอดแพลตฟอร์ม "พีคอค" (PCoC) ให้พร้อมใช้กับเครือข่าย รพ.สต.ทั่วประเทศ
คุณชนะ สุพัฒสร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินเทลลิจิสต์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าบริษัทเป็นผู้นำการให้บริการโครงสร้างพื้นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของประเทศไทย พร้อมด้วยบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านบิ๊กดาต้าและเทคโนโลยีสารสนเทศ มีความยินดีในความร่วมมือกับศูนย์ LogHealth คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พัฒนาแพลตฟอร์ม "พีคอค" เฟสที่ 2 โดยจะคำนึงถึงคุณภาพ ประสิทธิภาพ ใช้งานง่าย ตลอดจนการนำข้อมูลไปวิเคราะห์ (Data Analytics) และปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล ต่อยอดจากความสำเร็จของโครงการต้นแบบที่ดำเนินมาแล้วที่ จังหวัดบุรีรัมย์ ทั้งนี้อินเทลลิจิสต์ ยินดีสนับสนุน รพ.สต.ทั่วประเทศ ร่วมใช้บริการระบบแพลตฟอร์มเทคโนโลยี โดยในปีนี้ เรามีนโยบายให้บริการ Digital Medical Platform สำหรับการจัดส่งยา เวชภัณฑ์ แบบอัตโนมัติทั่วประเทศภายใต้แพลตฟอร์มข้อมูลขนาดใหญ่และมีระบบที่ปลอดภัย คำนึงถึงข้อกฎหมายต่าง ๆ เช่น PDPA เป็นต้น มั่นใจว่าพลังความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยยกระดับ รพ.สต. และความก้าวหน้าระบบสาธารณสุขประเทศไทยอย่างยั่งยืน
ที่มา: เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น