ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) ที่ 'A-' แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

พฤหัส ๒๙ มิถุนายน ๒๐๒๓ ๐๙:๔๔
ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ ระยะยาว (Long-Term Foreign Currency Issuer Default Rating) และอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะยาว (Long-Term Local Currency Issuer Default Rating) ของธนาคารแสตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ SCBT ที่ 'A-' โดยมีแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ พร้อมกันนี้ ฟิทช์ได้ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-Term Rating) ที่ 'AAA(tha)' และให้แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

สำหรับรายละเอียดของอันดับเครดิตทั้งหมดแสดงไว้ในส่วนท้าย

ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต
อันดับเครดิตพิจารณาจากการสนับสนุนจากธนาคารแม่: อันดับเครดิตสากลและอันดับเครดิตภายในประเทศของ SCBT พิจารณาจากอันดับเครดิตสนับสนุนจากผู้ถือหุ้น (Shareholder Support Rating; SSR) โดยฟิทช์เชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูงมาก ที่ธนาคารแม่ในประเทศสิงคโปร์ซึ่งคือ Standard Chartered Bank (Singapore) Limited (SCBS; อันดับเครดิตสากล 'A+'/ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ / อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน 'a') จะให้การสนับสนุนเป็นพิเศษ (extraordinary support) แก่ธนาคารลูกในไทยในกรณีที่จำเป็น แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพของ SCBT นั้นสอดคล้องกับแนวโน้มอันดับเครดิตสากลระยะยาวของ SCBS

อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้น (Short-Term Foreign Currency Issuer Default Rating) และอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะสั้น (Short-Term Local Currency Issuer Default Rating) ที่ 'F1' สะท้อนถึงโอกาสในการให้การสนับสนุนจากธนาคารแม่ที่น่าจะมีความแน่นอนกว่าในระยะสั้นนี้

อันดับเครดิตอ้างอิงจากอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคารแม่: อันดับเครดิตสากลของ SCBT นั้นพิจารณาจากอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน (Viability Rating; VR) ของ SCBS โดยฟิทช์ไม่ใช้อันดับเครดิตสากลระยะยาวของธนาคารแม่เป็นอันดับอ้างอิงเนื่องจากมองว่าอาจมีความไม่แน่นอนว่า SCBT จะได้รับประโยชน์จาก qualifying junior debt ของกลุ่ม ซึ่งเป็นปัจจัยทำให้อันดับเครดิตสากลระยะยาวของธนาคารแม่สูงกว่าอันดับความแกร่งทางการเงิน

อันดับเครดิตในประเทศสะท้อนถึงอันดับเครดิตเชิงเปรียบเทียบ: อันดับเครดิตภายในประเทศของ SCBT นั้นยังสะท้อนถึงโครงสร้างเครดิตที่พิจารณาจากปัจจัยสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นเปรียบเทียบกับธนาคารหรือบริษัทอื่นที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตภายในประเทศโดยฟิทช์ ซึ่งฟิทช์เชื่อว่าอันดับเครดิตที่ 'AAA(tha)' สะท้อนถึงระดับของโอกาสในการผิดนัดชาระหนี้ที่ต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับธนาคารหรือบริษัทอื่นในประเทศไทย โดยพิจารณาจากความสามารถที่แข็งแกร่งของธนาคารแม่และโอกาส ที่ธนาคารแม่จะให้การสนับสนุน SCBT นั้นอยู่ในระดับที่สูง

บทบาทที่สำคัญในเชิงกลยุทธ์: อันดับเครดิตสากลระยะยาวของ SCBT อยู่ในระดับต่ำกว่าอันดับความแกร่งทางการเงินของธนาคารแม่อยู่ 1 อันดับ พิจารณาจากบทบาทที่สำคัญของธนาคารลูกในการสนับสนุนเครือข่ายธุรกิจระหว่างประเทศ ในประเทศไทย (อันดับเครดิตสากลระยะยาว 'BBB+'/ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) และประเทศเพื่อนบ้านให้กับกลุ่ม ซึ่งถือเป็นตลาดที่มีความสำคัญต่อกลยุทธ์ด้านตลาด ASEAN ของกลุ่ม อย่างไรก็ตาม ฟิทช์มองว่า SCBT ยังไม่จัดเป็นธนาคารลูกหลักของกลุ่มเนื่องจากการดำเนินธุรกิจอยู่ในตลาดที่ไม่ใช่เป้าหมายหลักสำหรับกลุ่ม (non-core market) นอกจากนี้ ความสามารถของธนาคารในการได้รับการสนับสนุนจากธนาคารแม่ ยังถูกจำกัดด้วยความเสี่ยงในด้านการเคลื่อนย้ายเงินทุนและการแลกเปลี่ยนเงินตรา (transfer and convertibility risks) ซึ่งบ่งชี้ได้จากเพดานอันดับเครดิตของประเทศไทย (Country Ceiling) ที่ 'A-'

