นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ รองประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า "ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่น ผู้ค้าปลีกทั่วประเทศ (Retail Sentiment Index - RSI) ในภาพรวมพบว่า ดัชนี RSI (QoQ) ไตรมาสสอง 2566 เมื่อเทียบกับไตรมาสหนึ่ง 2566 มีความ "น่ากังวล" เนื่องจากปรับลดลงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลางที่ระดับ 50 จุดทุกองค์ประกอบเป็น ครั้งแรกในรอบ 15 เดือน ทั้งดัชนียอดขายสาขาเดิม SSSG (Same Store Sale Growth) QoQ , ยอดใช้จ่ายต่อครั้ง (Spending Per Bill หรือ Per Basket Size) และ ความถี่ในการจับจ่าย (Frequency on Shopping) สะท้อนถึงกำลังซื้อของผู้บริโภคฐานรากยังอ่อนแอ ภาระค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นทั้งค่าสาธารณูปโภค ค่าโดยสาร กดดันให้ผู้บริโภคมุ่งเน้นซื้อสินค้าที่จำเป็น รวมทั้งยังไม่มีมาตรการใหม่จากรัฐในการกระตุ้นการจับจ่าย
ทั้งนี้การลดลงของดัชนีตามภูมิภาคต่างๆ บ่งบอกถึงธุรกิจยังคงไม่ฟื้นตัว แม้ว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในช่วงครึ่งปีแรกราว 12.4 ล้านคนก็ตาม ทั้งนี้หากจำแนกตามประเภทร้านค้า พบว่าความเชื่อมั่นในปัจจุบันปรับลดลงในทุกประเภทร้านค้าโดยร้านค้าส่ง, ไฮเปอร์มาร์เก็ตยังคงไม่ฟื้นตัว ยกเว้นซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อ เนื่องจากผู้บริโภคยังคงเลือกซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นรวมทั้งสินค้าที่มีการจัดโปรโมชั่น เพื่อลดค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
ทั้งนี้ได้เผยผลสำรวจเกี่ยวกับการฟื้นตัวของธุรกิจค้าปลีกของผู้ประกอบการ โดยสำรวจระหว่างวันที่ 19 - 26 มิถุนายน 2566 ในประเด็นต่างๆ ดังนี้
1.การปรับตัวของธุรกิจในกรณีที่มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ
ร้อยละ 63 จ้างพนักงานชั่วคราวเพิ่มขึ้น
ร้อยละ 61 เพิ่มทักษะและหน้าที่ของพนักงาน
ร้อยละ 59 ลดต้นทุนที่ไม่ใช่ค่าแรง
ร้อยละ 48 ขึ้นราคาสินค้า
ร้อยละ 22 ชะลอการลงทุน
ร้อยละ 22 ใช้เครื่องจักรทดแทนแรงงาน
ร้อยละ 15 ปรับสวัสดิการมารวมเป็นค่าจ้าง
ร้อยละ 13 เลิกจ้างพนักงานบางส่วน
2.มาตรการสำหรับผู้ประกอบการในกรณีที่มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ
ร้อยละ78 สนับสนุนมาตรการทางภาษี เช่น ลดภาษีนิติบุคคล หรือนำค่าใช้จ่ายมาลดหย่อนภาษี
ได้มากขึ้น
ร้อยละ 63 ทยอยปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นขั้นบันได
ร้อยละ 59 ลดค่าสาธารณูปโภค เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ
3.คาดการณ์การปรับราคาสินค้าใน 3 เดือนข้างหน้า
ร้อยละ 48 จะปรับราคาสินค้าแต่ไม่เกิน 5%
ร้อยละ 22 จะยังไม่ปรับราคาสินค้า
ร้อยละ 17 จะปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้น 6-10 %
ร้อยละ 9 จะปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้น 11-15 %
อย่างไรก็ตามภาพรวมค้าปลีกครึ่งปีแรกยังไม่สดใสเท่าที่ควร เนื่องจากภาคธุรกิจยังคงต้องเผชิญกับต้นทุนสูงจากทั้งค่าพลังงาน ค่าสาธารณูปโภค และอื่นๆ ขณะที่กำลังซื้อของผู้บริโภคยังอ่อนแอ ทางสมาคมฯ จึงขอนำเสนอ "ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลใหม่ชุดใหม่" ในประเด็นต่างๆ ดังนี้
- สนับสนุนให้มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่โดยเร็วและราบรื่นเพื่อให้ประเทศชาติเดินไปข้างหน้า
- จัดสรรงบประมาณรายจ่ายภาครัฐ ด้วยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เน้นไปแต่ละกลุ่มเป้าหมาย และไม่ซับซ้อน โดยเพิ่มกำลังซื้อให้กลุ่มฐานรากและเพิ่มการใช้จ่ายในกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง รวมทั้ง ลดขั้นตอนให้สามารถเข้าถึงได้สะดวก
- ส่งเสริมภาคท่องเที่ยวภายในประเทศเพื่อดึงดูดชาวต่างชาติและคนไทยท่องเที่ยวเมืองไทย เช่น การขยายเวลา Visa on Arrival ให้ต่างชาติพำนักในไทยได้นานขึ้น, การเพิ่มความถี่เที่ยวบินมาประเทศไทย รวมถึงมุ่งสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยเมื่อมาเที่ยวเมืองไทย เป็นต้น
สมาคมผู้ค้าปลีกไทยขอส่งสัญญาณถึงรัฐบาลใหม่ชุดใหม่ที่มีความตั้งใจจะเข้ามาบริหารประเทศ ได้ออกนโนบายและมาตรการทางเศรษฐกิจที่จะมาพลิกฟื้นความเชื่อมั่นให้ผู้ประกอบการและกระตุ้นกำลังซื้อของผู้บริโภคให้กลับมาคึกคัก โดยสมาคมฯมีความพร้อมและมุ่งมั่นอย่างยิ่งที่จะร่วมมือกับทุกภาคส่วนอย่างมีเอกภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศให้ก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคงเข้มแข็ง" นายฉัตรชัย กล่าวทิ้งท้าย
ที่มา: สมาคมผู้ค้าปลีกไทย