ดัชนีสันติภาพโลกเผย การเสียชีวิตจากความขัดแย้งแตะระดับสูงสุดของศตวรรษนี้ ส่งผลให้ความสงบสุขของโลกลดลง

พุธ ๒๘ มิถุนายน ๒๐๒๓ ๑๑:๑๖
วันนี้คือวันเปิดเผยรายงานดัชนีสันติภาพโลก (Global Peace Index) หรือ GPI ฉบับที่ 17 จาก สถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ (Institute for Economics & Peace) หรือ IEP

ผลลัพธ์สำคัญ

  • การเสียชีวิตจากความขัดแย้งทั่วโลกเพิ่มขึ้น 96% สู่ระดับ 238,000 ราย
  • ข้อมูลใหม่แสดงให้เห็นว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากความขัดแย้งในเอธิโธเปียสูงกว่ายูเครน และพุ่งเกินระดับสูงสุดของโลกในระหว่างสงครามซีเรีย
  • 79 ประเทศประสบกับความขัดแย้งที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงเอธิโอเปีย เมียนมา ยูเครน อิสราเอล และแอฟริกาใต้
  • ผลกระทบจากความรุนแรงที่มีต่อเศรษฐกิจทั่วโลกเพิ่มขึ้น 17% หรือ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ สู่ระดับ 17.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2565 คิดเป็น 13% ของจีดีพีทั่วโลก
  • การที่จีนปิดล้อมรอบเกาะไต้หวัน น่าจะส่งผลให้ผลผลิตทางเศรษฐกิจทั่วโลกลดลง 2.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเกือบสองเท่าของความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากวิกฤตการเงินโลกในปี 2551
  • แม้จะมีความขัดแย้งเกิดขึ้นในยูเครน แต่ 92 ประเทศได้ปรับปรุงค่าใช้จ่ายทางการทหาร และ 110 ประเทศได้ลดจำนวนกำลังพลลง
  • ความขัดแข้งกลายเป็นประเด็นระหว่างประเทศมากขึ้น โดยขณะนี้มี 91 ประเทศที่มีส่วนในความขัดแย้งภายนอกรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง เพิ่มขึ้นจาก 58 ประเทศในปี 2551

ผลกระทบจากสงครามยูเครนที่มีต่อสันติภาพ

  • ยูเครนรายงานความเสียหายเป็นวงกว้างมากที่สุด ร่วงลง 14 อันดับ สู่อันดับที่ 157
  • ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากความรุนแรงเพิ่มขึ้น 479% หรือ 4.49 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 64% ของจีดีพียูเครน
  • แม้จะมีความขัดแย้งเกิดขึ้น แต่อัตราการคุมขังของรัสเซีย การประท้วงที่รุนแรง ผลกระทบจากการก่อการร้าย และอัตราการฆาตกรรม ล้วนเป็นไปในทางที่ดีขึ้นในปีที่ผ่านมา โดยมีอัตราการฆาตกรรมต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2551
  • 65% ของผู้ชายชาวยูเครน อายุระหว่าง 20-24 ปี ได้หลบหนีออกจากประเทศ หรือเสียชีวิตจากความขัดแย้ง

ดัชนีสันติภาพโลก (GPI) ฉบับที่ 17 ซึ่งเป็นมาตรวัดความสงบสุขชั้นนำระดับโลก เผยให้เห็นระดับเฉลี่ยของความสงบสุขทั่วโลกที่ลดลงติดต่อกันเป็นปีที่ 9 โดยมี 84 ประเทศที่มีการพัฒนาในทางที่ดีขึ้น และ 79 ประเทศเป็นไปในทางที่แย่ลง สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าประเด็นแง่ลบมีจำนวนมากกว่าประเด็นแง่บวก เนื่องจากความไม่สงบและความไม่มั่นคงทางการเมืองที่เพิ่มขึ้นหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังคงอยู่ในระดับสูง ในขณะที่ความขัดแย้งในภูมิภาคและระดับโลกก็ยกระดับความรุนแรงมากขึ้น

