รองศาสตราจารย์ ดร.นพวรรณ เปียซื่อ รองคณบดีฝ่ายส่งเสริมสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมกับ Tufts University สหรัฐอเมริกา เมื่อปี พ.ศ. 2533 - 2561 ศึกษาวิจัยเด็กใน185 ประเทศ ครอบคลุมร้อยละ 93 ของจำนวนเด็กทั่วโลกเกี่ยวกับ "การเข้าถึงแหล่งโปรตีนจากสัตว์" ซึ่งส่งผลอย่างยิ่งต่อพัฒนาการและการเจริญเติบโตของเด็ก พบเฉลี่ย 1.9 หน่วยบริโภค หรือประมาณ 12 ช้อนโต๊ะต่อวันในเด็กทั่วโลกโดยเด็กในประเทศที่มีรายได้น้อย เข้าถึงแหล่งโปรตีนจากสัตว์ได้น้อยกว่าเด็กในประเทศที่มีรายได้สูง
ในส่วนของประเทศไทย พบ "เด็กไทยในเมือง" เข้าถึงแหล่งโปรตีนจากสัตว์ได้มากกว่า "เด็กไทยในชนบท" ซึ่งหมายถึงโอกาสในการเกิดโรคในกลุ่ม NCDs เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วยจาก "ภาวะทุพโภชนาการ" ที่ไม่ได้มีความหมายเฉพาะ"การขาดสารอาหาร" แต่รวมถึงการมี "ภาวะโภชนาการเกิน" อีกด้วย ที่น่าเป็นห่วง คือ พบเด็กไทยอ้วนเพิ่มขึ้นตามอัตราซึ่งสอดคล้องกับอุบัติการณ์เด็กอ้วนทั่วโลก
ทีมวิจัยคาดหวังให้เกือบ 3 ทศวรรษที่ผ่านมาจากการทุ่มเทศึกษาติดตามการเข้าถึงแหล่งโปรตีนจากสัตว์ในเด็กทั่วโลกซึ่งต่อมาได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับ Top1% ของโลก "Nature Food" ได้มีการขยายผลสู่การกำหนดนโยบายเพื่อแก้วิกฤติที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ทั่วโลก
โดยได้มองไปถึงการเสริมด้วย "โปรตีนทางเลือก" ซึ่งได้แก่แหล่งโปรตีนจากพืช หรือ "Plant Based Protein" ในพื้นที่โลกที่ขาดแคลน พร้อมเรียกร้องให้ทั่วโลกหันมาบริโภคโปรตีนจากสัตว์โดยคำนึงถึง "สุขภาพสิ่งแวดล้อม" เพื่อรักษา "ความสมดุล" ให้กับโลก และมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติต่อไป
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210
ที่มา: มหาวิทยาลัยมหิดล