Q&A กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เมื่อมีคำถามมาก็มีคำตอบไป

พุธ ๒๘ มิถุนายน ๒๐๒๓ ๑๖:๒๓
สำนักงาน ก.ล.ต. ได้จัดงานสัมมนาออนไลน์ "กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ นายจ้างให้ นายจ้างได้ ลูกจ้างมั่นคง" ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี มีผู้เข้าร่วมงานสัมมนากว่า 380 ราย ภายในงานสัมมนามีผู้สนใจสอบถามข้อสงสัยต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง และได้รับเกียรติการตอบข้อซักถามโดย (1) คุณเกษตร ชัยวันเพ็ญ กรรมการ สมาคมบริษัทจัดการลงทุน และ (2) คุณภานุมาศ รังคกูลนุวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออโตคอร์ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) จึงขอสรุปมาให้ทุกท่านรับทราบดังนี้
  1. บริษัทเปิดมากี่ปีถึงจะตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ไม่มีการกำหนด หากบริษัทเล็งเห็นถึงประโยชน์ที่พนักงานจะได้รับจากการมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สามารถทำได้ทันที
  2. หากปีที่ต้องการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บริษัทมีผลประกอบการขาดทุน สามารถตั้งกองทุนได้หรือไม่ บริษัทสามารถตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ เนื่องจากการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไม่ได้มีข้อกำหนดเกี่ยวกับผลประกอบการของบริษัท เป็นการตกลงร่วมกันระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง และความพร้อมในการจ่ายเงินสมทบของนายจ้าง นอกจากนี้ ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่อาจเป็นผลจากวิกฤติทางการเงินและส่งผลต่อผลประกอบการของบริษัท เช่น กรณีของโควิด-19 ที่ผ่านมา ทางการอาจพิจารณาผ่อนผันการส่งเงินสะสมและเงินสมทบเข้ากองทุนชั่วคราวได้ในช่วงดังกล่าว
  3. บริษัทนายจ้างสามารถปรับลดอัตราเงินสมทบในช่วงที่เกิดวิกฤติทางการเงินได้หรือไม่ สามารถทำได้ โดยต้องทำความเข้าใจกับสมาชิกหันหน้าเข้าคุยกันทั้งสองฝ่าย เช่น บริษัทอาจปรับลดอัตราเงินสมทบในช่วงวิกฤติทางการเงินเหลือ 2% และปรับเพิ่มกลับมาเท่าเดิม 10% ในภายหลังที่พ้นวิกฤติทางการเงินแล้ว
  4. จำเป็นหรือไม่ที่บริษัทต้องจ่ายเงินสมทบให้เท่ากับเงินสะสมของพนักงาน ไม่จำเป็นต้องเท่ากัน แต่ละบริษัทสามารถกำหนดอัตราการจ่ายเงินสะสมและเงินสมทบไว้ในข้อบังคับได้ระหว่าง 2%-15% โดยบริษัทจะคำนึงถึงความสามารถในการจ่ายเงินสมทบของบริษัท และพนักงานสามารถเลือกอัตราการจ่ายเงินสะสมที่จะต่ำกว่าหรือมากกว่าเงินสบทบของนายจ้างก็ได้
  5. พนักงานสามารถเลือกนโยบายการลงทุนตามความเสี่ยงสูงต่ำได้เองหรือไม่ พนักงานสามารถเลือกนโยบายการลงทุนได้ตามความเสี่ยงที่ตนเองยอมรับได้ และสามารถเปลี่ยนนโยบายได้ด้วยเช่นกันตามความเสี่ยงที่เปลี่ยนแปลงไปตามช่วงเวลา ซึ่งมีโอกาสขาดทุนและกำไรเช่นเดียวกับกองทุนรวมทั่วไป อย่างไรก็ดี กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นการลงทุนระยะยาว จึงไม่ควรเปลี่ยนแปลงนโยบายการลงทุนบ่อยเกินไป ควรเปลี่ยนเนื่องจากระดับการยอมรับความเสี่ยงที่เปลี่ยนไปจะเหมาะสมกว่า
