การเปิดใช้รถไฟสายไทย - ลาว - จีน ผ่านสถานีรถไฟมาบตาพุดมายังสถานีรถไฟหนองคาย เพื่อส่งออกผลไม้ภาคตะวันออกและภาคใต้ของประเทศไทยไปจีน ตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2565 จนถึงปัจจุบัน พบว่า มีจำนวน 135 ตู้ ทุเรียน 109 ตู้ ลำไย 26 ตู้ มูลค่า 1 พันกว่าล้านบาท โดยเฉพาะทุเรียนใต้จากจังหวัดชุมพร จะขนส่งมาโดยรถบรรทุก แล้วมาขึ้นรถไฟที่สถานีมาบตาพุด ไปยังสถานีรถไฟท่านาแล้ง จากสถานีท่านาแล้งจะมีการเปลี่ยนรถไฟ โดยใช้รถบรรทุกจากฝั่งลาว ขนส่งไปขึ้นรถไฟที่สถานีรถไฟความเร็วสูงเวียงจันทร์ใต้ ลำเลียงเข้าสู่สาธารณรัฐประชาชนจีน ณ ด่านรถไฟโม่ฮาน หรือ ด่านโม่ฮาน (เปลี่ยนรถบรรทุกเข้าด่านที่บ่อเต็น) หากเป็น คุนหมิง ยูนนาน สามารถผ่านด่านทางรถไฟโดยไม่ต้องเปลี่ยนเป็นรถบรรทุก โดยการชนส่งโดยใช้เส้นทางรถไฟนี้จะใช้เวลาประมาณ 4 วัน เป็นอีกเส้นทางที่มีศักยภาพ รวดเร็ว ลดระยะเวลา สามารถขนส่งได้ครั้งละหลายตู้ ซึ่งผู้ประกอบการส่งออกต่างให้ความสนใจ เลือกใช้เป็นเส้นทางส่งออกทุเรียนไปยังปลายทางประเทศจีนมากยิ่งขึ้น เนื่องจากผลผลิตทุเรียนสด สามารถส่งตรงถึงมือผู้บริโภคชาวจีนได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ทุเรียนไทยมีราคาสูงต่อเนื่องอย่างมีเสถียรภาพตลอดฤดูกาล พร้อมกันนี้ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรได้ขอบคุณ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนในการกำกับดูแลให้ทุเรียนไทยได้รับมาตรฐานเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคชาวจีน
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า การเปิดเส้นทางรถไฟสายลาว-จีน นับได้ว่าเป็นการเปิดศักราชใหม่ของการขนส่งผลไม้ไทยด้วยระบบราง ภายใต้พิธีสารการนำเข้าส่งออกผลไม้ระหว่างไทย - จีน ซึ่งเป็นผลมาจากความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนของไทย - ลาว - จีน โดยมีกรมวิชาการเกษตร กรมการค้าภายใน กรมศุลกากร และการรถไฟแห่งประเทศไทย ตลอดจนภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องทำหน้าที่ในการพัฒนารูปแบบให้บริการด้านการส่งออกด้วยการเพิ่มเส้นทางขนส่งทางบกโดยการขนส่งทางราง เพื่อลดความแออัดที่หน้าด่านนำเข้าของจีนในส่วนของรถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ไปติดค้างที่หน้าด่านในช่วงที่มีผลผลิตในปริมาณมากๆ เหมือนเช่นที่ปีก่อนๆที่ผ่านๆมา เกิดความล่าช้า ผลผลิตเน่าเสีย ตู้สินค้าไม่เพียงพอ ผู้ประกอบการส่งออกได้รับผลกระทบ และส่งผลมาจนถึงราคาผลผลิตทุเรียนของเกษตรกรเกิดความผันผวน
ในวันนี้ ได้ลงพื้นที่ติดตามกระบวนการขั้นตอนการส่งออกทุเรียน และ มังคุด ร่วมกับอธิบดีกรมการค้าภายใน และเจ้าหน้าที่กรมศุลกากร ซึ่งมีการขนส่งทั้งหมด 15 ตู้ เป็นทุเรียน 14 ตู้ น้ำหนักรวม 254 ตัน มังคุด 1 ตู้ น้ำหนัก 17 ตัน รวม 271 ตัน โดยจะร่วมกันตัดซีลเปิดตรวจตู้ทุเรียน 1 ตู้ และ ตู้มังคุด 1 ตู้ พร้อมติดซีลตู้ นอกจากนี้ยังได้ติดตามการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ พร้อมทั้งกำชับให้ปฏิบัติงานด้วยความเข้มงวดในมาตรการการตรวจสอบศัตรูพืช ตลอดจนเฝ้าระวังมิให้ผลผลิตทุเรียนด้อยคุณภาพเล็ดลอดออกไปยังตลาดปลายทางโดยเด็ดขาด เพื่อให้ทุเรียนภาคใต้ที่ส่งออกไปยังตลาดปลายทาง มีคุณภาพได้มาตรฐานเช่นเดียวกับทุเรียนภาคตะวันออกที่มีผลผลิตออกมาก่อนหน้านี้
อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่มีกระแสข่าวการจับกุมทุเรียน และกระบวนการสวมสิทธิ์ใบรับรอง GAP กรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินมาตรการกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยเบื้องต้นได้ดำเนินการพักใช้หนังสือสำคัญแสดงการขึ้นทะเบียนโรงงานผลิตสินค้าพืช (DOA) และหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเป็นผู้ส่งออกผลทุเรียนสดออกไปนอกราชอาณาจักรแล้ว นอกจากนี้ ในประเด็น ข้าวโพด กระเทียม และ หอมแดง ทราบว่า อาจมีการลักลอบนำเข้า หรือ สำแดงเท็จ โดยเฉพาะจากแนวชายแดนนั้น กรมวิชาการเกษตร กรมการค้าภายใน และกรมศุลกากร ขอเน้นย้ำ สินค้าพืชและผลไม้ทุกชนิดต้องมีมาตรฐานในการนำเข้า ส่งออก เป็นไปตามพระราชบัญญัติกักพืช
"ในครั้งนี้ได้ลงพื้นที่ติดตาม ขยายผลการสั่งระงับล้ง และระงับบริษัทผู้ส่งออก ผู้กระทำความผิดด้วย โดยสั่งการให้ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 ประสานหน่วยงานในพื้นที่ตรวจสอบรายละเอียดข้อเท็จจริงเพิ่มเติม และให้ผู้อำนวยการสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตรกำชับด่านตรวจพืชท่าเรือและแหลมฉบัง ตรวจสอบการส่งออกและนำเข้า สินค้าเกษตรทุก lot ต้องมีคุณภาพ ห้ามมีการสวมสิทธิ์ หรือสำแดงเท็จอย่างเด็ดขาด หากพบสวมสิทธิ์ สั่งดำเนินคดีทางกฎหมาย ทุกกรณี ตลอดจนเฝ้าระวังมิให้ผลผลิต ทุเรียนด้อยคุณภาพเล็ดลอดไปยังตลาดปลายทางโดยเด็ดขาด" อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว
ที่มา: กรมวิชาการเกษตร