สถาบันสิ่งทอแนะผู้ประกอบการสิ่งทอหันปรับคุณภาพวัสดุ เน้นอิงกระแสรักษ์โลก จะอยู่ได้คงทนกว่าแข่งกันด้วยราคา

ศุกร์ ๒๓ มิถุนายน ๒๐๒๓ ๑๖:๕๔
สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ แนะผู้ประกอบการสิ่งทอ ปรับรูปแบบการผลิตและวัสดุที่อิงเทรนด์รักษ์สิ่งแวดล้อม พร้อมสร้างเรื่องราวที่น่าจดจำให้ผลิตภัณฑ์สิ่งทอ เพื่อสร้างมูลค่าให้ตัวผลิตภัณฑ์ และแข่งขันได้ในตลาดโลก เตรียมนำเสนอภาครัฐใช้ Soft Power ทำตลาดสิ่งทอพร้อมผลักดันให้ยื่นมือช่วยเหลือผู้ประกอบการ

ดร.ชาญชัย สิริเกษมเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เปิดเผยถึงแนวทางการปรับตัวของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสิ่งทอไทยที่ควรนำมาใช้เพื่อให้แข่งขันในตลาดโลกได้ว่า ควรปรับรูปแบบการผลิตและวัสดุที่ใช้ในการผลิต โดยอิงเทรนด์รักษ์สิ่งแวดล้อมที่กำลังเป็นเทรนด์โลก เพื่อให้สร้างเรื่องราวของผลิตภัณฑ์ที่จะช่วยสร้างมูลค่าให้กับตัวผลิตภัณฑ์ แทนการแข่งขันด้านราคา เพราะปัจจุบันกระแสรักษ์โลกกำลังเป็นเทรนด์นิยมและผู้บริโภคให้ความใส่ใจไปถึงที่มาของวัตถุดิบและกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

"ที่ต่างประเทศ ผู้ผลิตเครื่องจักร สารเคมี วัสดุสิ่งทอ ได้ transform ไปสู่ความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะความตระหนักในเรื่องรักษ์สิ่งแวดล้อม ได้ก่อให้เกิดโอกาสทางธุรกิจที่เกิดขึ้นมาจากเทรนด์รักษ์โลกและถือเป็น movement ครั้งใหญ่ของโลก คือการมีฉลากที่ตัวสินค้า บ่งบอกชัดเจนถึงที่มาของวัสดุต่าง ๆ ที่มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นเหมือนการเล่าเรื่องที่มาของเสื้อผ้า ว่าส่วนผสมหรือกระบวนการที่ผลิตออกมามีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างไร จากความตื่นตัวในเรื่องดังกล่าว ทำให้ตอนนี้เกมของวงการสิ่งทอเปลี่ยนไป ไม่ได้แข่งกันที่ราคาอีกต่อไปแล้ว โดยเฉพาะแบรนด์ใหญ่ ๆ ที่อยากให้แบรนด์เขามีความชัดเจนเรื่องสิ่งแวดล้อม จะหันมาเน้นในรายละเอียดของวัสดุที่นำมาผลิต ตลอดจนกระบวนการผลิต ในขณะที่ผู้ประกอบการไทยยังอยู่ในกับดักของเรื่องราคาหรือเรื่อง OEM หากปรับเปลี่ยนมุมมองและแนวคิดใหม่ จะทำให้มีโอกาสในตลาดโลกได้มากขึ้น" ดร.ชาญชัยกล่าว

สำหรับภาพรวมของอุตสาหกรรมสิ่งทอไทยในปีนี้ พบว่า หลังจากอุตสาหกรรมสิ่งทอตกลงไปประมาณ 20% ช่วงสถานการณ์โควิด และสถานการณ์การแพร่ระบาดคลี่คลายลง อัตราการเติบโตก็ยังไม่เท่าช่วงก่อนมีการแพร่ระบาด ซึ่งช่วงตั้งแต่ต้นปีมาจนถึงปัจจุบัน ยังมีอัตราการหดตัวอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยที่เดือนละประมาณ 10% เมื่อเทียบกับสถานการณ์ช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประกอบกับปัญหาเศรษฐกิจที่ตกต่ำ และปัญหาเรื่องของโอเวอร์ซัพพลายในช่วงสถานการณ์ก่อนการแพร่ระบาด ส่งผลให้ผู้คนจำนวนมากไม่ให้ความสนใจจับจ่ายเสื้อผ้าใหม่เหมือนกับในอดีต

ส่วนสถานการณ์ตลาดในประเทศนั้นจะมีความแตกต่างจากตลาดส่งออกที่ต้องการสินค้าคุณภาพมากกว่า โดยตลาดในประเทศหากเป็นตลาดบนยังคงมีอัตราการเติบโตได้อยู่ ในขณะที่ตลาดล่างจะเริ่มมีปัญหาสินค้าจากประเทศคู่แข่งทั้งจากจีนหรือเวียดนามเข้ามา และประเทศไทยเราแข่งกันด้วยราคาไม่ได้ เพราะค่าแรงที่สูงกว่าประเทศคู่แข่ง จึงควรหันมาแข่งด้วยคุณภาพของวัสดุและนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีในการผลิตที่สอดคล้องกับเทรนด์ในตลาดโลก