การผสานการทำงานที่แข็งแกร่งและความร่วมมือระหว่างกันในระดับสูง: อันดับเครดิตของ SCBT ยังพิจารณาจากการถือหุ้นเกือบทั้งหมดใน SCBT ของธนาคารแม่ ระดับความเชื่อมโยงที่แข็งแกร่งและการควบคุมการบริหารงานที่ใกล้ชิดกับกลุ่ม ซึ่งรวมไปถึงการแต่งตั้งกรรมการและผู้บริหารระดับสูง การใช้ชื่อและสัญลักษณ์ทางการค้าร่วมกัน และความร่วมมือกับกลุ่ม ที่มีมาอย่างยาวนาน ซึ่งมีนัยยะว่า หาก SCBT ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้หรือมีการผิดนัดชำระหนี้ จะส่งผลให้เกิดความเสี่ยงในด้านชื่อเสียงอย่างมากต่อกลุ่ม

นอกจากนี้กลยุทธ์และกรอบการบริหารความเสี่ยงของธนาคารยังสอดคล้องกับธนาคารแม่ ฟิทช์เชื่อว่าความเชื่อมโยงและ การสนับสนุนในด้านการดำเนินงานตามปกติทั้งในด้านการแนะนำลูกค้า การร่วมมือระหว่างกันด้านการดำเนินงาน การใช้ความเชี่ยวชาญ และระบบโครงสร้างพื้นฐานของกลุ่ม จะยังคงดำเนินต่อไปได้ในระยะกลาง

ไม่มีการให้อันดับเครดิตความแข็งแกร่งทางการเงิน: ฟิทช์ไม่ได้ให้อันดับเครดิตความแข็งแกร่งทางการเงินแก่ SCBT เนื่องจากมองว่าการวิเคราะห์ฐานะการเงินเฉพาะของธนาคารอาจไม่มีนัยสำคัญเพียงพอ ทั้งนี้ เป็นผลมาจากโครงสร้างธุรกิจของธนาคารซึ่งมุ่งเน้นกลุ่มลูกค้าธุรกิจและสถาบันการเงินที่มีความเชื่อมโยงและเป็นความเชี่ยวชาญของกลุ่ม และยังมาจากการที่ธนาคาร มีการพึ่งพากลุ่มในระดับสูงทั้งในด้านกระบวนการทำงานและระบบงานต่าง ๆ

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบหรือส่งผลให้เกิดการปรับลดอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)
อันดับเครดิตสากล อันดับเครดิตสนับสนุนจากผู้ถือหุ้น และอันดับเครดิตภายในประเทศ
การปรับตัวลดลงในความสามารถของ SCBS ที่จะให้การสนับสนุนแก่ SCBT (ซึ่งบ่งชี้ได้จากอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคารแม่) จะส่งผลให้อันดับเครดิตสนับสนุนจากผู้ถือหุ้น และอันดับเครดิตสากลระยะยาวของ SCBT ได้รับการปรับลดอันดับ โดยอยู่บนสมมุติฐานว่าโอกาสในการให้การสนับสนุนจากธนาคารแม่นั้นไม่มีการเปลี่ยนแปลง

การปรับตัวด้อยลงอย่างมีนัยสำคัญของโอกาสที่ SCBS จะให้การสนับสนุนแก่ธนาคารลูก ก็อาจส่งผลให้อันดับเครดิตสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นและอันดับเครดิตสากลของ SCBT ได้รับการปรับลดอันดับ ตัวอย่างเช่น การลดสัดส่วนการถือหุ้นของธนาคารแม่ลงต่ำกว่า 75% ควบคู่ไปกับการลดระดับของการผสานความร่วมมือกันทั้งในด้านอำนาจควบคุมการบริหารงาน ความเชื่อมโยงทางธุรกิจ และการร่วมมือระหว่างกันในด้านการดำเนินงาน อย่างไรก็ตาม ฟิทช์คาดว่า โอกาสในการสนับสนุนธนาคารในกรณีดังที่กล่าวมาไม่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีสาระสำคัญในระยะสั้นถึงระยะกลาง

การปรับลดเพดานอันดับเครดิต (country ceiling) ของประเทศไทยที่ 'A-' อาจส่งผลให้อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวและอันดับเครดิตสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นของ SCBT ถูกปรับลดอันดับ แต่อาจไม่ส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะยาว

อันดับเครดิตสากลระยะสั้นของ SCBT อาจถูกปรับลดอันดับ หากอันดับเครดิตสากลระยะยาวถูกปรับลดอันดับลงไปที่ 'BBB' หรือต่ำกว่า

อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ SCBT อาจได้รับการปรับลดอันดับหากอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศ ระยะยาวของธนาคารถูกปรับลดอันดับลงไปต่ำกว่าอันดับเครดิตสากลระยะยาวของประเทศไทยที่ 'BBB+' ในขณะเดียวกัน ก็จะพิจารณาถึงโครงสร้างเครดิตของธนาคารเปรียบเทียบกับบริษัทอื่นที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตภายในประเทศจากฟิทช์ด้วยเช่นกัน

ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงบวกหรือส่งผลให้เกิดการปรับเพิ่มอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)
อันดับเครดิตสากล อันดับเครดิตสนับสนุนจากผู้ถือหุ้น และอันดับเครดิตภายในประเทศ
อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวและอันดับเครดิตสนับสนุนจากผู้ถือหุ้น จะไม่ได้รับการปรับเพิ่มอันดับ เว้นแต่เพดานอันดับเครดิตของประเทศไทยที่ 'A-' ซึ่งเป็นปัจจัยที่จำกัดอันดับเครดิตที่กล่าวมาจะได้รับการปรับเพิ่มอันดับ และมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นของโอกาสที่ธนาคารแม่จะให้การสนับสนุนให้แก่ SCBT ซึ่งอาจมีผลมาจากบทบาทความสำคัญของ SCBT ในกลุ่มมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ฟิทช์อาจปรับเพิ่มอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะยาวของ SCBT หากอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ SCBS ได้รับการปรับเพิ่มอันดับ หรือ เมื่อฟิทช์เห็นว่าโอกาสที่ธนาคารแม่จะให้การสนับสนุนให้แก่ SCBT นั้นมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ การปรับเพิ่มขึ้นของอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะยาวของ SCBT จะส่งผลในทางเดียวกันกับอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะสั้นให้ได้รับการปรับเพิ่มอันดับด้วยเช่นกัน
อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวและระยะสั้นของ SCBT นั้นอยู่ในระดับที่สูงที่สุดแล้ว จึงไม่สามารถปรับเพิ่มอันดับได้

อันดับเครดิตที่มีความเชื่อมโยงกับอันดับเครดิตอื่น
อันดับเครดิตของ SCBT มีความเชื่อมโยงกับอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ SCBS

การพิจารณาปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG)
หากไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติมในส่วนนี้ แสดงว่าธนาคารมีระดับคะแนนความสัมพันธ์ของ EBG ต่ออันดับเครดิต ไม่เกินระดับ 3 ซึ่งหมายความว่าปัจจัยด้าน ESG จะไม่ส่งผลกระทบหรืออาจมีผลกระทบในระดับที่น้อยมากต่ออันดับเครดิตของธนาคาร ไม่ว่าจะด้วยปัจจัยจากลักษณะของธุรกิจหรือจากการบริหารจัดการของธนาคารก็ตาม สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมหาได้จาก www.fitchratings.com/esg

รายละเอียดของอันดับเครดิตทั้งหมดของ SCBT มีดังนี้

  • อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวคงอันดับที่ 'A-' แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
  • อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นคงอันดับที่ 'F1'
  • อันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะยาวคงอันดับที่ 'A-' แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
  • อันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะสั้นคงอันดับที่ 'F1'
  • อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวคงอันดับที่ 'AAA(tha)' แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
  • อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นคงอันดับที่ 'F1+(tha)'
  • อันดับเครดิตสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นคงอันดับที่ 'a-'

ที่มา: ฟิทช์ เรทติ้งส์

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๓:๔๖ MEDEZE ต้อนรับสถาบันนักลงทุน CSI เยี่ยมชมบริษัท
๑๓:๔๙ บริษัท อินเตอร์ไฟเบอร์ คอนเทนเนอร์ จำกัด รับประกาศนียบัตร เครื่องหมายรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ประจำปี 2567
๑๓:๔๓ AJA จัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2568 ผถห. โหวตผ่านทุกวาระ พร้อมเปิดตัวกลยุทธ์ใหม่ รีแบรนด์ AJ EV BIKE สู่
๑๓:๕๑ SCAP ตั้งเป้าระดมทุนโดยการขายหุ้นกู้1,600 ล้านบาท ชูดอกเบี้ยสูงสุด 5.05% ต่อปี ด้วยอันดับความน่าเชื่อถือที่ BBB เปิดขายวันที่ 31 ม.ค. และ 3-4 ก.พ.
๑๒:๐๐ สกสว. - สวทช. รุกปั้นกลุ่ม ผู้จัดการงานวิจัยและนวัตกรรม หนุนระบบบุคลากร
๑๒:๑๕ HMD ประเทศไทย เปิดแผนธุรกิจปี 68 ย้ำมุ่งพัฒนาสมาร์ทโฟนคุณภาพ ด้วยปรัชญา ใช้งานปลอดภัย ไว้ใจได้ ด้วยราคาเข้าถึงง่าย
๑๑:๑๒ VEHHA Hua Hin คว้า Fitwel มาตรฐานคอนโดระดับโลก ยกระดับคุณภาพชีวิตระยะยาว ต่อยอดจุดแข็งสู่ที่สุดของความครบครัน
๑๑:๐๐ ttb reserve มอบประสบการณ์ใหม่เหนือระดับเพื่อลูกค้าคนสำคัญ
๑๑:๓๙ ศิลปะจักสานหลินซู ภูมิปัญญาโบราณสู่ตลาดโลก
๑๑:๐๐ ฉลองครบ 10 ปี HOUSE OF LITTLEBUNNY กระเป๋าแบรนด์ไทย จากกระต่ายน้อยตัวเล็ก เติบโตสู่ตลาดอินเตอร์ จัดแฟชั่นโชว์ยิ่งใหญ่