ไอซ์แลนด์ยังคงเป็นประเทศที่สงบสุขที่สุดในโลก โดยครองตำแหน่งมาตั้งแต่ปี 2551 รอลงมาคือเดนมาร์ก ไอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ และออสเตรีย ในขณะที่อัฟกานิสถานเป็นประเทศที่มีความสงบสุขต่ำที่สุดติดต่อกัน 6 ปีซ้อน ตามด้วยเยเมน ซีเรีย ซูดานใต้และสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก แต่เมื่อเน้นไปที่พลวัตความเปลี่ยนแปลงของความขัดแย้งนั้น ทั้งอัฟกานิสถานและซีเรียพบว่ามีการพัฒนาความสงบสุขไปในทางที่ดีขึ้น

สำหรับยูเครน คะแนนโดยรวมลดลง 13% ซึ่งลดลงมากที่สุดในดัชนีสันติภาพโลกประจำปี 2566 และตอนนี้อยู่ที่อันดับที่ 157 ของดัชนี ส่วนลิเบียมีความสงบสูขโดยรวมดีขึ้นมากที่สุด ที่ 7% และเพิ่มขึ้นมา 14 อันดับ สู่อันดับที่ 137

การกระจายตัวของความขัดแย้งทั่วโลกยังคงเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ (MENA) และเอเชียใต้ลดลง แต่ความขัดแย้งในภูมิภาคแอฟริกาทางตอนใต้ของทะเลทรายสะฮารา ยุโรป และเอเชียแปซิฟิก กลับทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ขณะที่รัสเซียและภูมิภาคยูเรเซียมีความสงบสุขลดลงในระดับเลวร้ายที่สุดในโลก

ตัวบ่งชี้ดัชนีสันติภาพโลก 10 จาก 23 รายการนั้นเป็นไปในทางดีขึ้น ในขณะที่ 11 รายการแย่ลง และอีก 2 รายการไม่มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งตัวบ่งชี้ที่ลดลงมากที่สุดคือความขัดแย้งภายนอกและการเสียชีวิตจากความขัดแย้งภายใน ส่วนตัวบ่งชี้อื่น ๆ ที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน ได้แก่ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน และความไม่มั่นคงทางการเมือง ซึ่งพบว่าถดถอยลงไป 59 ประเทศ

ผลกระทบของความรุนแรงที่มีต่อเศรษฐกิจโลก เพิ่มขึ้น 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ สู่ระดับ 17.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคิดเป็น 13% ของผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ทั่วโลก หรือประมาณ 2,200 ดอลลาร์สหรัฐต่อคน เป็นเพราะค่าใช้จ่ายทางทหารที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากสงครามยูเครน ความเหลื่อมล้ำในผลกระทบทางเศรษฐกิจจากความรุนแรงนั้นชัดเจน โดย 10 ประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดมีค่าเฉลี่ย 34% ของผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) เทียบกับเพียง 3% ของประเทศที่ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

คุณสตีฟ คิลเลเลีย ( Steve Killelea) ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหารของ IEP กล่าวว่า "ดัชนีสันติภาพโลกปี 2566 เน้นให้เห็นถึงพลวัตที่ขัดแย้งกันของการใช้กำลังทางทหารและความขัดแย้ง ในอีกทางหนึ่ง ประเทศส่วนใหญ่กำลังลดการพึ่งพากองทัพ ในขณะที่ความขัดแย้งเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกำลังกลายเป็นเรื่องระหว่างประเทศ การเสียชีวิตจากความขัดแย้งนั้นสูงที่สุดนับตั้งแต่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา ซึ่งมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 800 ,000 ราย และจุดประกายให้เกิดกระแสการดำเนินการทั่วโลก

"หลังจากสงครามอัฟกานิสถาน อิรัก และซีเรีย และตอนนี้คือสงครามยูเครน เห็นได้ชัดว่ากองทัพที่มีอำนาจมากที่สุดไม่สามารถเอาชนะประชากรท้องถิ่นที่มีทรัพยากรเพียงพอได้ สงครามส่วนใหญ่ไม่สามารถเอาชนะได้ แถมยังเพิ่มภาระทางเศรษฐกิจด้วย สิ่งนี้ยิ่งเด่นชัดขึ้นไปอีกกับผลกระทบจากการปิดล้อมทางเศรษฐกิจไต้หวัน ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกถดถอย โดยมีผลกระทบมากกว่าวิกฤตการเงินโลกในปี 2551 ถึงสองเท่า"