  6. ในข้อบังคับกองทุนสามารถกำหนดเรื่องวันลาให้เป็นเงื่อนไขในการสมัครเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้หรือไม่ เช่น ห้ามลาพักร้อน ลาป่วยเกินจำนวนวันที่กำหนด เป็นต้น รวมถึงเงื่อนไขอื่น ๆ การกำหนดเงื่อนไขการสมัครเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บริษัทจัดการจะสอบถามกับบริษัทก่อนการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพว่า ต้องการระบุเงื่อนไขใดบ้าง เช่น (1) ให้เข้าเป็นสมาชิกได้ตั้งแต่วันแรกที่เข้าทำงาน (2) ให้เข้าเป็นสมาชิกได้เมื่อพ้นระยะทดลองงาน (3) ให้เข้าเป็นสมาชิกได้เฉพาะพนักงานที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนด เป็นต้น ดังนั้นการจะกำหนดเงื่อนไขเช่นไร บริษัทจะระบุไว้ในข้อบังคับอย่างชัดเจน
  7. นายจ้างจะเปิดโอกาสให้ลูกจ้างสมัครเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพใหม่อีกครั้งได้หรือไม่ ในกรณีที่เคยนำเงินออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แต่ไม่ลาออกจากงาน ขึ้นอยู่กับข้อบังคับกองทุนว่ากำหนดเงื่อนไขไว้เช่นไร เนื่องจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นภาคสมัครใจ จึงไม่สามารถห้ามลูกจ้างลาออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ อย่างไรก็ดี วัตถุประสงค์ของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นการออมเพื่อการเกษียณ นายจ้างอาจกำหนดในข้อบังคับกองทุนเกี่ยวกับการลาออกจากกองทุนได้ เพื่อให้ลูกจ้างฉุกคิดก่อนลาออกจริง ตัวอย่างเช่น (1) หากลาออกไปแล้วห้ามกลับเข้ามาอีกครั้ง (2) หากลาออกไปแล้วต้องเว้นระยะ 1 ปี ถึงจะสมัครได้อีกครั้ง เป็นต้น
  8. การให้บริการของบริษัทจัดการแต่ละราย มีการให้บริการและค่าบริการแตกต่างกันหรือไม่ ลักษณะเดียวกับสินค้าและบริการทั่วไปที่ราคามักแตกต่างกันในแต่ละแบรนด์ ค่าบริการของแต่ละบริษัทจัดการก็แตกต่างกันเช่นกัน โดยค่าบริการในการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เช่น ค่าจัดตั้งกองทุนเริ่มต้น (นายจ้างชำระ) ค่าจัดทำทะเบียนสมาชิก (นายจ้างชำระ) ค่าบริหารและจัดการกองทุน (กองทุนชำระ) เป็นต้น บริษัทนายจ้างสามารถดูข้อมูลและเปรียบเทียบได้ อย่างไรก็ดี ในการเลือกบริษัทจัดการไม่พิจารณาแค่ค่าบริการเพียงอย่างเดียว ควรมองไปถึงฝีมือการบริหารกองทุน และการบริการเสริมต่าง ๆ ที่จะได้รับจากบริษัทจัดการด้วย
  1. บริษัทนายจ้างเปลี่ยนบริษัทจัดการภายหลังได้หรือไม่ สามารถเปลี่ยนได้ อย่างไรก็ดี ควรดูสาเหตุของความต้องการเปลี่ยนว่ามาจากเหตุใด เช่น (1) เปลี่ยนเพื่อการบริการที่ดีขึ้น (2) เปลี่ยนเพื่อผลการดำเนินงานที่สูงขึ้น รายใหม่ตอบโจทย์ตรงนี้ได้จริงหรือไม่ แต่ควรจะใช้เวลาในการพิจารณาและให้เวลาบริษัทจัดการในการปรับเปลี่ยนหรือปรับปรุงการบริการเปรียบเสมือนการแต่งงาน อาจต้องเลือกผู้ที่ถูกใจและเหมาะสมที่สุดก่อนและอยู่ด้วยกันไประยะหนึ่งก่อนตัดสินใจหย่าหากไปด้วยกันไม่ได้ นอกจากคำถามและคำตอบที่น่าสนใจเหล่านี้แล้ว ยังมีการเล่าประสบการณ์จริงจากนายจ้างที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นสวัสดิการให้แก่ลูกจ้าง หากท่านต้องการชมคลิปสัมมนาย้อนหลัง สามารถรับชมได้ที่ https://youtu.be/wiScKWUPx8U หากนายจ้างท่านใดต้องการศึกษารายละเอียดด้านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพฝั่งนายจ้างเพิ่มเติม สามารถคลิกเข้าไปได้ที่ https://www.thaipvd.com/Employer/Index

ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version