ดร.ชาญชัยกล่าวต่อไปว่า สถาบันฯ จะร่วมมือกับภาคเอกชนในการพัฒนาวัสดุใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้น เช่น การพัฒนาหรือคิดค้นเส้นด้ายใหม่ ๆ ที่ผลิตจากวัสดุรีไซเคิล หรือเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเส้นด้ายเหล่านี้สามารถนำไปใช้งานถักทอได้เหมือนเดิม หรือดีกว่าเดิม เพื่อให้ดีไซเนอร์และผู้ผลิตได้นำวัสดุใหม่ ๆ เหล่านี้ไปใช้ ซึ่งการสนับสนุนในลักษณะนี้ หากภาครัฐไม่เข้ามาช่วย ก็อาจจะทำให้การดำเนินการเป็นไปได้ช้า โดยเฉพาะขั้นตอนการตรวจสอบและรับรองความเป็นออร์แกนิคหรือการใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่จะมีขั้นตอนและมีความซับซ้อนของการดำเนินงาน ซึ่งการปรับเปลี่ยนวัตถุดิบที่นำมาใช้ในการผลิต จะทำให้ผู้ประกอบการสามารถขายสินค้าได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงเรื่องของราคา ซึ่งต่างชาติมีความมั่นใจในคุณภาพสินค้าจากไทย รวมถึงมีทัศนคติที่ดีต่อประเทศไทยในเรื่องของตัวสินค้าอยู่แล้ว การเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจะสนับสนุนภาพลักษณ์เรื่อง BCG ให้กับผู้ประกอบการได้มากขึ้น และยังจะได้รับการสนับสนุนจากตลาดต่างประเทศมากขึ้นด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ ทางสถาบันฯ มีแนวทางนำเสนอโปรเจกต์ให้ภาครัฐได้พิจารณาเพื่อการสนับสนุนผู้ประกอบการ กำหนดคอนเซ็ปต์การทำการตลาด ด้วยการนำ Soft Power มาใช้ร่วมกับอินฟลูเอนเซอร์ ที่จะแสดงให้ทั่วโลกเห็นว่า ผู้ประกอบการมีความใส่ใจในทุกวัสดุที่นำมาใช้งานและทุกขั้นตอนของการผลิต รวมถึงแนวคิดการส่งเสริมชุมชนในการส่งเสริมภูมิปัญญา ที่จะนำมาพัฒนาและต่อยอดให้เข้ากับตลาดของคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มคนเจน Z ที่เป็นคนกลุ่มใหญ่ในปัจจุบัน เป็นกลุ่มที่ให้ความสำคัญกับสินค้าที่รักษ์สิ่งแวดล้อม

"ส่วนตัวแล้ว ไม่อยากให้ผู้ประกอบการไทยเป็น OEM ตลอดไป แต่อยากให้หันมาเน้นการเป็น ODM คือหันมาเน้นเรื่องการออกแบบ ทั้งการออกแบบแฟชั่น และการออกแบบวัสดุที่ให้เข้ากับการนำมาใช้งาน ซึ่งน่าจะมีลู่ทางไปได้ดี เพราะปัจจุบันไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป ทำให้การใช้ชีวิตในแต่ละวันมีความเปลี่ยนแปลงไป เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มจะเป็นมากกว่าเครื่องแต่งกาย โดยสามารถนำนวัตกรรมและเทรนด์เรื่องของสิ่งแวดล้อมเข้ามาปรับในการผลิต เช่น เรื่องเทคโนโลยีแอนตี้ยูวี หรือแอนตี้ไวรัส หรือการใช้วัสดุจากธรรมชาติหรือวัสดุหมุนเวียนเพื่อให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ก็จะทำให้ธุรกิจยังไปต่อได้อยู่และอยู่ได้นานตามเทรนด์ที่กำลังได้รับความสนใจจากทั่วโลก ซึ่งองค์ความรู้เหล่านี้ควรถ่ายทอดไปยังผู้ประกอบการ เพื่อจะได้นำไปพัฒนาและต่อยอดกับธุรกิจต่อไป" ดร.ชาญชัยกล่าวสรุป

ที่มา: อินทิเกรเต็ด คอมมูนิเคชั่น

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐ ธ.ค. ASMT ผนึก TFT ร่วมลงนามด้านวิชาการด้านอุตสาหกรรมการบิน
๒๐ ธ.ค. กรมวิชาการเกษตร เดินหน้า ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตอะโวคาโดคุณภาพ สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรกว่า 2 แสนบาท/ไร่
๒๐ ธ.ค. Dow มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ Personal Care ควบคู่ความยั่งยืน ตอบโจทย์ผู้บริโภคตลาดเครื่องสำอางในภูมิภาคเอเชีย
๒๐ ธ.ค. โอซีซี มอบความรู้ พัฒนาอาชีพให้ผู้ต้องขังหญิง
๒๐ ธ.ค. ดร.นุชนารถ ชลคงคา นำทีมสถาบัน ESTC จัดอบรมให้ Karmakamet
๒๐ ธ.ค. กนภ. เห็นชอบร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลไกสำคัญสู่เส้นทางเศรษกิจคาร์บอนต่ำ และมีภูมิคุ้มกันฯ
๒๐ ธ.ค. WePlay x คอลแลบตัวละครสุดปัง! พบกับมินิเกมใหม่ และการ์ตูนสุดน่ารักที่คุณจะต้องหลงรัก
๒๐ ธ.ค. เดลต้า ประเทศไทย และ WEnergy Global ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อขับเคลื่อนอนาคตพลังงานสีเขียว
๒๐ ธ.ค. ความภาคภูมิใจของ ไลอ้อน กับ 3 รางวัลแห่งเกียรติยศ เผยผลงานโดดเด่นกับหลายรางวัลที่ได้รับในปี 2567
๒๐ ธ.ค. NOBLE คว้าเรทติ้งสูงสุด ระดับ AAA SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ยกระดับองค์กรสู่ความยั่งยืนภายในแนวคิด Live Different ตามกรอบ