ความขัดแย้งที่เพิ่มขึ้น

79 ประเทศมีอันดับลดลงในด้านความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้น โดยการเสียชีวิตที่มาจากความขัดแย้งเพิ่มขึ้น 96% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยการเสียชีวิตจากความขัดแย้งอยู่ในระดับสูงสุดเมื่อเทียบกับในศตวรรษนี้ ความขัดแย้งในเอธิโอเปียคร่าชีวิตผู้คนมากที่สุดในปี 2565 ด้วยข้อมูลใหม่ที่พบว่าผู้เสียชีวิตในสนามรบมีมากกว่า 100,000 ราย ในขณะที่ผู้เสียชีวิตจากโรคภัยไข้เจ็บและความอดอยากอยู่ที่ราว 200,000 ราย ความขัดแย้งเหล่านี้ถูกซ่อนจากสื่อเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากข้อจำกัดของสื่อในประเทศและอินเทอร์เน็ตที่ไม่สามารถใช้งานได้ เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นในขณะเดียวกับที่องค์กรช่วยเหลือของสหรัฐและองค์การสหประชาชาติ (UN) ยุติการส่งมอบอาหาร เพราะพบปัญหาคอร์รัปชันในซัพพลายเชนอาหาร

ในภูมิภาคแอฟริกาใต้สะฮารานั้น ประเทศมาลีมีอันดับลดลงมากที่สุดโดยมีจำนวนผู้เสียชีวิตจากความขัดแย้งเพิ่มขึ้น 154% ขณะที่การใช้ความรุนแรงกับพลเรือนเพิ่มขึ้น 570% โดยเอสวาตินีเป็นประเทศที่มีอันดับความสงบสุขลดลงมากที่สุดรองลงมาในภูมิภาคนี้

สงครามยูเครนทำให้จำนวนชาวยูเครนที่ต้องกลายเป็นผู้อพยพหรือพลัดถิ่นในประเทศพุ่งขึ้นจากระดับ 1.7% ก่อนเกิดความขัดแย้งสู่ระดับสูงกว่า 30% และมีทีท่าว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ข้อมูลล่าสุดเผยให้เห็นว่า 65% ของชายชาวยูเครนที่มีอายุตั้งแต่ 20-24 ปี ได้หนีออกนอกประเทศหรือเสียชีวิตลงจากความขัดแย้ง[1] โดยข้อมูลจากรายงานมีการคาดการณ์ว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตจากความขัดแย้งจนถึงปัจจุบันอยู่ที่ราว 83,000 ราย

แม้ประชากรของรัสเซียได้รับผลกระทบอันเลวร้ายจากสงคราม แต่ปัจจัยอื่น ๆ ภายในประเทศมีความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ซึ่งรวมถึงอัตราโทษจำคุก การใช้ความรุนแรงที่ลดลง และผลกระทบจากการก่อการร้าย ซึ่งอัตราการฆาตกรรมในรัสเซียขณะนี้แตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ที่เริ่มมีการวัดค่าดัชนีสันติภาพโลกในปี 2551 หากไม่ใช่เพราะความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในยูเครน รัสเซียคงเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการยกระดับด้านสันติภาพครั้งใหญ่ที่สุดในดัชนีประจำปีนี้

ทั้งนี้ จำนวนผู้อพยพและผู้พลัดถิ่นในประเทศยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปัจจุบันมี 15 ประเทศที่ประชากรมากกว่า 5% ของประเทศเป็นผู้พลัดถิ่น

การปิดล้อมไต้หวัน

แม้ในตอนนี้ จีนจะไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับความขัดแย้งใด ๆ ภายนอก แต่ก็ได้แสดงท่าทีแข็งกร้าวมากขึ้นในน่านน้ำทะเลจีนใต้และได้ดำเนินปฏิบัติการทางอากาศที่เข้มข้นใกล้กับไต้หวัน ดัชนีสันติภาพโลกบ่งชี้ว่า หากจีนปิดล้อมไต้หวันจริงเมื่อไร ผลผลิตทางเศรษฐกิจโลกก็อาจลดลงถึง 2.7 ล้านล้านดอลลาร์ หรือ 3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมทั่วโลกภายในระยะเวลาเพียง 1 ปีแรกที่เหตุการณ์ข้างต้นเกิดขึ้นเท่านั้น

