วว. ผนึกกำลัง สผ. ผลักดันระบบคลังข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย

อังคาร ๒๐ มิถุนายน ๒๐๒๓ ๑๕:๓๕
ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และ นายพิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจการจัดทำระบบคลังข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย เพื่อสนับสนุน เชื่อมโยง และแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรชีวภาพ พร้อมผลักดันระบบคลังข้อมูลให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพ สอดคล้องกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมถึงนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ รวมทั้งเพื่อส่งเสริมการใช้งานระบบคลังข้อมูล การบำรุงรักษา และการปรับปรุงข้อมูลให้มีความทันสมัย ตลอดจนการคุ้มครองและรักษาความปลอดภัยของข้อมูล โอกาสนี้ ดร.โศรดา วัลภา รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ ดร.ประทีป วงศ์บัณฑิต รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านพัฒนาอย่างยั่งยืน วว. พร้อมด้วยผู้บริหาร บุคลากร ทั้งสองหน่วยงานร่วมเป็นเกียรติ ในวันที่ 20 มิถุนายน 2566 ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 5 อาคาร ADMIN วว. เทคโนธานี คลองห้า จังหวัดปทุมธานี

ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้คือการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลเข้ากับระบบคลังข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศ สอดคล้องกับกรอบแนวคิดการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG โดย วว. มีฐานข้อมูลด้านความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญของประเทศ อาทิ ศูนย์จุลินทรีย์ ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมการเก็บรักษาสายพันธุ์จุลินทรีย์นอกถิ่นกำเนิด ที่มีประโยชน์ต่อภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรมและสิ่งแวดล้อม ภายใต้ระบบมาตรฐานสากล (ISO) ที่ให้บริการด้านจุลินทรีย์ (Service Culture Collection) แห่งเดียวในประเทศไทยและได้รับการจัดตั้งขึ้นโดย UNESCO เมื่อปีพ.ศ. 2519 รวมทั้งสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช ซึ่งได้รับการรับรองจาก UNESCO ภายใต้โครงการ MAB (Man and Biosphere Program) ให้เป็นแหล่งสงวนชีวมณฑลแห่งหนึ่งของโลกซึ่งเป็นแห่งแรกของประเทศไทย และเป็น 1 ใน 7 แห่งของเอเชีย ที่เป็นพื้นที่อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในถิ่นกำเนิด (In-situ) และเป็นพื้นที่สำคัญของประเทศ ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับหน่วยงานและผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน อีกทั้งยังส่งผลดีต่อการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมร่วมกันอย่างยั่งยืนต่อไป

เลขาธิการ สผ. กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของระบบคลังข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย (TH-BIF) มาจากการดำเนินงานเพื่อตอบสนองทิศทางนโยบายของประเทศไทยในเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพและการจัดการข้อมูล โดยเฉพาะการดำเนินงานภายใต้แผนการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2561 - 2565 ในประเด็นปฏิรูปเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อมุ่งมั่นพัฒนาระบบด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ขยายการดำเนินงานเชื่อมโยงฐานข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพกับหน่วยงานเครือข่ายเพิ่มขึ้น เพื่อให้ TH-BIF มีข้อมูลที่พร้อมใช้ มีความถูกต้อง เป็นปัจจุบัน สามารถใช้เป็นเครื่องมือสนับสนุนการวางแผน และประกอบการตัดสินใจในการอนุรักษ์ฟื้นฟูและใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงการเข้าถึงข้อมูลการใช้ทรัพยากรชีวภาพในอนาคต เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศและประชาชนร่วมกันต่อไป

ที่มา: สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๓๑ ม.ค. รู้จักโรคอ้วนดีแล้ว.จริงหรือ?
๓๑ ม.ค. บมจ.ไทยเซ็นทรัลเคมี ร่วมกับ MBK ส่งมอบปฏิทินในกิจกรรม ปฏิทินเก่ามีค่า เราขอ
๓๑ ม.ค. BSRC ออกหุ้นกู้รอบใหม่ 8,000 ล้านบาท ยอดจองเกินเป้า ตอกย้ำความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน
๓๑ ม.ค. คปภ. ร่วมสัมมนาประกันภัย ครั้งที่ 29 เตรียมรับมือความเสี่ยงอุบัติใหม่ พลิกโฉมธุรกิจประกันภัยสู่ความท้าทายในอนาคต
๓๑ ม.ค. มอบของขวัญให้กับครอบครัวของคุณช่วงวันหยุดพิเศษที่ สเตย์บริดจ์ สวีท แบงค็อก สุขุมวิท
๓๑ ม.ค. OR เปิดตัว CEO คนใหม่ หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ มุ่งผลักดันไทยสู่ Oil Hub แห่งภูมิภาค พร้อมขับเคลื่อนองค์กรด้วยดิจิทัล-นวัตกรรม
๓๑ ม.ค. เดลต้า ประเทศไทย คว้ารางวัล ASEAN's Top Corporate Brand ประจำปี 2567
๓๑ ม.ค. โรงแรมอลอฟท์ กรุงเทพ สุขุมวิท 11 พลิกโฉมใหม่ สุดโมเดิร์น! พร้อมเปิดตัว w xyz bar ตอกย้ำความสนุกในแบบฉบับ
๓๑ ม.ค. PAUL JOE เปิดตัว GLOSSY ROUGE ต้อนรับฤดูใบไม้ผลิ 2025
๓๑ ม.ค. บริษัท โกซอฟท์ (ประเทศไทย) ได้รับเกียรติบัตรศูนย์ รับเรื่องและแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคระดับดีเด่น จาก สคบ. และการรับรองมาตรฐาน ISO