การสูญเสียจากเหตุการณ์ข้างต้นเกือบ 60% จะเกิดขึ้นภายในจีนและไต้หวัน โดยเศรษฐกิจจีนจะหดตัวลงราว 7% โดยประมาณ ส่วนไต้หวันจะหดตัวลงเกือบ 40% โดยคู่ค้ารายใหญ่ที่สุด 5 รายของจีนเป็นประเทศประชาธิปไตยที่มีแนวทางการทหารเป็นไปในทิศทางเดียวกัน อันได้แก่ สหรัฐ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เยอรมนี และออสเตรเลีย

ยุทธาภิวัฒน์และเทคโนโลยี

แม้ความขัดแย้งจะขยายตัวขึ้นเรื่อย ๆ แต่ก็มีประเทศต่าง ๆ มากขึ้นที่กระจายงบประมาณทางการทหารไปใช้กับความสำคัญลำดับอื่น ๆ ของประเทศ อาทิ การรักษาพยาบาล การศึกษา โครงสร้างพื้นฐาน และการฟื้นตัวจากโรคระบาด ทั้งนี้ การพัฒนาด้านการทหารได้แพร่หลายออกไปยังทั่วทุกภูมิภาค อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายทางการทหารได้เพิ่มขึ้น 17% นับตั้งแต่ปี 2551 โดยการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดมาจากจีน (1.80 แสนล้านดอลลาร์) สหรัฐ (7 หมื่นล้านดอลลาร์) และอินเดีย (4 หมื่นล้านดอลลาร์)

นอกจากนี้ การใช้งานโดรนท่ามกลางความขัดแย้งยังเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งรวมถึงในยูเครน เอธิโอเปีย และเมียนมา โดยจำนวนการโจมตีด้วยโดรนเพิ่มขึ้นราว 41% ในปี 2565 โดยที่จำนวนกลุ่มต่าง ๆ ที่ใช้โดรนมีจำนวนเพิ่มขึ้น 24%

ไฮไลท์ของภูมิภาค

  • การพัฒนาที่มากที่สุดเกิดขึ้นในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ (MENA) และอเมริกาเหนือ โดยการพัฒนาของอเมริกาเหนือส่วนใหญ่มาจากแคนาดา ขณะที่สหรัฐกลับลดลงเล็กน้อยจากอัตราการฆาตกรรมที่เพิ่มขึ้นสู่ระดับที่สูงกว่าภูมิภาคยุโรปตะวันตกถึง 6 เท่า
  • นับตั้งแต่ปี 2559 ตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือมีการพัฒนาด้านสันติภาพมากที่สุดในระดับโลก อย่างไรก็ตาม ภูมิภาคดังกล่าวยังคงเป็นภูมิภาคที่มีความสงบสุขน้อยที่สุด โดยศูนย์กลางของการก่อการร้ายได้เปลี่ยนจากภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือไปยังภูมิภาคแอฟริกาใต้สะฮารา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถบซาเฮล
  • อเมริกากลาง คาบสมุทรแคริบเบียน และอเมริกาใต้ มีอันดับลดลงค่อนข้างมาก โดยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการดำเนินมาตรการปราบปราม การใช้ความรุนแรง และความขัดแย้ง
  • ชายฝั่งแอฟริกาตะวันตกมีดัชนีความสงบสุขมากที่สุดนับตั้งแต่ที่เริ่มจัดทำรายงานในปี 2551 โดยประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคมีค่าเฉลี่ยที่ดีขึ้นราว 5% ในช่วง 14 ปีที่ผ่านมา ขณะที่พื้นที่ชายฝั่งระหว่างโมร็อกโกกับกานาไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้ายในปี 2565 ตรงกันข้ามกับประเทศเพื่อนบ้านในแถบซาเฮล
  • ยุโรปยังคงครองตำแหน่งภูมิภาคที่สงบสุขที่สุดในโลก แม้จะมีอันดับลดลงในแง่การใช้จ่ายด้านการทหารและความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านอันเป็นผลจากสงครามในยูเครน ทั้งนี้ ยุโรปยังคงเป็นภูมิภาคของ 7 ประเทศจาก 10 ประเทศที่สงบสุขที่สุดในโลก โดยที่ระดับความรุนแรง การประท้วง และการจลาจลยังคงสูง ขณะที่อีก 3 ประเทศที่เหลืออยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

หมายเหตุถึงบรรณาธิการ

ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและดาวน์โหลดรายงานดัชนีสันติภาพโลกประจำปี 2566 ได้ที่เว็บไซต์ visionofhumanity.org และ economicsandpeace.org ส่วนรายงานฉบับเต็ม บทความ และแผนที่เว็บเชิงปฏิสัมพันธ์ พร้อมให้บริการแล้วที่เว็บไซต์ visionofhumanity.org 

ทวิตเตอร์: @globpeaceindex
เฟซบุ๊ก: facebook.com/globalpeaceindex
อินสตาแกรม: instagram.com/globalpeaceindex

เกี่ยวกับดัชนีสันติภาพโลก

รายงานดัชนีสันติภาพโลก (GPI) จัดทำโดยสถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ เพื่อนำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูลที่ครอบคลุมที่สุดในปัจจุบันเกี่ยวกับความสงบสุข คุณค่าทางเศรษฐกิจ แนวโน้ม และการพัฒนาสังคมที่สงบสุข รายงานนี้ครอบคลุมประชากรโลก 99.7% และใช้ปัจจัยชี้วัดเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ 23 ประการจากแหล่งข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือสูงเพื่อจัดทำดัชนี โดยปัจจัยชี้วัดเหล่านี้ถูกแบ่งเป็นสามกลุ่มหลัก ได้แก่ ความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้น ความปลอดภัยและความมั่นคง และการขยายอิทธิพลทางทหาร

เกี่ยวกับสถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ

สถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ (IEP) คือหน่วยงานมันสมองอิสระระดับโลกที่อุทิศตนให้กับการเปลี่ยนมุมมองที่โลกมีต่อสันติภาพ ในฐานะมาตรการเชิงบวกที่เป็นรูปธรรมและทำได้จริงเพื่อเสริมสร้างความก้าวหน้าและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คน ทางสถาบันมีสำนักงานในซิดนีย์ บรัสเซลส์ นิวยอร์ก เฮก เม็กซิโกซิตี้ และฮาราเร

[1] ที่มา: รายงานแนวโน้มประชากรโลกโดยสหประชาชาติ (UN World Population Prospects)

โลโก้ - https://mma.prnewswire.com/media/792052/IEP_Logo.jpg



ที่มา:  พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐ ธ.ค. ASMT ผนึก TFT ร่วมลงนามด้านวิชาการด้านอุตสาหกรรมการบิน
๒๐ ธ.ค. กรมวิชาการเกษตร เดินหน้า ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตอะโวคาโดคุณภาพ สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรกว่า 2 แสนบาท/ไร่
๒๐ ธ.ค. Dow มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ Personal Care ควบคู่ความยั่งยืน ตอบโจทย์ผู้บริโภคตลาดเครื่องสำอางในภูมิภาคเอเชีย
๒๐ ธ.ค. โอซีซี มอบความรู้ พัฒนาอาชีพให้ผู้ต้องขังหญิง
๒๐ ธ.ค. ดร.นุชนารถ ชลคงคา นำทีมสถาบัน ESTC จัดอบรมให้ Karmakamet
๒๐ ธ.ค. กนภ. เห็นชอบร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลไกสำคัญสู่เส้นทางเศรษกิจคาร์บอนต่ำ และมีภูมิคุ้มกันฯ
๒๐ ธ.ค. WePlay x คอลแลบตัวละครสุดปัง! พบกับมินิเกมใหม่ และการ์ตูนสุดน่ารักที่คุณจะต้องหลงรัก
๒๐ ธ.ค. เดลต้า ประเทศไทย และ WEnergy Global ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อขับเคลื่อนอนาคตพลังงานสีเขียว
๒๐ ธ.ค. ความภาคภูมิใจของ ไลอ้อน กับ 3 รางวัลแห่งเกียรติยศ เผยผลงานโดดเด่นกับหลายรางวัลที่ได้รับในปี 2567
๒๐ ธ.ค. NOBLE คว้าเรทติ้งสูงสุด ระดับ AAA SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ยกระดับองค์กรสู่ความยั่งยืนภายในแนวคิด Live Different ตามกรอบ